หอการค้าใต้ขานรับติด CCTV ชี้สร้างแรงจูงใจแต่ไม่ตอบโจทย์นักลงทุน

26 ก.ค. 2559 | 08:30 น.
หลังจากรัฐบาลเดินหน้ามาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการในท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลาเฉพาะท้องที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการประกอบกิจการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2557 และได้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีให้แก่ผู้ประกอบกิจการในท้องที่ดังกล่าวออกมาอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2560 นี้

กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2561-2563) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจว่า จะได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการภาษีที่จะลดหย่อน ได้แก่ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่มีเงินได้ที่มีสถานประกอบการในเขตดังกล่าว โดยสามารถนำเงินได้ตามมาตรา 40 มาคำนวณเพื่อเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้ทั้งหมด ในส่วนของห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลจะลดภาษีเงินได้เหลือเพียงร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ ส่วนบุคคลที่ขายอสังหาริมทรัพย์จะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายโดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1

ทั้งยังงัดอีกหนึ่งมาตรการเสริมมาใช้จูงใจผู้ประกอบการให้มีส่วนร่วมช่วยลดความรุนแรง และกระตุ้นให้มีการท่องเที่ยวในพื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐตามแผนปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนับสนุนให้ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจดังกล่าวข้างต้น สามารถนำมาหักรายจ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 - 2563

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากมาตรการข้างต้นแม้ว่าจะส่งผลกระทบทำให้ภาครัฐสูญเสียภาษี แต่ถือเป็นจำนวนเล็กน้อย เพราะมองระยะยาวจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดได้อีกในอัตราร้อยละ 100 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับการยื่นรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปีภาษี 2559-2563

และกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดได้อีกในอัตราร้อยละ 100 ของรายจ่ายดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2559 ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 2563 ที่สิ้นสุดภายในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ต่อเรื่องนี้ นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา สะท้อนมุมมองกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โดยส่วนตัวมองว่า เป็นมาตรการที่ดี เนื่องจากกล้อง CCTV ของภาครัฐยังไม่ครอบคลุม และเสียหายจำนวนมาก มาตรการนี้จะจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมกับรัฐในเรื่องนี้ได้ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการในพื้นที่เห็นว่า ควรให้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 200%

อย่างไรก็ดี มองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ภาครัฐพยายามออกมาช่วยกระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดยะลานั้นขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องกฎหมายผังเมืองรวม และผังเมืองจังหวัด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

"ทุกวันนี้ต้องรอส่วนกลางพิจารณา หากสามารถแก้ไข กระจายอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถตัดสินใจได้ในบางเรื่อง เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาและขั้นตอนการดำเนินการในบางเรื่องที่ต้องใช้เวลานานได้" ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ตั้งข้อสังเกต พร้อมเรียกร้องให้มีการประกันภัย เชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้ดีขึ้น

ขณะที่นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี มองว่า เป็นมาตรการจูงใจของรัฐในการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้มีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ส่วนตัวมองว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการติดตั้งกล้อง CCTV กันอยู่แล้ว เมื่อมีมาตรการนี้ออกมา เชื่อว่า จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการติดตั้งเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงจิตวิทยาแล้วถือเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมิได้ทอดทิ้งคนในพื้นที่ มีมาตรการต่างๆออกมากระตุ้นจูงใจนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้สะท้อนความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการประสบปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ นอกจากสภาพเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ตกต่ำ ปัญหาเรื่องความมั่นคง ปัญหาราคายาง และปัญหาประมงรุมเร้า อุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการในพื้นที่ คือ ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องนี้ออกมาต่อเนื่อง แต่สถาบันการเงินยังมองเรื่องของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอยู่ดีนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559