อุตสาหกรรมข้าวไทยในตลาดฮ่องกง

24 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
ตั้งแต่สมัยที่ฮ่องกงอยู่ในยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู ธุรกิจต่าง ๆ ต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก ข้าวซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรทจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสร้างพลังงานให้กับแรงงาน ต่อมาเมื่อฮ่องกงก้าวเข้าสู่ยุคสังคมเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบฐานความรู้ กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นแรงงานที่ใช้สมองมากกว่าใช้แรงงานที่ใช้แรงกาย ข้าวในบริบททางสังคมฮ่องกงจึงได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กและมีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรเพียง 7 ตารางกิโลเมตร ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในแต่ละปีฮ่องกงจะนำเข้าข้าวประมาณ 3 แสนตัน โดยในปี 2558 ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากไทยคิดเป็นสัดส่วน 55.5% หรือ 174,600 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ในอัตรา 0.2% ที่เหลือจะนำเข้าจากเวียดนามและจีนคิดเป็นสัดส่วน 32.2% และ 6.5% ตามลำดับ

นายเคนเน็ธ เฉิน (Kenneth Chan) ประธานสมาคมพ่อค้าข้าวในฮ่องกง (Chairman of the Rice Merchants’ Association of Hong Kong) ยอมรับว่า แม้การนำเข้าข้าวมายังฮ่องกงดำเนินไปอย่างคงที่ แต่ปัจจุบันอัตราการบริโภคข้าวต่อหัวกลับมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักที่สำคัญของคนฮ่องกงอยู่เสมอ ในระยะหลัง คนฮ่องกงเริ่มใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เริ่มมีผลการศึกษาวิจัยที่บ่งชี้ว่า ข้าวกล้อง ข้าวสีแดง ข้าวสีดำ มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่าและควรนำมาบริโภคแทนข้าวขาว นาย Chan กล่าวว่า แม้คนจะเริ่มคำนึงถึงสุขภาพหันมาบริโภคข้าวเหล่านั้นแทนข้าวขาว แต่ด้วยรสชาติและความกระด้างของเมล็ดข้าว จึงทำให้หลายคนยังคงรับประทานข้าวขาวอยู่ต่อไป

ปัจจุบันฮ่องกงยังคงนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลักและคนฮ่องกงส่วนใหญ่นิยมชมชอบการบริโภคข้าวไทยเนื่องจากมีกลิ่นหอมและคุณภาพดี นายเฉินเชื่อมั่นว่า คนฮ่องกงส่วนใหญ่จะยังคงนิยมบริโภคข้าวไทยและข้าวไทยจะครองตลาดข้าวในฮ่องกงต่อไป “ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าวเนื่องจากมีความรับผิดชอบต่อคุณภาพของข้าว เข้าใจสภาวะตลาดและผู้บริโภคในฮ่องกงว่าต้องการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพดี

ทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและการผลิต ประเทศไทยเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและคิดค้นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ ๆ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก” ประธานสมาคมพ่อค้าข้าวในฮ่องกงกล่าว

พัฒนาการของอุตสาหกรรมข้าวในฮ่องกง

ในอดีตผู้ค้าข้าวในฮ่องกงจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง/พ่อค้าคนกลาง และผู้ค้าปลีก แต่ด้วยกฎข้อบังคับจากทางการฮ่องกงผู้นำเข้าจะไม่สามารถขายตรงสู่ผู้ค้าปลีกได้ อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2546 กฎข้อบังคับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป และในปัจจุบันการค้าขายข้าวสามารถทำได้อย่างเสรี แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามกลไกของสังคมไม่ใช่เปลี่ยนเพราะปัจจัยอื่นแต่จะต้องมีการพิจารณาถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงระบบด้วย

ในปัจจุบัน หลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจค้าข้าวกำลังมีความพยายามอย่างหนักเพื่อหาช่องทางการขายในตลาดใหม่ ๆ สำหรับผลักดันยอดขาย อาทิ การเสนอขายสินค้าข้าวบนอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

พฤติกรรมผู้บริโภคในฮ่องกงปัจจุบันหันมาให้ความสนใจในการบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจในสุขภาพ สินค้าใหม่ที่บริษัทผู้ค้าข้าวต่างนิยมนำมาเสนอขายบนอินเตอร์เน็ต คือ สินค้าข้าวเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้คิดค้นและผลิตข้าวเพื่อสุขภาพสายพันธุ์ใหม่มีชื่อว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สมาคมพ่อค้าข้าวในฮ่องกงได้นำผู้ประกอบการธุรกิจค้าข้าวจากฮ่องกงไปเยี่ยมชมการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ในประเทศไทยเพื่อทำความรู้จักกับสินค้าใหม่ที่อาจเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าขายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ นายเฉินยอมรับว่า ความท้าทายที่สำคัญในธุรกิจค้าข้าวคือการขนส่งและการจัดเก็บสินค้า การนำเข้าข้าวไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากข้าวนั้นมีน้ำหนักมากและจำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ อีกทั้งยังต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้พอดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสต๊อกสินค้า

ทำความรู้จักกับข้าวไรซ์เบอร์รี่

ผู้บริโภคในฮ่องกงส่วนใหญ่ยังคงนิยมรับประทานข้าวจากไทยเนื่องจากข้าวไทยมีความหอม เมล็ดเรียวสวยน่ารับประทาน แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคบางกลุ่มในฮ่องกงได้หันมาให้ความสนใจและใส่ใจในสุขภาพกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรไทยที่จะเสนอสินค้าข้าวเพื่อสุขภาพอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry) เป็นข้าวเกษตรอินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากฝีมือทีมนักวิจัยของประเทศไทย เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล (พ่อพันธุ์) และข้าวขาวดอกมะลิ 105 (แม่พันธุ์) ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีลักษณะเป็นข้าวเจ้า เมล็ดเรียวยาว ผิวมันวาว มีสีม่วงเข้มซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น อีกทั้งยังมีรสชาติหอมมัน เนื้อเหนียวนุ่ม ในปัจจุบันพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังไม่ได้รับความนิยมในการเพาะปลูกจากเกษตรกรไทยมากนัก เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวที่ดูแลรักษายากและต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ อีกทั้งยังต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งต้องปลูกในสภาพอากาศเย็นอีกด้วย ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสีของเมล็ดข้าวและจะทำให้สารอาหารต่าง ๆ ในเมล็ดข้าวไม่ครบถ้วนได้

การค้าข้าวไทย-ฮ่องกง

ในปี 2559 ประเทศไทยตั้งเป้าการส่งออกข้าวที่ 9 – 9.5 ล้านตันลดลงจากปี 2558 เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ไทยจะปรับวิธีทำการตลาดใหม่ด้วยการใช้ข้าวคุณภาพสูงซึ่งมีตลาดส่งออกหลักอยู่ในเอเชีย อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และอาเซียน โดยในปี 2559 นี้ไทยได้ตั้งเป้าในการส่งออกข้าวไทยสู่ฮ่องกงไว้ที่ 2 แสนตัน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) http://www.thaibizchina.com/ หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559