จ้างผู้สูงอายุ60ปีทำงานทันเห็นปีนี้

23 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
คลังจุดพลุ จ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มั่นใจทันปีนี้แน่ จ่อเสนอเป็นแพ็กเกจ ชงครม.สิงหาคมนี้ ให้บริษัทหักลดหย่อนภาษีได้2 เท่า และมาตรการผ่านแบงก์รัฐ โดยให้สิทธิ์ครอบครัวที่มีผู้สูงวัยจองสิทธิ์ซื้อบ้าน -ธ.ออมสินออกโปรดักต์รองรับ นักวิชาการเชื่อเป็นประโยชน์รักษาแรงงานผู้สูงวัยในระบบ ขณะที่ประธานส.อ.ท. มองเป็นออพชันหนึ่ง ชี้หากให้ผลเร็วส่งเสริมการจ้างงานต้องขยายอายุเกษียณข้าราชการ “สมคิด” สั่งการบ้าน ก.แรงงาน-พม.ทบทวนอัตราค่าจ้าง-แก้ก.ม.ขยายอายุเกษียณเอกชน 55 เป็น 60 ปี ได้หรือไม่

จากสถานการณ์ที่ประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือมีประชากรอายุเกิน 60 ปี ถึง 20 % ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาและเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะการใช้มาตรการด้านภาษีจูงใจภาคธุรกิจให้เกิดการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ

[caption id="attachment_74170" align="aligncenter" width="447"] กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)[/caption]

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นโยบายกระทรวงการคลังที่จะเสนอเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการรัฐสวัสดิการส่วนหนึ่งก็โดยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์จูงใจ โดยให้สถานประกอบการ สามารถนำรายได้มาหักภาษีได้ 2 เท่าตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสังคมผู้สูงอายุ และเพื่อให้มีมาตรการดูแลออกมาได้ต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอย่างช้าที่สุดภายในเดือนสิงหาคมนี้

"แนวทางคือจะให้บริษัทเอกชนจ้างงานผู้มีอายุ ซึ่งเร็วสุดจะให้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยจะไม่กำหนดเพดานการจ้างงานว่า จะจ้างผู้สูงอายุสูงสุดได้ไม่เกินเท่าไหร่ แต่จะระบุเป็นปลายเปิดว่า ต้องเป็นผู้สูงอายุเริ่มที่ 60 ปีขึ้นไป โดยนับเอาจากวันเกิดตามหน้าบัตรประชาชน ซึ่งสถานประกอบการที่จ้างก็สามารถนำเอาค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยที่จำนวนการจ้างงานนั้นจะต้องไม่เกิน 10% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อาทิจำนวนพนักงานทั้งบริษัทมี 200 คน จะจ้างผู้สูงวัยที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้ไม่เกิน 20 คน นอกจากนี้ยังกำหนดค่าจ้างที่จ้างผู้สูงอายุรวมกัน จะต้องไม่เกิน 10 % ของรายจ่ายค่าจ้างในบริษัทนั้น ๆ

ส่วนอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างผู้สูงอายุ แต่ละบริษัทจะมีอัตรากำหนดแต่ต้องไม่ตายตัว เบื้องต้นยังต้องรอข้อมูลจากกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) ว่าอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุนั้นเท่าไรถึงจะเหมาะสม ส่วนผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรนั้นส่งผลเล็กน้อยเท่านั้น

อนึ่ง อัตราค่าจ้างเบื้องต้นได้มีการกำหนดว่าต้องไม่เกิน 15,000 บาท ยกเว้นกรณีอาชีพเฉพาะที่แต่ละบริษัทจะกำหนดไม่เท่ากัน

รับห่วงบริษัทหาช่องลดหย่อนภาษี

สำหรับประมาณการในภาคแรงงาน พบว่าปัจจุบันคนที่อยู่ในภาคแรงงานทั้งประเทศมี 40 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุประมาณ10 ล้านคน แต่หากใช้ฐานการจ้างงานที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างรวมจะสามารถจ้างงานผู้สูงอายุได้ถึงปีละ 4 ล้านคน

"ตอนนี้เรากังวลว่า การส่งเสริมให้บริษัทจ้างงานโดยนำเงินค่าจ้างมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าจะต้องทำให้เป็นกรอบความตกลงที่ชัดเจน เพราะเป้าวัตถุประสงค์ของรัฐคือต้องการเน้นเชิงปริมาณ หรือจ้างผู้สูงอายุมากราย แต่อาจมีบางบริษัทใช้ช่องว่าง กล่าวคือ หากไม่กำหนดเพดานค่าจ้าง ก็อาจจ้างผู้สูงอายุเพียง 1 คนแต่ไประบุค่าจ้างไว้สูง เพื่อจะให้ได้สิทธิประโยชน์จากการลดลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า "

ส่วนข้อเสนอของสถานประกอบการที่ต้องการให้รัฐ ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการนำเข้าหรือใช้เครื่องจักรมาใช้ช่วยทุ่นแรงเสริมการทำงานของผู้สูงอายุนั้น ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่าตรงนี้คงไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (sfi) ในเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร รวมถึงโครงการสินเชื่อต่างๆไปแล้ว

สปส.เล็งขยายฐานอายุเกษียณ

ส่วนประเด็นที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ให้พนักงานเกษียณที่อายุ55 ปี ซึ่งเป็นการล้อตามกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการรับบำนาญโดยเริ่มที่อายุ 55 ปีนั้น ในขณะที่การกำหนดมาตรภาษีเพื่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ระบุให้เริ่มที่ 60 ปีขึ้นไป จึงอาจส่งผลทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงานที่ทิ้งช่วงนาน 5 ปี

เรื่องนี้นายกฤษฎา กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงแรงงานได้พูดถึง โดยหลังจากนี้ทางกระทรวงแรงงานจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารืออีกครั้งเพื่อหาทางออกว่าจะขยายฐานอายุพนักงานหรือลูกจ้างให้เกษียณอายุในช่วงไหน

สอดคล้องกับนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าแนวทางการออกมาตรการจูงใจให้บริษัทจ้างงานให้กับผู้สูงอายุนั้น ขณะนี้เริ่มมีความคืบหน้าแล้ว โดยจะเสนอในลักษณะแพ็คเกจตั้งแต่การดูแลผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะประชุมร่วมกับผู้บริหารจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงานถึงสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในไทยเพื่อจะออกมาตรการดูแลเป็นแพ็กเกจ

 “สมคิด” สั่งดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุ คือ ผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการคลังรวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ“การจัดทำสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงในชีวิต” ก่อนจะมอบหมายงาน

โดยนายสมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่าวันนี้กระทรวงการคลังได้เสนอถึงมาตรการดูแล คือ มาตรการทางภาษีที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงานในผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของกฎหมาย ตนจะหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยบริษัทที่สนใจจะจ้างผู้สูงอายุ ภาครัฐจะการกำหนดกฎเกณฑ์ให้นำค่าจ้าง ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีศูนย์กลาง (โลจิสติกส์) เช่น หากผู้สูงอายุที่เกิน 60 ปี สนใจทำงานด้านไหนก็ให้มาลงทะเบียน สถานประกอบการก็สามารถใช้ศูนย์นี้ในการหาแรงงาน รวมถึงจะออกมาตรการการคลัง"

ออกแพ็กเกจผ่านแบงก์รัฐ

พร้อมยกตัวอย่าง เช่นเดิมเป็นครูเมื่อเกษียณสนใจอยากสอนก็ให้ไปลงทะเบียนเอาไว้ หากโรงเรียนไหนต้องการจ้างครูพิเศษก็ใช้ข้อมูลจากศูนย์นี้ได้ รวมถึงมาตรการด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การเคหะแห่งชาติเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ก็จะให้สิทธิพิเศษแก่ผู้สูงอายุ โดยหากมีโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่บุคคลทั่วไปสามารถซื้อถ้าครอบครัวใดมีการเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุก็จะให้สิทธิพิเศษแก่คนกลุ่มนี้ ให้ได้รับสิทธิ์จองหรือซื้อก่อนคนทั่วไปที่ไม่ได้เลี้ยงดูบุพการี

ทั้งนี้ก็เพื่อจูงใจให้สังคมไทยหันกลับมาดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยธนาคารออมสินจะไปคิดแพ็คเกจดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการที่จะช่วยในด้านค่าใช้จ่าย และส่งเสริมสร้างหลักประกันรายได้ นั่นคือ การผลักดัน ออกกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่น่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในรัฐบาลนี้

ปธ.ส.อ.ท.มองเพียงเป็นออพชันหนึ่ง

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตนเห็นด้วยกับมาตรการภาษีเพื่อหนุนให้เอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยมีแรงจูงใจ (Incentive )จากสิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่เชื่อว่าผลทางปฏิบัติคงไม่ได้ทำให้สถานประกอบการรับแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มไปกว่าเดิมนัก เพราะที่ผ่านมาบริษัทเอกชนเช่นของผม ก็ใช้วิธีต่ออายุเกษียณของพนักงาน (ที่ 60 ปี ) เป็นราย ๆ ไป

" ผมมองเป็นออพชันหนึ่งเท่านั้น และเชื่อว่าคงไม่ส่งผลหรือจะช่วยรับมือแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เพราะไม่ใช่มาตรการบังคับ ถ้าให้แรงต้องไปขยายอายุเกษียณข้าราชการ จาก 60 เป็น 65 ปี ถึงจะเห็นผลชัดเจนกว่า "

เอื้อให้ธุรกิจจ้างสูงวัยทำงานต่อ

ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่าแรงจูงใจจากมาตรการภาษีดังกล่าวเชื่อจะเป็นประโยชน์กับแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ ทำให้นายจ้างเกิดการจ้างงาน Keep คนเพื่อทำงานต่อ รวมทั้งอาจเป็นประโยชน์กับแรงงานผู้สูงวัยที่มีฝีมือแต่ยังตกงาน แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผู้สูงวัยอย่างได้ผล 100 %

" ผมเห็นด้วยกับการให้นำค่าจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และที่ว่าต้องไม่เกิน 10% ของค่าจ้างงานแรงงาน การกำหนดเช่นนี้ เข้าใจว่ารัฐคงต้องการปิดช่องไม่ให้เอกชนไปแสวงหาผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมาก จึงระบุห้ามเกิน 10 %

แต่ที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือการไปแคปค่าจ้างแรงงาน เช่นว่าต้องไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งรัฐควรให้หักตามความเป็นจริง เพราะแรงงานที่อายุ 60 ปี แสดงว่าต้องทำงานมาไม่น้อยกว่า 30 ปีมีประสบการณ์ เงินเดือนย่อมเกิน 15,000 บาทอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่เป็นการจ้างผู้บริหารสูงวัยให้ทำงานต่อ รัฐก็อาจกำหนดให้เป็นว่า แต่ละเดือนสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินเท่าไร ดีกว่าการไปแคปไว้ที่ 15,000 บาท

TDRI ชี้มาตรการจูงใจต้องทั่วฟ้า

ขณะที่ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ )ให้ความเห็นว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้เอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้สูงอายุตามเป้าหมาย ( target group) ที่รัฐต้องการคือกลุ่มไหนอย่างไร

เช่นจะให้ขยายอายุทำงานเป็น 60-65 ปี , 65 ปี หรือเริ่มที่ช่วงไหนอย่างไร นอกจากนี้อินเซ็นทีฟที่รัฐจะให้ก็ต้องทั่วถึง คือไม่ใช่จะเกิดการจ้างงานเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุในตัวเมืองหรือ กรุงเทพ ฯ เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมไปถึงสถานประกอบการในต่างจังหวัดอย่างเท่าเทียมกันด้วย

"ผมเห็นด้วยกับการใช้มาตรการภาษี จูงใจให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าการตั้งเป็นกองทุนเหมือนกรณี "กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" ที่ถูกบังคับว่าหากสถานประกอบการใด ไม่รับคนพิการเข้าทำงานก็ต้อส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการ ฯเป็นรายปี จนขณะนี้มีเงินกองทุนฯกว่า 7,000 ล้านบาท แต่การพัฒนาเพื่อเข้าถึงคนพิการ ยังไม่เต็มที่ " ดร.สราวุธ กล่าวและว่า

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนไทยเริ่มจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานบ้างแล้วในบางตำแหน่ง เช่นภาคธุรกิจบริการ โรงแรม,ภัตตาคาร และภาคการผลิต เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากรัฐจะขยายอายุเกษียณ ก็ต้องสร้างสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ ถนนหนทาง บ้านผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ควบคู่ไปด้วย

หนุนตั้งกบช.ส่งเสริมออม

ดร.สราวุธ ยังแสดงความเห็นต่อกรณีที่ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.)โดยบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับว่า เป็นเรื่องดีทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันรายได้หลังเกษียณจากเงินออมที่สะสม แม้ในข้อเท็จจริงเงินในส่วนที่นายจ้างสมทบโดยส่วนใหญ่จะเป็นการหักจากรายได้ของพนักงานก็ตาม.
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559