กลุ่มเป้าหมายต้องชัด! ตอบโจทย์ มาตรการภาษีจ้างงานผู้สูงอายุ

24 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2567 - 2568 คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เฉลี่ยถึง 1 ใน 5 หรือ 20% ของจำนวนประชากร หลังจากที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2548 หรือมีสัดส่วนเกิน 10% ตามนิยามของไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งจะเป็นสร้างภาระต่อฐานะการคลังในอนาคตได้ ประกอบกับปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาว

เหตุนี้เองกระทรวงการคลังจึงมีความพยายามที่จะผลักดันในเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้หลังการเกษียณ และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนจ้างผู้สูงอายุทำงานโดยให้นำรายจ่ายในการจ้างงานผู้สูงอายุไม่เกิน 65 ปี มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

แต่กับสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย มาตรการภาษีเพื่อการจ้างงานผู้สูงวัย ตอบโจทย์หรือไม่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ พ.ญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ซึ่งวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ. ดังนี้...

คงต้องมาดูหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าด้วยเรื่องการทำงานผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดเมื่อปี 2556 ที่มีข้อสรุปว่าผู้สูงอายุวัยต้น มากกว่าครึ่ง มีแนวโน้มการทำงานมากขึ้น หรือพิจารณาจากผู้สูอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังทำงานมีประมาณ 38% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด

แนวโน้มการทำงานผู้สูงอายุ 60-64 ปีเพิ่มต่อเนื่อง

หากแยกผู้สูงอายุช่วง 60 - 64 ปี , 65-69 ปี , 70-74 ปี และ 75 ปีขึ้นไป พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ทำงานมากที่สุดและมีแนวโน้มจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง คือกลุ่มอายุ 60-64 ปี เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนๆเมื่อปี 2543 ,ปี 2548 และปี 2553 ถัดลงมาคือช่วงอายุ 65- 69 ปี แต่กลุ่มหลังนี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจเก่า ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่แนวโน้มการทำงานของกลุ่มนี้ก็ลดลงเรื่อยๆ

โดยจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานปี 2556 มีประมาณ 3.4 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งประเทศร่วม 10 ล้านคน ในจำนวน 3.4 ล้านคนนี้ เป็นแรงงานนอกระบบ (ไม่มีนายจ้าง) กว่า 90% หรือกว่า 3.1 ล้านคน ส่วนที่เป็นแรงงานในระบบหรือมีนายจ้างมีเพียง 10% หรือประมาณ 3 แสนคน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า "แรงงานผู้สูงอายุในระบบ "อยู่ในช่วงกลุ่มอายุใด แต่เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วง 60-64 ปี
*แจงต้องชัดมาตรการจ้างแรงงานสูงวัยกลุ่มไหน

อย่างไรก็ดีมาตรการภาษีเพื่อการจ้างงานผู้สูงอายุตอบโจทย์หรือไม่ หากพิจารณาจากกฎหมายประกันสังคมที่ให้สิทธิในการรับสิทธิบำนาญชราภาพที่อายุ 55 ปี ดังนั้นโดยพฤตินัย สถานประกอบการก็จะกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี คือพอคนรับสิทธิประโยชน์บำนาญ จะลาออกเลย จะมีบ้างที่อาจจ้างกลับเข้ามาทำงานแต่ก็มีน้อยรายมาก ฉะนั้นพนักงานที่อยู่ในสถานประกอบการก็จะออกจากการจ้างงาน ตั้งแต่อายุ 55 ปี ในขณะที่อายุค่าเฉลี่ยคนไทย อยู่ที่ 75-76 ปี คือยังเหลือเวลาที่จะใช้เงินอีกถึง 20 ปี ขณะที่การศึกษาวิจัยพบว่าคนในวัย 60-65 ปียังมีผลิตภาพแรงงาน (Productivity) เหลืออยู่ด้วยซ้ำ แต่เมื่อไม่ถูกนำมาใช้ทั้งที่ยังทำงานได้จึงต้องดิ้นรนหางานทำ กลุ่มผู้สูงวัยจึงไปทำงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือภาคเกษตรโดยเฉพาะคนที่มีที่นาทำกิน

จึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้สูงอายุจึงไปเป็นแรงงานนอกระบบกันมาก ก็เพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่หยุดจ้างที่อายุ 55 ปี ดังนั้นหากมาตรการของรัฐที่สนับสนุนผู้สูงอายุที่ 65 ปี แต่คำถามคือว่าที่หายไปถึง 10 ปี (อายุเกษียณตั้งแต่ 55 ปี ถึง 64 ปี) ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีดีมานด์ เพราะการจะให้ทำงานโดยเริ่มอีกครั้งในวัย 65 ปี ในขณะที่ที่หยุดทำงานมา 10 ปีแล้ว เป็นเรื่องลำบากที่จะให้ไปฝึกทักษะกันใหม่ ดังนั้นมาตรการที่รัฐสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุต้องชัดเจนเสียก่อนว่าจะเป็นกลุ่มไหนกันแน่ ไม่เกิน 65 ปี หรือที่ 65 ปี เพราะถ้าระบุการจ้างที่อายุ 65 ปีถึงจะได้สิทธิประโยชน์ภาษีหักได้ 2 เท่า ก็หมายว่าหากผู้ประกอบการที่จะจ้างต่อเนื่องจากอายุเกษียณที่ 55 ปีเป็นต้นมาจนถึง 64 ปี จะไม่ได้สิทธิ์จากมาตรการภาษีนี้ อีกทั้งการจ้างในช่วงที่ต่ำกว่า 60 ปี (55-59 ปี) ก็ไม่เข้าเกณฑ์คำว่า "ผู้สูงอายุ"
*ห่วงความต่อเนื่องลักษณะงานหลังเกษียณ

นอกจากนี้ผลสำรวจของนักวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่จะทำงานต่อเนื่องจากงานเดิมเพียงแต่อาจลดเวลาทำงาน เช่นคนที่อยู่ในสายการผลิตก็จะขึ้นเป็นหัวหน้าในสายงานนั้นคอยควบคุมคุณภาพในการกำกับดูแล ส่วนคนที่เคยทำงานทอผ้า ก็ยังอยู่ในสายงานทอ เพียงแต่อาจเปลี่ยนจะคนทอ มาเป็นคนออกแบบ ดังนั้นการจะให้หายไปหรือหยุดไม่ทำงานเป็นเวลา 10 ปีและกลับมาทำงานใหม่โดยขาดความต่อเนื่องของงาน หรือเปลี่ยนอาชีพใหม่มันไม่ค่อยมี

"จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงวัยที่อยากทำงานและมีแนวโน้มสูงขึ้นคือ 60 ปี- 64 ปี ดังนั้นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ ก็ควรจะเริ่มที่ 60 ปี เพียงว่าก่อนหน้านั้นสถานประกอบการก็ต้องจ้างต่อเนื่องมาตั้งแต่อายุ 55 ปี และจากข่าวที่ระบุว่า เพดานเงินเดือนผู้สูงอายุที่จะจ้างตามมาตรการภาษีนี้ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นพนักงานในระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีท้ายสุด การจะเลือกเกณฑ์ช่วงใดก็ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ"

ชี้มาตรการภาษีเอื้อแรงงานสูงวัยในระบบ

พ.ญ. ลัดดา วิเคราะห์ต่อว่ามาตรการภาษีจ้างงานผู้สูงอายุ จะส่งผลดีอย่างน้อยก็สามารถรักษา (Keep) แรงงานผู้สูงอายุในระบบที่มีสถานประกอบการได้ส่วนหนึ่ง จากที่มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3 แสนคน ในขณะที่อีกกว่า 3 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้างก็จะไม่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีอยู่แล้ว

และเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จะมีกฎหมายขยายอายุเกษียณนานแล้ว เช่นประเทศสิงคโปร์ที่ค่อย ๆขยายเป็นสเต็ปตามความพร้อมของตลาดแรงงาน จากอายุ 60 ปี เป็น 62 ปี , 62 ปีเป็น 64 ปีจนมาหยุดอยู่ที่ 65 ปีมาระยะหนึ่งและกำลังจะขยายเป็น 67 ปี ซึ่งหมายความห้ามเลิกจ้างก่อนอายุ 65 ปี ขณะที่ญี่ปุ่น ร่างกฎหมายกันมา 10 ปี แต่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 กำหนดอายุเกษียณทั้งข้าราชการและเอกชนที่อายุ 65 ปี ส่วนในประเทศตะวันตกที่เป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบกำหนดที่ 65 ปี แตกต่างกับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่อายุเกษียณยังอยู่ที่ 60 ปี

ทั้งนี้การจะรับแรงงานผู้สูงอายุ สถานการณ์ตลาดแรงงานก็ต้องมีความพร้อมทั้งฝ่ายนายจ้าง ต้องพัฒนาศักยภาพคนงานของตัวเองที่จะจ้างงานต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวแรงงานในช่วงวัยปลาย ๆก็ต้องได้รับชิฟ (shilf) งาน สลับปรับเปลี่ยนลักษณะงานให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสมรรถภาพทางร่างกาย มีการฝึกทักษะใหม่ๆ เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ไม่ใช่มาเตรียมกันในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนถึงวัยรีไทร์

ข้อเสนอนายจ้าง"มาตรการภาษี-ส่งเสริมลงทุน"

"ทุกวันนี้สถานประกอบการยังไม่เดือดร้อน เพราะมีแรงงานต่างด้าวมาทดแทน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือแรงงานผู้สูงวัย ไม่สามารถทดแทนแรงงานหนุ่มสาวได้ 100% เนื่องจากสมรรถนะ แต่สิ่งหนึ่งที่แรงงานสูงวัยมีมากกว่าคือ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงคุณภาพที่จะมีมากกว่าแรงงานใหม่ๆ นายจ้างจึงต้องรู้จักปรับงานให้เหมาะสมกับแรงงานสูงวัย" พ.ญ.หญิงลัดดา กล่าวและว่า

ที่ผ่านมาทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ได้จัดเสวนาทางวิชาการ มีข้อเสนอหลายๆ อย่างจากผู้ประกอบการว่า ทุกวันนี้สถานการณ์ได้บีบบังคับให้สถานประกอบการต้องรับแรงงานผู้สูงอายุอยู่แล้ว โดยเฉพาะแรงงานที่มีประสบการณ์และฝีมือต่อการผลิต ไม่ใช่เป็นการจ้างเพื่อสงเคราะห์ ดังนั้นข้อเสนอฝ่ายนายจ้างที่ต้องการจากรัฐบาลหลัก ๆ คือ 1.มาตรการด้านภาษีเช่นที่กระทรวงการคลังกำลังผลักดัน 2. การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อช่วยผ่อนแรงในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ 3. อัตราค่าตอบแทนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่รัฐต้องวางกติกาเพื่อการจ้างผู้สูงอายุ ไม่ใช่เป็นการจ้างเหมือนแรงงานหนุ่มสาว และจากผลสำรวจพบว่า แรงงานผู้สูงอายุในระบบที่พบมากจะอยู่ในภาคธุรกิจบริการ อาทิโรงแรม , ภัตตาคาร ,ค้าส่งและค้าปลีก และภาคการผลิตซึ่งมีการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ไม่น้อย

"ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับทางมส.ผส., สสส. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการหาสถานประกอบการ ที่พร้อมจะนำร่องจ้างแรงงานสูงวัย โดยจะดูว่าหากมีการจ้าง จะจ้างด้วยเงื่อนไขอย่างไร ปัจจัยอะไรที่เป็นตัวหนุนหรืออุปสรรคที่ต้องการส่งเสริมจากรัฐ ขณะนี้มีสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตอาหาร โรงแรม ค้าปลีกค้าส่ง ฯลฯ ตอบรับมาแล้ว 16 แห่ง ซึ่งจะทำให้ทางมูลนิธิสถาบันฯได้ตัวอย่างในการจะเผยแพร่แนวคิดการจ้างแรงงานสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบมากขึ้น"

หนุนรัฐตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ

เลขาธิการ มส.ผส. ได้กล่าวเพิ่มถึงนโยบายกระทรวงการคลังที่จะออก พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติและ ผลักดันให้สถานประกอบการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ว่าต้องยอมรับว่าการออมภาคบังคับที่ผ่านมาในทุกช่องทางไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เพราะเป็นการเก็บในเพดานที่ต่ำ และการสมทบก็ต่ำด้วย ทำให้เงินเมื่อนำมาคำนวณเป็นบำนาญจึงต่ำเกินไปที่จะใช้ในช่วงที่เหลือของชีวิต

"นโยบายที่ให้มีการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ ก็ไม่ต่างกับกบข. แต่เป็น กบข.ภาคเอกชน ทำให้แรงงานจะมีเงินอีกก้อนหนึ่งเข้ามาเมื่อสิ้นสุดการทำงาน รัฐคงเห็นว่า ความมั่นคงของรายได้เป็นสิ่งที่จะต้องสะสมตั้งแต่การทำงาน โดยช่วงการทำงานต้องยาวขึ้น และลดเวลาในการใช้เงินที่ไม่ได้ทำงานน้อยลง เพื่อจะได้เพียงพอตลอดชีพ แต่ทั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องผ่านด่านนายจ้าง ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็คงยากที่จะเห็นนโยบายนี้ผลักดันเป็นรูปธรรม ขอเอาใจช่วยรัฐบาลปรับปรุงระบบให้รองรับให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศชาติ รุ่นหลังๆ จะลำบาก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559