‘คลัง-ธปท.’ผนึกอุดรั่วไหล ยอมรับฟินเทคมีความเสี่ยงพร้อมรับมือ

27 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
แนวโน้มพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงิน Financial Technology หรือ Fin Tech คึกคักมากขึ้น เมื่อทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการนอนแบงก์ร่วมวงลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความคาดหวังที่จะตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิตอล สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบการเงินระยะ 3 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ผลักดันโครงการ e-Paymentเพื่อสนับสนุนไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล เริ่มจากการวางโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน โดยเพิ่มทางเลือกการโอนเงินในระบบผ่าน Prompt Payซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงาน "CaF I : Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem" โดยระบุว่า ส่วนตัวต่อเรื่องดังกล่าวนั้น จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาเรื่องบริการทางการเงินให้ทั่วถึง เนื่องจากเคยมีกรณีในต่างประเทศที่ FinTech สร้างประโยชน์ โดยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กน่าจะใช้จุดแข็งของฟินเทคเพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆ และให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากที่สุด แม้ไทยจะเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาฟินเทคหรืออาจจะเริ่มช้ากว่าประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่เชื่อว่าระยะยาวไทยจะสามารถพัฒนาเรื่องนี้ได้ทัดเทียมกันได้ ขณะเดียวกันธปท.ในฐานะคณะกรรมการกำกับดูแลจำเป็นต้องจับตาใกล้ชิดเพื่อดูแลปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ซึ่งอาจกำหนดขนาดของการระดมทุนไม่ให้ใหญ่จนเกินไปและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้กรณีที่เคยล้มเหลว มีการนำฟินเทคไปตั้งเป็นโครงการที่ไม่มีอยู่จริง เข้าข่ายฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนที่มาในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ดังที่เคยเกิดขึ้นในยุโรป สร้างความเสียหายไปแล้วกว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผู้เสียหายรวมกันหลายแสนราย

สอดคล้องกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า แนวทางกำกับดูแลฟินเทคของธปท.ให้ความสำคัญใน 3ประการคือ การคุ้มครองผู้ใช้บริการ/ผู้บริโภค การส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยระยะเริ่มต้นจะนำแนวคิด Regulatory Sandbox มาประยุกต์ใช้(ปัจจุบันอังกฤษ, สิงคโปร์ ออสเตรเลียได้มีการออกหลักเกณฑ์/ร่างแนวทางของ Regulatory Sandbox แล้ว) ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างศึกษากลไกการจัดตั้ง Sandbox และพิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์บางประการให้ผู้ประกอบการทั้งนอนแบงก์และ Start-up ที่ลงทะเบียนใน Sandbox เพื่อเปิดโอกาสให้ฟินเทค สตาร์ตอัพ เข้ามาหารือสำหรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ในส่วนของการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินนั้น ธปท.จะออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติมได้เมื่อเห็นว่าผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น/มีคนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นจนอาจจะเกิดปัญหาเชิงระบบ อย่างไรก็ตาม ปี 2559 นี้ถือเป็นปีแรกที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มส่งคำขออนุญาตปิดสาขาเข้ามา ส่วนหนึ่งยอมรับว่ามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับระบบการเงินมากขึ้น

“ ธปท.อยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบ แนวทางRegulatory Sandbox ซึ่งต่างประเทศมี 3 ประเทศเท่านั้นที่เคยทำไปก่อนหน้าแล้วคือ อังกฤษ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เบื้องต้นพบว่ากฎระเบียบดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่ากฎระเบียบของไทยจึงต้องพิจารณาว่าเหมาะสมกับไทยหรือไม่”

ที่สำคัญทาง ธปท. อยากให้ผู้ประกอบการฟินเทคของไทยมีการเติบโตยั่งยืนด้วยความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และมั่นคงโดยเติมเต็มช่องว่างให้บริการการเงินมีคุณภาพ ราคาถูกตรงกับความต้องการ market Segment โดยเฉพาะในกลุ่ม Niche Segment รวมถึงผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลถูกต้องเพียงพอในการตัดสินใจ, ไม่เพิ่มภาระหนี้โดยไม่จำเป็น เมื่อมีปัญหาสามารถมีช่องทางร้องเรียน หากไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องได้รับค่าชดเชย/การดูแล

“ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินให้พร้อมรองรับกับฟินเทค โดยเสนอกฎหมายระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่อุดช่องโหว่ของกฎหมายเดิม ซึ่งคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร็วๆ นี้ และมีการผลักดันกฎหมายการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าที่อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(non bank) สามารถเข้ามาใช้ข้อมูลของเครดิตบูโรเพื่อพิจารณาความเสี่ยงของลูกค้าได้ และที่สำคัญ คือ การแก้กฎหมายให้สถาบันการเงินเข้าไปลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคได้ ซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้ทันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะสนับสนุนฟินเทคของไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนเรื่องโครงสร้างระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเอกชนสามารถนำเอาระบบ “พร้อมเพย์” ไปต่อยอดเพิ่มเติมได้ การแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตลอดจนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ให้สถาบันการเงินสามารถเข้ามาจัดตั้งกองทุนร่วมทุน หรือ เวนเจอร์แคปปิตอลในฟินเทคได้และที่สำคัญคือ การให้ฟินเทค สามารถเข้าร่วมและเข้าถึงข้อมูลเครดิตบูโรได้

แนะจัดเวทีหนุนเศรษฐีลงทุนสตาร์ตอัพ

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิตอล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทคืบหน้าเงินลงทุนไปแล้ว คือ โกลเดนเกต เวนเจอร์ส (เงินลงทุน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่งเซ็นMOUกับ Life SREDAไฟแนนซ์เชียลระดับโลก นอกจากนี้น่าจะลงทุนในบริษัทที่ทำเรื่องBlock chainกำลังอยู่ระหว่างเจรจาคงจะมีข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนจากนั้นหากมีการลงทุนคงจะใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีจึงมีโปรดักต์ออกมาเป็นรูปธรรมแต่กรอบเวลาที่สมบูรณ์ต้องใช้เวลา 3-5 ปี

“หลักการลงทุนของบริษัทจะเน้นการลงทุนทั้งแบบกองทุนและการลงทุนโดยตรง,การลงทุนในศูนย์บ่มเพาะเพื่อพัฒนาฟินเทคและแล็บเพื่อวิจัย พัฒนานวัตกรรม ซึ่งแบงก์ให้เงินลงทุนก้อนหนึ่ง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 1,760 ล้านบาทสำหรับการลงทุนต่างประเทศ แบ่งลงทุนในกองทุนสัดส่วน 40% ที่เหลือจะลงทุนโดยตรง 60% และเงินลงทุนในประเทศอีก 350 ล้านบาทจะแยกจาก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตอนนี้เราจะช่วยเป็นสปอนเซอร์งานหลักๆที่สนับสนุนสตาร์ตอัพ ซึ่งพยายามจะมีส่วนร่วมให้เขามาเจอกัน แต่สิ้นปีน่าจะเห็นว่าเราลงทุนอะไรไปบ้าง”

ทั้งนี้ สิ่งที่พบคือ สตาร์ตอัพไทยมีตัวเลือกไม่มากประมาณ ไม่เกิน 10 รายส่วนใหญ่จึงอยู่ต่างประเทศ ที่สำคัญเมืองไทยยังไม่มีใครจุดประกายเรื่องเทคโนโลยีด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไทยแลนด์ 4.0 แต่ฟินเทคเวลานี้มีเจ้าภาพมากแล้ว ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาประเทศต้องมีเจ้าภาพเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงด้านเกษตรที่ควรจะมีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ โดยเฉพาะแนวทางที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนเช่น สตาร์ตอัพไทยแลนด์โรดโชว์ โดยพยายามทำให้เศรษฐีเมืองไทยที่สนใจแต่ไม่มีเวทีในการที่จะทำให้เขารู้ว่าลงทุนสตาร์ตอัพต้องทำอย่างไร

เล็งเปิดธนาคารทดลองสิงหานี้

นายพลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารกองทุน(Corporate Venture Capital) บริษัท ดิจิตอล เวนเจอร์ส กล่าวว่า โครงสร้างการพัฒนาและลงทุนจะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ กองทุนหรือสตาร์ตอัพที่บริษัทลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 700 ล้านบาท ,บริษัทลงทุนโดยตรงในบริษัทสตาร์ตอัพ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 980 ล้านบาท และลงทุนผ่านศูนย์บ่มเพาะ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 70 ล้านบาท ทั้งนี้การลงทุนเบื้องต้นจะรับสมัครสตาร์ตอัพ 8 รายเข้ามาโดยจะมีเงินให้เปล่าก่อน 3 แสนบาทหลังจากนั้นจึงจะมีการเจรจาร่วมลงทุนซึ่งต้องเป็นข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายโดยกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ ที่ 1 ล้านบาท

นายสุวิชชา สุดใจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการพัฒนาโปรดักต์หรือผลิตภัณฑ์กล่าวว่า ปัจจุบันแบงก์ทั่วโลกให้ความสำคัญการสร้างแล็บเพื่อวิจัย เข้าใจลูกค้ามากขึ้น สำหรับเมืองไทยวิสัยทัศน์ด้านโปรดักต์ บริษัทต้องหาโปรดักต์ใหม่ให้ธนาคาร โดยเป้าหมายเพื่อองค์ความรู้เพิ่มความปลอดภัยของลูกค้าและนำข้อมูลประมวลผลเพื่อสรรหาโปรดักต์ ตอบสนองความต้องการทั้งธนาคารและลูกค้าได้รับประโยชน์ โดยเดือนสิงหาคมจะเปิดตัวธนาคารจำลอง(Bank Simulation Platform) เพื่อให้ฟินเทคทดลองผลิตภัณฑ์ก่อนจะนำออกมาใช้อย่างเป็นทางการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559