กลุ่มท่อเหล็กบี้กรมศุลกากร ทวงคืนหลักประกันค่าอากรนำเข้ามาผลิตส่งออกตามม.19ทวิ

23 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะฯยื่นหนังสือถึงกรมศุลกากร หลังไม่ได้รับความสะดวกในการคืนภาษีหรือหลักประกันค่าภาษีอากรจากกรมศุลกากรในกรณีที่มีการนำวัตถุดิบประเภทเหล็กแผ่นเข้ามาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ

[caption id="attachment_74008" align="aligncenter" width="481"] วรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น วรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น[/caption]

นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าเมื่อเร็วๆนี้สมาคมผู้ผลิตท่อฯ ได้ยื่นหนังสือนายนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร หลังจากที่ได้รับร้องเรียนจากสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมว่า ไม่ได้รับความสะดวกในการคืนภาษีหรือหลักประกันค่าภาษีอากรจากกรมศุลกากรในกรณีที่มีการนำวัตถุดิบประเภทเหล็กแผ่นเข้ามาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ

จากที่ผ่านมาสมาชิกในสมาคมผู้ผลิตท่อฯได้นำเข้าสินค้าวัตถุดิบประเภทเหล็กแผ่นเข้ามาผลิตเป็นของสำเร็จรูปเพื่อส่งออกตามมาตรา 19 ทวิ ของกรมศุลกากรโดยในการนำเข้าได้มีการชำระหรือวางประกันค่าภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากรแล้ว แต่โดยที่สินค้าประเภทเหล็กแผ่นบางชนิดและหรือบางประเทศที่สั่งซื้อมา ในการนำเข้าจะต้องปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนและหรือประกาศของคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และตามพ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 คณะกรรมการตามกฎหมายทั้งสองฉบับได้ออกประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)และการอุดหนุนและได้เรียกเก็บอากรตามมาตรการปกป้องจาการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด)เมื่อสมาชิกนำวัตถุดิบที่อยู่ในรายการประกาศของคณะกรรมการทั้งสองคณะกรรมการเข้ามาต้องชำระหรือวางประกันค่าอากรเพิ่มนอกเหนือจากอากรตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งสมาชิกได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้ว

นายวรพจน์ กล่าวอีกว่าเมื่อมีการนำเข้าวัตถุดิบไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปตามมาตรา 19 ทวิ กฎหมายศุลกากรและส่งออกไปแล้ว เมื่อสมาชิกฯนำหลักฐานขอคืนเงินค่าภาษีอากรหรือหลักประกันที่วางไว้ตอนนำเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้พิจารณาเห็นว่าการคืนเงินหรือหลักประกันค่าภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากรและตามประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดตามพ.ร.บ ตอบโต้การทุ่มตลาด พ.ศ. 2542 กรมฯมีระเบียบปฏิบัติชัดเจนสามารถดำเนินการคืนให้ได้ ส่วนอากรตามประกาศของคณะกรรมการมาตรการปกป้อง ตาม พ.ร.บ มาตรการปกป้อง พ.ศ. 2550 ยังไม่สามารถดำเนินการคืนให้ได้เนื่องจากไม่มีระเบียบปฏิบัติหรือข้อความตามประกาศของคณะกรรมการมาตรการปกป้อง ไม่ชัดเจนนั้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว สมาคมฯได้ตรวจสอบรายละเอียดของเรื่องแล้ว ขอเรียนว่า กรมศุลกากรได้มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการชำระอากรการวางประกันค่าภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากรมาตรา 19 ทวิอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ พ.ศ. 2542 ที่ไห้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด กรมศุลกากรได้ออกระเบียบมารองรับเพื่อเป็นแนวปฏิบัติ ในการเรียกเก็บการประกันและการคืนอากรฯไว้ตามคำสั่งทั่วไปที่ 31/2546 ลงวันที่ 12 พ.ย. 2546 แต่เมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ. มาตรการปกป้องฯ พ.ศ. 2550 ทางกรมศุลกากรไม่ได้มีการประกาศระเบียบเรื่องการวางประกันและการคืนอากรตามกฎหมายนี้ไว้ ต่อมากรมศุลกากรได้มีประกาศกรมฯที่ 128/2556 และประกาศกรมศุลกากร ที่ 11/2559 กำหนดระเบียบเรื่องการคืนอากรมาตรา 19 ทวิ ตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งตามประกาศทั้งสองฉบับที่ออกภายหลังประกอบรายละเอียดตามประกาศคณะกรรมการมาตรการปกป้องฯสมาคมเห็นว่าเพียงพอที่จะพิจารณาให้ได้แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างไร

“ถ้ากรมศุลกากร ช่วยขจัดปัญหาดังกล่าวได้ สมาชิกในสมาคมผู้ผลิตท่อฯ จะ สามารถดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อประเทศในส่วนรวมจึงอยากให้ เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการคืนเงินประกันหรือหลักฐานค้ำประกันค่าอากรตาม พ.ร.บ ปกป้องฯให้แก่สมาชิกตามอำนาจหน้าที่และตามระเบียบที่สามารถพิจารณาได้ เพราะวัตถุดิบดังกล่าวได้ผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปแล้ว หากพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความตามประกาศของคณะกรรมการปกป้องไม่ชัดเจนหรือไม่เห็นด้วย ก็ควรประสานหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปด้วย”

นายวรพจน์ กล่าวว่า การนำเหล็กต้องผ่านพิธีการต่างๆ มีหลักปฏิบัติบางประการไม่ชัดเจน เช่น การออกใบอนุญาตตรวจปล่อยที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรและสมอ. ยังมีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันที่จะต้องมานั่งแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559