2 ปียังฝังใจไทยชวดข้าวอิรัก ไฟเขียวร่วมประมูลแต่ไม่ซื้อ/อินเดียคว้าชัย 8 หมื่นตัน

21 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
ไทยชวดประมูลขายข้าวให้อีรักครั้งแรก หลังถูกแบนรอบ 2 ปี วงการชี้ผลพวงยังแหยงคุณภาพข้าวไทย หลังบริษัทใหญ่ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเสียชื่อส่งมอบสินค้าด้อยคุณภาพ ล่าสุดอินเดียชนะประมูลข้าวนึ่งไปแล้ว8 หมื่นตัน รอบถัดมาเป็นข้าวขาวอีก 3 หมื่นตันยังไม่ประกาศ แต่คาดไม่มีชื่อไทยได้อานิสงส์ ขณะบิ๊กวงการหวังตลาดใหญ่อินโดฯ-ฟิลิปปินส์-แอฟริกาเร่งซื้อ Q4

[caption id="attachment_73381" align="aligncenter" width="700"] ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรกช่วง 5 เดือนแรกปี 2559 ประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรกช่วง 5 เดือนแรกปี 2559[/caption]

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าว เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่อิรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดนำเข้าข้าวรายใหญ่ได้เปิดประมูลซื้อข้าวจากต่างประเทศครั้งล่าสุด เป็นชนิดข้าวขาว 100% ชั้นสอง ปริมาณ 3 หมื่นตัน และยังไม่ประกาศผล แต่เชื่อว่าอิรักจะยังไม่ซื้อข้าวไทยในครั้งนี้ เห็นได้จากในการประมูลรอบก่อนหน้านี้เป็นชนิดข้าวนึ่งปริมาณ 8 หมื่นตัน มีบริษัทจากอินเดีย 2 รายชนะการประมูลและได้ข้าวไปทั้งหมด

“มองว่าอิรักยังฝังใจ เพราะ 2 ปีก่อนช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริษัทในเครือข่ายสยามอินดิก้าจากไทยได้ชนะการประมูลขายข้าวให้อิรัก โดยได้ข้าวราคาต่ำจากรัฐบาลไปประมูลและชนะการแข่งขัน แต่มีปัญหาในการส่งมอบข้าวที่คุณภาพต่ำไปให้เขา หลังจากนั้นเขาก็ไม่เชิญผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมประมูลอีกเลย แต่ล่าสุดในปีนี้เขาได้เปิดให้ไทยเข้าร่วมเสนอราคาแข่งอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ เขาคงกลัวมีปัญหาอีก”

ด้านนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า อิรักคงยังฝังใจเรื่องคุณภาพข้าวไทย จากก่อนหน้านี้จะนำข้าวจากไทย 8-9 แสนตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ในแต่ละปีอิรักจะมีการเปิดประมูลซื้อข้าวอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ที่ผ่านมาทางบริษัทฯได้เข้าร่วมประมูลข้าวอิรักผ่านเทรดเดอร์ในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เช่นกัน เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลช่วยไปเจรจาและแก้ปัญหา เพื่อที่อิรักจะกลับมาซื้อข้าวไทยอีกครั้ง

อย่างไรก็ดีการส่งออกข้าวของไทยในภาพรวมปีนี้คาดจะส่งออกได้ในระดับ 9.5 ล้านตัน จากช่วง 6 เดือนแรกคาดจะส่งออกไปแล้วประมาณ 5 ล้านตันโดยตลาดความหวังของไทยอยู่ที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่คาดจะเปิดประมูล(แบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี โดยในส่วนของประเทศหากชนะประมูลจะให้เอกชนเป็นคนส่งมอบเพราะจะเป็นข้าวใหม่ ไม่ใช่ข้าวค้างสต๊อก)นำเข้าช่วงปลายปีนี้ จาก 3 ประเทศนี้ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค

สำหรับในปี 2558/2559 อินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวประมาณ 1.1 ล้านตัน ในจำนวนนี้ซื้อจากไทยประมาณ 4.8 แสนตัน และซื้อจากเวียดนาม 6.5 แสนตัน คาดในปีนี้อินโดนีเซียจะนำเข้าไม่ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา โดย 5 เดือนแรกของปีนี้อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว 3.34 แสนตัน(ดูตารางประกอบ) ขณะที่ฟิลิปปินส์ ในปีที่ผ่านมามีการนำเข้าข้าว 1.3 ล้านตัน โดยซื้อจากไทย 5 แสนตัน และซื้อจากเวียดนาม 8.4 แสนตัน ส่วนมาเลเซีย ซื้อจากไทย 4.43 แสนตัน

“ในส่วนของมาเลเซียตั้งแต่ปีที่แล้วเราก็ได้ส่วนแบ่งตลาดกลับมาพอสมควร จากเดิมหากย้อนไปช่วง 2 ปีที่ไทยมีโครงการรับจำนำข้าว ราคาข้าวเราสูงมาก ไม่สามารถไปแข่งกับข้าวเวียดนามได้ พอรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาไม่มีโครงการแทรกแซงทำให้กลไกตลาดทำงาน เราก็ได้ส่วนแบ่งตลาดมาเลเซียกลับมา ปีที่แล้วก็ส่งไปมาเลเซียได้หลายแสนตัน”

ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศได้ขยับขึ้นเป็น 9,000-10,500 บาทต่อตัน เป็นผลจากผลผลิตข้าวในประเทศมีน้อยจากผลกระทบภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา และเกษตรกรอยู่ระหว่างลงมือทำนาปีในฤดูการผลิตใหม่ และผลจากมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งจากต่างประเทศที่ต้องใช้ข้าวเปลือกใหม่ในการผลิต แต่ข้าวขาดช่วง แม้กระทรวงพาณิชย์จะระบายข้าวในสต๊อกออกมามากในช่วงนี้ก็ไม่กระทบราคาข้าวเปลือกในประเทศ ดังนั้นอยากให้รัฐเร่งระบายข้าวออกมาเพื่อให้สต๊อกเหลือน้อยที่สุด ได้ลดภาระค่าเช่าคลัง และได้ไม่เป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวในอนาคต

“ราคาข้าวขาว 5% ส่งออกเอฟโอบีของไทย ณ เวลานี้อยูที่ 420 ดอลลร์สหรัฐฯต่อตัน เวียดนาม 375-380 ดอลลาร์ต่อตัน และอินเดียประมาณ 400 ดอลลาร์ต่อตัน ที่เราแพงกว่า เพราะของเราขาด และข้าวเปลือกราคาสูง ซึ่งไตรมาส 3 ตลาดใหญ่คือแอฟริกาชะลอการซื้อ แต่คาดจะกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย รวมถึงตลาดเอเชีย ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะกลับมาซื้อข้าวอีกครั้ง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559