กองทุนรวมโต4ล้านบัญชี ลงทุนครึ่งปีหลังจับตาเลือกตั้งสหรัฐฯ-ราคาน้ำมัน

25 ก.ค. 2559 | 23:00 น.
นายกสมาคมบลจ.เผย นักลงทุนโยกเงินฝากลงทุนในกองทุนรวม ส่งผล 13 ปีโตขึ้นเป็น 4 ล้านบัญชี ดันอุตสาหกรรมกองทุนรวมมีสัดส่วนเงินฝากต่อการออมภาคครัวเรือน เพิ่มเป็น 24 % จากเดิม 12% กูรูด้านการลงทุน ให้นํ้าหนัก 2 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และราคานํ้ามัน

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน หรือสมาคมบลจ. เปิดเผยว่า การลงทุนในกองทุนรวมปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก อีกทั้งยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ 13 ปีก่อนมีจำนวนบัญชีอยู่ที่ประมาณ 8 แสนกว่าบัญชี แต่เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 มีจำนวนบัญชีประมาณกว่า 4 ล้านบัญชี โดยหากนำจำนวนบัญชีของผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหารด้วยจำนวนบัญชีของผู้ที่ลงทุนด้วยเงินฝากก็ถือว่ามีการขยายตัว จากเดิมเมื่อ 13 ปีก่อนสัดส่วนอยู่ที่ 3.72% แต่ปัจจุบันขยับเพิ่มขึ้นเป็น 8.82% ซึ่งหมายความว่าผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น

ขณะที่สัดส่วนของเงินฝากต่อการออมภาคครัวเรือนทั้งหมดจากเมื่อ 13 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 67% ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเงินฝากลดลง แต่สะท้อนให้เห็นว่ามีการกระจายเงินมาสู่กองทุนรวมมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมมีสัดส่วนจาก 12% ของเงินออมและเงินฝากภาคครัวเรือนทั้งหมดจาก 13 ปีก่อนได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 24% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

“ จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่ากองทุนรวมมีการขยายตัว และมีผู้ลงทุนเริ่มสนใจมากขึ้น แม้ว่าในบางช่วงบางปีจะเกิดอาการตกใจจากการที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ปรับตัวลง อย่างเช่นในปีที่ผ่านมาการลงทุนในต่างประเทศผู้ลงทุนมีความสุข “ นายกสมาคมบลจ.กล่าวและว่า

สำหรับปี 2559 นี้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) อยู่ในภาวะซบเซาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันทั้งกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์ ส่วนกองทุนทองคำปีนี้กลับมาฟื้นตัว หรือพลิกเป็นบวกกว่า 20% ในช่วงครึ่งปีแรก เช่นเดียวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในน้ำมัน ปีที่ผ่านมาติดลบกว่า 20% แต่ปัจจุบันบวกเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังว่า ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยจะเห็นได้จากการที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าใครจะได้รับตำแหน่งจะเป็นตัวแปรต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นหากเกิดสิ่งใดขึ้นกับสหรัฐฯก็จะกระทบไปทั่วโลก

ปัจจัยที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นของเศรษฐกิจโลก เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาตลอด เมื่อไม่มีเงินเฟ้อก็ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น สินทรัพย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ พันธบัตร หรือตลาดหุ้นต่างก็ได้รับผลกระทบ
“ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์อะไร แนวโน้มในระยะยาวจากการเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารกลางจะทำให้ราคาของสินทรัพย์มีการขยับตัวเพิ่มขึ้นในระยะกลางและระยาว” นายสมิทธ์ กล่าว

ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดเกิดใหม่ถือว่ามีความน่าสนใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพอร์ตของนักลงทุนทั่วไป โดยสินทรัพย์จะมีอยู่ 4 แบบตามแต่ละบทบาท ได้แก่

1.สินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งนักลงทุนจะไม่มีความกังวลเพราะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1-2% ตามปกติ

2.สินทรัพย์ที่มีความตื่นเต้น เนื่องจากมีความผันผวน เช่น หุ้น ซึ่งมองว่าผลตอบแทนในระยะยาวดี เพราะเป็นศูนย์รวมของบริษัทชั้นนำ โดยผู้จัดการกองทุนจะเลือกหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี ไม่ใช่ลงทุนทุกตัวในตลาด เพราะฉะนั้นโอกาสของผลตอบแทนในระยะยาวจึงดีมาก โดยเลือกกลุ่มที่ดีที่สุดมาสร้างเป็นกองทุนให้กับนักลงทุน

3.กลุ่มที่ใช้ในการกระจายความเสี่ยง โดยจะเป็นกลุ่มที่ไม่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งจะเป็นกลุ่มของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยจะให้ผลตอบแทนในระดับหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับสภาพของเศรษฐกิจด้วย

4. สินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา เช่น ทอง น้ำมัน โดยความจริงแล้วตามหลักของนักลงทุนทั่วไปมองว่า 3 กลุ่มแรกก็น่าจะเพียงพอ

ส่วนนางศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แนะนำให้เลือกหุ้นที่มีคุณภาพดี เพื่อรองรับต่อความผันผวน โดยหลักแล้วการลงทุนในหุ้นของบลจ.กรุงศรี จะดูว่าปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรือผลประกอบการของบริษัทที่ดูอยู่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงดูราคาของหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นหรือลดต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และการเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หากสภาวะต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559