เผยจีนนำเข้าอาหารกว่า 220,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

21 ก.ค. 2559 | 09:30 น.
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า  สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) แจ้งสถานการณ์การนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศของจีนระหว่างปี 2554 – 2558 ว่า มีการนำเข้าถึงประมาณ 4.8 ล้านครั้ง ปริมาณสูงถึง 160 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 220,320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปี)

จีนได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งจำแนกลักษณะการนำเข้าสินค้าอาหารอย่างมีนัยสำคัญเป็น 3 ส่วน คือ แหล่งนำเข้า จีนได้นำเข้าสินค้าอาหารจาก 202 เขตเศรษฐกิจพิเศษ/ประเทศ แหล่งนำเข้าสินค้าอาหาร 5 อันดับแรกของจีน คือ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และบราซิล ตามลำดับ โดยนำเข้าจากอาเซียนมากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีน สินค้านำเข้ามีความหลากหลาย โดยร้อยละ 70 จีนนำเข้าน้ำมันธัญพืช ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 110, 20, 12.96 และ 6 ล้านตันตามลำดับ และด่านนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของจีนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในเมืองที่ติดกับชายฝ๎่งทะเลเป็นหลัก อาทิ กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน ฝูเจี้ยน และเจ้อเจียง เป็นต้น

ปัจจุบันจีนได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านความปลอดภัยสินค้าอาหาร 189 รายการกับกว่า 70 เขตเศรษฐกิจพิเศษ/ประเทศในโลก และคาดว่าในปี 2563 ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าอาหารนำเข้าในตลาดจีนจะเพิ่มสูงถึง 480,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์แนวโน้มการนำเข้าสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทย อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าอาหารให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการนำเข้าสินค้าอาหารของ AQSIQ

ดัชนีชีวิตผู้บริโภคของจีนระบุว่าสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน (Blue Collar) ได้รับผลกระทบมากที่สุด การลดลงของปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและเบียร์แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนทิศทางและการยกระดับการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนที่เน้นคุณภาพที่สูงขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงเริ่มให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพและความสวยงามภายนอกของตนเองมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเสริมความงามและสุขภาพมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น นมเปรี้ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เครื่องดื่มโปรตีนเกษตรและเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 6

นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ การท่องเที่ยว สันทนาการและการพักผ่อนล้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 - 2558 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของรายได้จากโรงภาพยนตร์สูงถึงร้อยละ 35.4 ต่อปี การเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนยอดการจำหน่ายของเครื่องกรองน้ำมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50