ส่งออกอาหารไทยโตยกแผง 5 เดือนโกย 8.2 หมื่นล้าน/เว้นอาหารทะเลยังซมพิษ IUU

21 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
ส่งออกอาหารสำเร็จรูป 5 เดือนแรก ฟันแล้วกว่า 8.2 หมื่นล้านโตกว่า 10% เกินความคาดหมาย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปชี้ 5 กลุ่มใหญ่โตยกแผง ยกเว้นอาหารทะเลยังติดลบจากโดนใบเหลืองไอยูยูฉุดวัตถุดิบขาดแคลน ขณะครึ่งหลังปัจจัยเสี่ยงยังอื้อ ทั้งเบร็กซิททำค่าเงินผันผวน วัตถุดิบเสี่ยงเสียหายจากฝนตกหนัก กระป๋องบรรจุภัณฑ์ขึ้นราคาขณะได้ Tier 2.5 ช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์สินค้า เล็งทั้งปีนี้ยังโตได้ 5%

[caption id="attachment_73407" align="aligncenter" width="700"] การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2559[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงภาวะการส่งออกสินค้าอาหารทุกประเภทของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ว่า มีมูลค่ารวม 4.04 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกอาหารสำเร็จรูปจากบริษัทสมาชิกของสมาคม(ราว 200 บริษัท) ใน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ทูน่า, อาหารทะเล, สับปะรดกระป๋อง,ผักและผลไม้, ข้าวโพดหวาน และอาหารพร้อมรับประทานและพร้อมปรุง คิดเป็นมูลค่า 8.27 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ด้านปริมาณของสินค้าทั้ง 6 กลุ่มมีการส่งออก 1.20 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.5%

“ตัวเลขการส่งออกข้างต้นถือว่าดีกว่าคาดหมาย ทั้งที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนัก และเผชิญปัญหาภัยแล้ง แต่สินค้าอาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการบริโภค สินค้าที่เราผลิตราคาไม่แพง ตัวเลขจึงยังออกมาค่อนข้างดี”

อย่างไรก็ตามหากแยกสินค้าอาหารสำเร็จรูปทั้ง 6 กลุ่มข้างต้น ในจำนวนนี้ 5 กลุ่มยังส่งออกเป็นบวก ยกเว้นกลุ่มเดียวที่การส่งออกขยายตัวลดลงคือกลุ่มอาหารทะเล ที่มีการส่งออก 4,478 ล้านบาท ติดลบ 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป(อียู) กรณียังมีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการที่เข้มงวด และเข้มข้นมากขึ้นในการจัดระเบียบการทำประมงใหม่ เรือจำนวนมากไม่สามารถออกหาปลาได้ ส่งผลถึงวัตถุดิบในการผลิตอาหารทะเลขาดแคลน

ส่วนในสินค้าที่ส่งออกเป็นบวก(ดูตารางประกอบ) เช่นสินค้าทูน่า ในช่วงต้นปีได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบทูน่าลดลงตามราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนของเรือประมง ทำให้ราคาขายสินค้าลดลงตาม และจากปัญหาไอยูยูทำให้ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศที่ไม่มีปัญหาไอยูยู ซึ่งเวลานี้ราคาน้ำมันและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทำให้สถานการณ์ส่งออกเริ่มเข้าที่และปรับตัวดีขึ้น

“สำหรับสินค้าที่เป็นพระเอก และส่งออกขยายตัวมากสุดใน 6 กลุ่มช่วง 5 เดือนแรกคือสับปะรดกระป๋องที่ขยายตัวถึง 37% ผลพวงจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และราคาขายสับปะรดกระป๋องปรับเพิ่มขึ้น จากผลผลิตสับปะรดของเกษตรกรช่วง 3-4 ปีก่อนราคาไม่ดีจึงลดพื้นที่เพาะปลูก พอมาปี 2558 ราคาวัตถุดิบขึ้นมาเฉลี่ย 5-7 บาทต่อกิโลกรัม ปีนี้แล้งราคาขึ้นมาเป็น 10-15 บาท/ต่อกิโลกรัมจูงใจปลูกกันมาก ผลดีจึงตกกับเกษตรกร”

ส่วนสินค้าที่ส่งออกได้ดีรองลงมาคือ กลุ่มผักและผลไม้ที่ภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ราคาวัตถุดิบและราคาน้ำไผลไม้กระป๋องปรับตัวสูงขึ้น ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเวลานี้คือน้ำมะพร้าวและน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ รวมถึงที่กำลังโตต่อเนื่องคือกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน และพร้อมปรุง

นายวิศิษฐ์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในครึ่งปีหลังว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ทั้งฝนที่เริ่มตกมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในแหล่งวัตถุดิบผัก ผลไม้ แต่หากฝนตกพอดีกับความต้องการก็จะส่งผลดี นอกจากนี้กรณีอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป(เบร็กซิท) จะส่งผลต่อค่าเงินในตลาดโลกที่ผันผวน ขณะที่บางประเทศเช่นจีนมีนโยบายค่าเงินหยวนอ่อน อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และราคาสินค้าไทยสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องบรรจุภัณฑ์เหล็กที่ขึ้นราคามาประมาณ 10% จะมีผลกับต้นทุนการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ใช้บรรจุภัณฑ์เหล็กปรับตัวขึ้นอีกประมาณ 3-5%

“อย่างไรก็ดีมีปัจจัยบวกจากกรณีที่สหรัฐฯขยับอันดับสถานะไทยดีขึ้น จากเทียร์ 3 เป็น เทียร์ 2 วอตช์ ลิสต์(เทียร์2.5) จะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยและสินค้าไทยดีขึ้น คู่ค้าจะมีความมั่นใจในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปีนี้เรายังยืนเป้าหมายการส่งออกอาหารสำเร็จรูปขยายตัวที่ 5% หรือมีมูลค่า 1.92 แสนล้านบาทค่า

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559