ท่อเหล็กป่วนไม่เลิก! จีน เวียดนาม เกาหลี บุกหนักทุบกำลังผลิตหด

21 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่อุตสาหกรรมท่อเหล็กชนิดต่างๆ ได้รับผลกระทบ หลังจากที่คู่แข่งชิงความได้เปรียบในการส่งท่อเหล็กราคาถูกมาตีตลาดมากขึ้น อีกทั้งมีการนำเข้าโดยวิธีหลีกเลี่ยงภาษี ปัญหาลุกลามถึงผู้บริโภคปลายทางใช้ท่อเหล็กคุณภาพต่ำระบาดหนัก จากปัญหาที่สะสมมาทำให้ผู้ประกอบการผลิตท่อต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ขณะที่บทบาทภาครัฐมีมาตรการรับมือหรือร่วมแก้ไขปัญหาอย่างไร นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่นคนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว

[caption id="attachment_73377" align="aligncenter" width="437"] วรพจน์ เพียรอภิธรรม  นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น วรพจน์ เพียรอภิธรรม
นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น[/caption]

โดยนายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ฉายภาพรวมให้เห็นก่อนว่า ปัจจุบันท่อเหล็กชนิดต่างๆมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผู้ผลิตท่อเหล็กทั่วประเทศราว 50-60 ราย ในจำนวนนี้ 50% เป็นสมาชิกอยู่ในสมาคมผู้ผลิตท่อฯ โดยแบ่งตลาดท่อเหล็กออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ 1.ท่อเหล็ก สำหรับใช้งานก่อสร้าง งานนั่งร้าน 2.ท่อเหล็กสเตนเลสส์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร งานตบแต่ง 3.ท่อเหล็กสำหรับงานเฟอร์นิเจอร์ และ4.ท่อตะเข็บเกลียว สำหรับทำท่อส่งน้ำบาดาล วางระบบน้ำประปา ท่อผันน้ำ ท่อทำปลอกเสาเข็ม โดยท่อแต่ละชนิดมีกำลังการผลิตในประเทศรวมกันราว 2.3-2.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้ท่อเหล็กในประเทศอยู่ที่ 1.5-2 ล้านตันต่อปี และส่งออกราว5-10%

การแข่งขันรุนแรงขึ้น

เวลานี้ตัวเลขท่อชนิดต่างๆนำเข้ามามีสถิติตัวเลขสูงขึ้นจากที่เมื่อ2-3ปีที่แล้วมีการนำเข้าเพียง20%ของกำลังผลิตในประเทศ ที่ขณะนี้เพิ่มเป็น50% แล้ว โดยเฉพาะการนำเข้ามาจากจีน เวียดนาม เกาหลีที่มีสถิตินำเข้าเพิ่มขึ้นและ ขายในราคาเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ผลิตในประเทศไทย โดยนำเข้ามาขายในราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 1.50-1.60 หมื่นบาทต่อตัน ในขณะที่ผู้ผลิตท่อเหล็กของไทยขายในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.0-2.2 หมื่นบาทต่อตัน ส่งผลให้การผลิตท่อเหล็กในประเทศต้องลดกำลังผลิตลงเหลือ30-40% ของกำลังผลิตรวมที่มีอยู่ 2.3-2.5 ล้านตัน โดยจะเห็นว่าเกิดผลกระทบตั้งแต่ปี2558 ที่กระทบในกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งเป็นเหล็กต้นน้ำ ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตท่อเหล็ก ต่อเนื่องมาลามถึงกลุ่มท่อเหล็กซึ่งอยู่ในขั้นกลางน้ำที่มีกำลังผลิตลดลง ขาดสภาพคล่อง สูญเสียโอกาสทางตลาด บางรายก็หยุดกิจการไป

เมื่อโฟกัสมาที่การนำเข้าจะพบว่า ปัจจุบันท่อเหล็กจะมาจาก 3 ประเทศหลัก คือเวียดนาม เกาหลี และจีน ที่น่าจับตาคือเวียดนามที่ปัจจุบันมีการนำเข้าวัตถุดิบ(เหล็กผ่านรีดร้อน)ราคาถูกจากจีน เพื่อนำเข้ามาผลิตท่อเหล็กชนิดต่างๆเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกท่อเหล็กมายังไทยโดยผู้นำเข้ามากกว่า 10 ราย ทำหน้าที่นำเข้าท่อชนิดต่างๆมาจากเวียดนาม

อย่างไรก็ตามปลายปี2559 เวียดนามจะมีฐานการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศโดยการลงทุนของบริษัท FORMOSA กรุ๊ปส์ ผู้ผลิตเหล็กและปิโตรเคมีรายใหญ่ของไต้หวัน ตั้งฐานผลิตขนาดใหญ่ที่เวียดนาม ก็จะยิ่งกดดันให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กรุนแรงยิ่งขึ้น

ขณะที่จีนในช่วงที่ผ่านมานอกจากส่งออกเหล็กชนิดต่างๆมาตีตลาดแล้ว ยังส่งท่อสำเร็จรูปเข้ามาตีตลาด โดยการหลีกเลี่ยงภาษีมากที่สุด ส่งเหล็กเข้ามาหลากหลายพิกัด ท่อเหล็กธรรมดาไม่สามารถนำเข้ามาได้ก็นำไปเข้าพิกัดท่ออัลลอยล์ หรือหนีเข้าพิกัดท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ ท่อความดันสูง เหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินมาตรการเอดี จะเสียแค่ภาษีอากรขาเข้า1-5% ซึ่งตรงนี้ยังมีช่องโหว่ให้เกิดการหลีกเสี่ยงภาษีอยู่ อีกทั้งจีนมีการสนับสนุนให้ส่งออกท่อ โดยมีมาตรการทางภาษีจูงใจ หากผู้ประกอบการรายใดส่งออกท่อเหล็กชนิดต่างๆ ก็จะสามารถคืนภาษีได้ตั้งแต่ 12-18%ของมูลค่าการส่งออก

ด้านการนำเข้าท่อเหล็กสำเร็จรูปจากเกาหลี ส่วนใหญ่เป็นท่อเหล็กความดันสูง ใช้ในอุตสาหกรรมท่อน้ำ ท่อระบบต่างๆที่ใช้ในอาคารสูง ที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็มีผลิตทำให้เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ผลิตท่อรวมตัวกลุ่มเหล็กรับมือ

จากการนำเข้าท่อเหล็กชนิดต่างๆที่รุนแรงขึ้น ถ้ามาดูบทบาทของผู้ผลิตท่อ หลังจากที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่เหล็กต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่นต้องร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในนาม 7 สมาคม ประกอบด้วย 1. สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 2.สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 3.สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 4.สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5.สมาคมการค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี 6.สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน

7.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพื่อแก้ปัญหาเหล็กในประเทศ หาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้ หลังจากที่ปัญหาขยายวงกว้างขึ้นทั้งระบบในอุตสาหกรรมเหล็ก จากเดิมที่ดูเหมือนภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กจะขัดแย้งกันระหว่างผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำ กลางน้ำ ในเรื่องวัตถุดิบ เรื่องความต้องการใช้ แต่เมื่อเหล็กขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดได้รับผลกระทบ ก็จะลามเป็นลูกโซ่ทั้งระบบโครงสร้างเหล็ก เมื่อผู้ประกอบการทั้งระบบมารวมตัวกันได้ การทำงานในการตรวจสอบ หรือกำหนดมาตรฐานท่อเหล็กก็จะง่ายยิ่งขึ้น

การตื่นตัวในการแก้ปัญหาจากภาครัฐ

ส่วนการแก้ปัญหาของภาครัฐระยะหลังเริ่มเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น ทำให้บางหน่วยงานมีความตื่นตัว เริ่มจากบทบาทของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ในยุคที่มีนายธวัช ผลความดี เลขาธิการสมอ. ยอมรับว่ามีการใส่ใจในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ มีความเข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการ โดยเร่งผลักดันมาตรฐาน มีการติดตามงานต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ที่ล่าสุดเฉพาะท่อเหล็กชนิดต่างๆมีการปรับปรุงมาตรฐานอยู่ 4-5 มาตรฐาน ถ้ารวมทั้งกลุ่มเหล็กทั้งระบบแล้ว สมอ.อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรฐานรวมทั้งสิ้นราว28-29 มาตรฐาน คาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้

ด้านกระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างไต่สวนท่อเหล็กจากจีนและเกาหลี ส่วนเวียดนามที่เพิ่งยื่นไปก็น่าจะเป็นลำดับถัดไปที่จะไต่สวน เพียงแต่ในช่วงรอประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดีออกมา ที่ยังต้องใช้เวลานาน ทำให้ ผู้ประกอบการท่อเหล็กยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ เช่น พิจารณาปกป้องภาษีนำเข้าครอบคลุมการผลิตทั้งหมดที่มาจากจีนและเกาหลี ที่ปัจจุบันมีการนำเข้ามามากเพราะเสียภาษีอากรขาเข้าเพียง1-5% เท่านั้น โดยคาดว่าอัตราการคุ้มครองชั่วคราวน่าจะยืนอยู่ที่ 30-50% โดยคุ้มครองได้ประมาณ 6 เดือนนับจากวันประกาศ จนกว่าจะมีมาตรการจัดเก็บภาษีเอดีออกมาใช้กับท่อเหล็ก

สำหรับบทบาทของกรมศุลกากร ก็มองเห็นความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก มีการติดตามการนำเข้าส่งออก เพียงแต่ในขั้นตอนการปฏิบัติงานยังต้องทำงานร่วมกันทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ให้มากขึ้น เพียงแต่เวลานี้การนำเหล็กต้องผ่านพิธีการต่างๆ มีหลักปฎิบัติบางประการไม่ชัดเจน เช่น การออกใบอนุญาตตรวจปล่อยที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร และสมอ. ยังมีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันที่จะต้องมานั่งแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น

มองการพัฒนาท่อเหล็ก

นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ยังมองถึงเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและการบริโภคท่อเหล็กของไทยให้มีการเติบโตอย่างยั้งยืนว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทาง สมาคมฯได้ร่วมก่อตั้ง สมาคมเหล็กโครงสร้างไทย(TSSS) เพื่อพัฒนารูปแบบและสนับสนุนการใช้เหล็กให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูง โดยสมาคมเหล็กโครงสร้างไทย เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างเหล็ก รวมถึงภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก และกลุ่มผู้รับเหมางานโครงสร้างเหล็ก

“เราต้องการยกระดับให้การใช้ท่อเหล็กมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเวลานี้ท่อเหล็กเข้าไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า เครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร และเน้นในเรื่องคุณภาพท่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เหมาะสมต่อการใช้งาน”

สุดท้ายนายวรพจน์ อยากเห็น ประโยชน์ที่เกิดจากความแข็งแกร่งในเรื่องการผลิตท่อเหล็กโดยอาศัยความเชี่ยวชาญที่มี รวมถึงประสบการณ์ที่มีมากที่สุดในอาเซียน เร่งผลักดันให้มีการส่งออกท่อเหล็กชนิดต่างๆที่มีคุณภาพออกไปสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการส่งออกท่อมีเพียง 5-10% เท่านั้น

Photo : Pixabay ภาพปก ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559