“เครือข่ายต้านเหล้า”ยื่นหนังสือเปิดผนึกปลัดมท.ให้คุมเข้มธุรกิจน้ำเมาช่วงเข้าพรรษา

22 ก.ค. 2559 | 08:43 น.
“เครือข่ายต้านเหล้า”ยื่นปลัดมท.คุมเข้มธุรกิจน้ำเมาช่วงเข้าพรรษา เหตุหาช่องเลี่ยงกฎหมายกระตุ้นยอดขาย   ด้าน“เครือข่ายเยาวชนฯ”จี้เช็คบิลร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ที่ยังท้าทายคำสั่งคสช.หวั่นใกล้เปิดเทอม งัดสารพัดโปรโมชั่นล่อใจให้ดื่ม

วันนี้( 22 ก.ค.2559) เวลา13.00 น.ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยนายธีรภัทร์  คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และแกนนำชุมชน กทม. เยาวชนกว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายกฤษฎา  บุญราช  ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนให้คุมเข้มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พยายามทำผิดกฎหมายเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และสถานบริการ ร้านเหล้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่22/2558

นายคำรณ กล่าวว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่องการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาเครือข่ายฯเห็นว่าฝ่ายปกครองทั้งระดับอำเภอและจังหวัด  หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้อย่างจริงจัง

รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเทศกาลเข้าพรรษา ประชาชนหันมาลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่เครือข่ายฯกลับพบว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามกระตุ้นให้ยอดขาย ด้วยการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อีกทั้งใช้สถานที่ราชการจัดกิจกรรมขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในหลายพื้นที่ โดยบางกิจกรรมอ้างการกุศลบังหน้าซึ่งถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น

กระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีอำนาจทางปกครองโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และมีข้าราชการทางปกครองเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายฯจึงขอเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย  ดังนี้ 1.ขอขอบคุณที่มีนโยบายให้ฝ่ายปกครองเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันหยุดยาว วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา 2.ขอให้กำลังใจข้าราชการฝ่ายปกครอง ที่ได้ทำหน้าที่ตรวจตราและบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558 โดยเฉพาะในพื้นที่รอบสถานศึกษา ซึ่งพบว่ามีการตรวจตราและสั่งปิดเมื่อพบการกระทำผิดกฎหมาย และหวังว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และ3. เครือข่ายมีความห่วงใย กรณีที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้าไปใช้พื้นที่ของราชการตลอดจนจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วย งานราชการบางแห่ง โดยมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายในหลายมาตรา เช่น ขายและดื่มในสถานที่ราชการ มีการโฆษณา ส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี เป็นต้น จึงขอให้มีคำสั่งที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนราชการกลายเป็นผู้ที่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายเสียเอง

ด้านนายธีรภัทร์ กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะเอาจริงเอาจังกับปัญหาน้ำเมา แต่ธุรกิจนี้จะหาทางหลีกเลี่ยงตลอดเวลา หรือแม้กระทั้งยอมกระทำผิดกฎหมาย ยอมเสียค่าปรับเพื่อกระตุ้นยอดขาย  สะท้อนจาก คดีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ดำเนินการเอาผิดเมื่อ5ปีที่ผ่านมา มียอดคดีสูงถึง 953 คดี เฉลี่ย155คดีต่อปี และเครือข่ายเยาวชนฯกังวลว่า เนื่องจากอีกไม่กี่สัปดาห์จะเป็นช่วงที่นักศึกษาเปิดภาคเรียนตามปกติ ซึ่งกลุ่มธุรกิจสถานบริการ ร้านเหล้าผับบาร์จะกลับมาคึกคักกระตุ้นยอดขายในกลุ่มนักศึกษาอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ปกครอง ช่วยดูแลจัดการปัญหาร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 22/2558 โดยบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น สั่งปิดสถานบริการ ร้านเหล้าที่ทำผิดกฎหมายในบริเวณรอบสถานศึกษาต่อไป โดยเครือข่ายขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกหลานจากภัยน้ำเมา  ทั้งนี้เครือข่ายฯจะร่วมเป็นหูเป็นตา คอยแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย