อิเกียกับเรื่องที่ต้องรีบเคลียร์ในจีน

24 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
เกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท อิเกีย (IKEA) เชนร้านขายเครื่องเรือนและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านจากสวีเดน ประกาศเรียกคืนตู้ลิ้นชักจำนวนกว่า 29 ล้านชิ้นออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาเนื่องจากถูกหน่วยงานของสหรัฐฯ ตรวจสอบและกล่าวหาว่า ตู้ลิ้นชักที่จำหน่ายในอิเกียเป็นสาเหตุการตายของเด็กเล็กจำนวนอย่างน้อย 6 รายหลังเกิดอุบัติเหตุตู้ลิ้นชักล้มทับ ซึ่งในเวลานั้น อิเกียเรียกเก็บสินค้ารุ่นที่มีปัญหาออกจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ไม่มีผลครอบคลุมตลาดอื่นๆ เช่น ยุโรปและจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โดยทางอิเกียให้เหตุผลว่า สินค้าที่จำหน่ายในตลาดยุโรปและจีน มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กฎหมายท้องถิ่นกำหนดไว้

แต่หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสื่อของรัฐบาลจีนได้ออกมาโจมตีการตัดสินใจดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคเฉพาะในตลาดสหรัฐฯของอิเกีย ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและมีอคติต่อตลาดจีน กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ยังลุกลามสู่สื่อโซเชียลมีเดียของจีน ทำให้ผู้บริหารของอิเกีย ซึ่งในตลาดจีนเรียกว่า “อี้เจี่ย” (Yijia) ต้องรีบออกมาตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่จะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกของอิเกียประกาศว่าบริษัทจะเรียกเก็บตู้ลิ้นชักออกจากตลาดจีนประมาณ 1.7 ล้านชิ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

[caption id="attachment_74073" align="aligncenter" width="500"] IKEA IKEA[/caption]

งานนี้แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของตลาดจีนซึ่งไม่เพียงมีขนาดและกำลังซื้อมหาศาล แต่สำหรับอิเกีย นี่คือตลาดที่มีการขยายตัวรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สาขาของอิเกียในจีนมีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมเนืองแน่น บางส่วนเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและต้องการของดีมีคุณภาพ พวกเขาไว้วางใจสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ แต่บางส่วนก็เพียงเข้ามาใช้บริการร้านอาหารของอิเกียแล้วก็นั่งๆนอนๆบนเครื่องเรือนที่ทางร้านตั้งโชว์เอาไว้ตลอดทั้งวัน กระนั้น ยอดขายของอิเกียประเทศจีนในปีการเงินที่ผ่านมา (สิ้นสุด ณ เดือนกันยายน 2558) ก็สูงถึง 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ เมื่อมองภาพรวมของทั้งตลาดค้าปลีกในประเทศจีนในปีการเงินที่ผ่านมายังพบว่า มูลค่าตลาดรวมสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้ จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่มีมูลค่าตลาดค้าปลีกสูงที่สุดในโลก

ที่ผ่านมา ผู้บริโภครุ่นใหม่ของจีนให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศหรืออาหารท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐก็เพิ่มความเข้มงวดกับผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างในวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี จีนกำหนดให้เป็นวันสิทธิผู้บริโภค (Consumer Rights Day) มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเคเอฟซี หรือแมคโดนัลด์ ต่างก็เคยโดนเล่นงานมาแล้วทั้งจากกฎระเบียบและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย

แต่การเอาใจผู้บริโภคจีนก็เป็นสิ่งจำเป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่านี่เป็นตลาดใหญ่ที่มีการขยายตัวสูง “ถ้าคุณมองออกไปทั่วโลกในตอนนี้ เพื่อมองหาจุดหนึ่งในโลกที่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ จุดที่ว่านั้นก็คือประเทศจีน” เจฟฟ์ วอลเตอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559