เศรษฐกิจซบหั่นยอดตั้งโรงงานลดลง 6 เดือนอนุมัติกว่า 2.4 พันแห่งลงทุนจริง 2.3 แสนล.

21 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
กรอ.เผยยอดตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการ 6 เดือน ลดลงอยู่ที่ 2.42 พันแห่ง พร้อมกับเงินลงทุนที่ลดลงตาม 2.278 แสนล้าน ชี้เหตุผู้ประกอบการยังลังเลภาวะเศรษฐกิจ สอดรับกับการแจ้งเริ่มกิจการและแจ้งเริ่มขยายโรงงานลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2.057 พันแห่ง เงินลงทุน 2.35 แสนล้านบาท ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้รับการตอบรับที่ดีมียอดลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_73375" align="aligncenter" width="700"] ข้อมูลการอนุมัติประกอบและขยายกิจการโรงงานรายเดือน ข้อมูลการอนุมัติประกอบและขยายกิจการโรงงานรายเดือน[/caption]

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนักในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความลังเลที่จะลงทุนโดยเห็นได้จากสถิติการขอตั้งโรงงานและขยายโรงงานในช่วง 6 เดือน(ม.ค.- มิ.ย.59 ) ได้ปรับตัวลดลงจากจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,420 โรงงาน คิดเป็นมูลคาเงินลงทุน 2.278 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 9.687 หมื่นคน แบ่งเป็นการประกอบกิจการใหม่ 2,062 โรงงาน เงินลงทุน 1.39 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 5.15 หมื่นคน และในส่วนขยายกิจการโรงงาน จำนวน 358 โรงงาน เงินลงทุน 8.874 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 4.53 หมื่นคน ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขอตั้งโรงงานและขยายกิจการจำนวน 2,468 โรงงาน เงินลงทุน 2.42 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 8.589 หมื่นคน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขอประกอบกิจการใหม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารถึง 252 โรงงาน เงินลงทุน1.262 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าเป็นผลมาจากนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารขอตั้งโรงงานใหม่เป็นจำนวนมาก รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ 188 โรงงาน เงินลงทุน 5,893 ล้านบาท กลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 185 โรงงาน เงินลงทุน 1.035 หมื่นล้านบาท และผลิตภัณฑ์อโลหะ 168 โรงงาน เงินลงทุน7,711 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ขอการขยายกิจการส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเช่นเดียวกันมีถึง 71 โรงงาน เงินลงทุน 1.058 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ฯ 33 โรงงาน เงินลงทุน 3.57 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 27 โรงงาน เงินลงทุน 2.65 พันล้านบาท เป็นต้น

นายมงคล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ได้สะท้อนมาถึงยอดการแจ้งขอเริ่มประกอบการโรงงานและขยายกิจการในช่วงครึ่งปีแรกนี้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2,057 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุน 2.35 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 7.33 หมื่นคน แบ่งเป็นการแจ้งเริ่มประกอบการโรงงานใหม่จำนวน 1,809 โรงงาน เงินลงทุน 1.68 แสนล้านบาท และแจ้งเริ่มส่วนขยายโรงงาน 248 โรงงาน เงินลงทุน 6.70 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2.96 หมื่นคน ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการแจ้งเริ่มประกอบการและเริ่มส่วนขยายโรงงานจำนวน 2,542 โรงงาน เงินลงทุน 2.68 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 7.3 หมื่นคน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่แจ้งประกอบกิจการและแจ้งเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนใหญ่จะอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 287 โรงงาน เงินลงทุน 2 .05 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 194 โรงงาน เงินลงทุน 9,657 ล้านบาท ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ฯ 181 โรงงาน เงินลงทุน 2.908 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมของการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือว่าเป็นผู้ประกอบการให้การตอบรับค่อนข้างดี โดยเห็นได้จากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 13 กรกฎาคม 2559 มีการอนุมัติประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานอุตสาหกรรมแปรูปอาหาร จำนวน 345 โรงงาน เงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 52 โรงงาน เงินลงทุน 1.33 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 44 โรงงาน เงินลงทุน 3.64 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ จำนวน 15 โรงงาน เงินลงทุน 5,480 ล้านบาท เป็นต้น รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 8.11 หมื่นล้านบาท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559