บุกญี่ปุ่นดูงานเศรษฐกิจสีเขียว ยลต้นแบบจัดการขยะให้อยู่หมัด (ตอนจบ)

21 ก.ค. 2559 | 11:00 น.
นอกจากจังหวัดไซตามะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมือง Eco-Town ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนแล้ว คณะศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวนำโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) ยังได้ไปเยือนจังหวัดเล็กๆที่ชื่อว่า “ยามานาชิ” (Yamanashi) ที่นี่เป็นอีกหนึ่งสังคมตัวอย่างด้านการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่เพียงช่วยให้สามารถประหยัดการใช้พลังงาน แต่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

[caption id="attachment_73403" align="aligncenter" width="500"] Eco-Town Eco-Town[/caption]

ยามานาชิเป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำและคลองหลายสาย ในปี 2549 ทางจังหวัดมีความริเริ่มเกี่ยวกับการรณรงค์ลดสภาวะโลกร้อนและการประหยัดพลังงาน จึงได้มีการจัดทำโครงการสร้างกังหันน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในส่วนงานราชการ สำนักงานเขตสึรุ (Tsuru) เป็นหน่วยงานดูแลการดำเนินงานและบำรุงรักษากังหันน้ำ 3 แห่งและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 120 ล้านเยน ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งใช้การออกตราสารหนี้ระดมทุนมาใช้ในการก่อสร้าง กังหันทั้งสามติดตั้งอยู่บนคลองลำเลียงน้ำซึ่งแยกมาจากแม่น้ำคัตสึระที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ความลาดชันน้อยของท้องน้ำมีความเหมาะสมสำหรับการติดตั้งกังหันน้ำแบบเกลียวและแบบขั้นบันได ซึ่งให้กำลังการผลิตแตกต่างกันไปคือ 7 กิโลวัตต์ 10 กิโลวัตต์ และ 15 กิโลวัตต์ ตามลำดับ กระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นนำมาใช้ในอาคารสำนักงานเขตทั้งหมด

คุณยูจิ อันโนะ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เจเอจี ซีเบลล์ จำกัด ผู้ติดตั้งกังหันพลังน้ำทั้งสามแห่ง เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและกังหันน้ำทั้ง 3 แห่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นและด้านเทคโนโลยีจากรัฐบาลออสเตรเลีย เป้าหมายหลักคือต้องการที่จะให้เป็นต้นแบบของการประหยัดพลังงาน “กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี ถ้าหากไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้น้ำไหลไปเปล่าๆ กลายเป็นพลังงานที่สูญเปล่า แต่เมื่อมีกังหันน้ำ เราก็ได้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดนี้มาใช้ประโยชน์อย่างที่เห็น และอีกประเด็นสำคัญก็คือ แม่น้ำของที่นี่เป็นต้นน้ำที่ไหลไปยังกรุงโตเกียว เราอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่เมืองนี้ก็จะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวมีน้ำสะอาดใช้ไปด้วย”

[caption id="attachment_73402" align="aligncenter" width="500"] Eco-Town Eco-Town[/caption]

นอกจากการอนุรักษ์น้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำในการผลิตพลังงานสะอาดแล้ว ในจังหวัดยามานาชิยังมีสถานที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกและทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ เรียกว่า Recycle Station Box ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชน เช่น ติดกับลานจอดรถของซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ประชาชนนำขยะหรือสิ่งของไม่ใช้แล้ว มาทิ้งไว้ที่นี่โดยแยกประเภทไว้เสร็จสรรพเพื่อสะดวกต่อกระบวนการกำจัดและรีไซเคิลขยะในขั้นต่อไป

  พลังสนับสนุนด้านงานวิจัย

AIST หรือ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology เป็นองค์กรวิจัยของภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เน้นสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและสังคม เชื่อมโยงการสร้างเทคโนโลยีกับการค้าโดยให้ความสำคัญกับ Green Technology ตั้งอยู่ที่อำเภอสึขุบะ (Tsukuba) จังหวัดอิบารากิ ที่นี่จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะให้ความสนับสนุนด้านผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีแก่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น บริษัทใดมีไอเดียดีหรือแนวคิดที่อยากให้นักวิจัยได้นำไปศึกษาต่อยอดเพื่อพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ก็สามารถเข้ามาปรึกษาหารือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับหน่วยงานสาขาต่างๆของ AIST ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ปฏิบัติการ SURE ซึ่งก่อตั้งในปี 2557 ภายใต้ AIST เพื่อเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่าง AIST กับบริษัทและสมาคมภาคธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนา “เหมืองแร่ในเมือง” หรือ Urban Mining ซึ่งหมายถึง แร่หรือโลหะที่มาจากวัสดุหรือผลิตภัณฑ์เหลือใช้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหรือจากอุตสาหกรรม พูดอีกอย่างก็คือ มันเป็นวัสดุที่เคยเป็นขยะมาก่อน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ถูกทิ้งและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อแยกชิ้นส่วนที่เป็นโลหะที่ยังมีประโยชน์หรือมีราคาออกมา

SURE เป็นผู้วิจัย-พัฒนา และผลิตเครื่องรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีส่วนผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องรีไซเคิลในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้ว่า กลไกจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสนับสนุนด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยี หรือด้านการวิจัย ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นสามารถเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านการคัดแยก รีไซเคิล และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ครอบคลุมในทุกมิติ ที่สำคัญคือภาครัฐมีนโยบายและตัวบทกฎหมายที่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการสร้างสรรค์สังคมที่มีการบริหารจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้พลังงานธรรมชาติอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

[caption id="attachment_73401" align="aligncenter" width="500"] Eco-Town Eco-Town[/caption]

  การต่อยอดและบริบทของไทย

“การได้มาศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นครั้งนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการได้มาเห็นปัจจัยต่างๆที่ทำให้การบริหารจัดการขยะของเขาประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ” คุณนพดล โปธิตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชียงใหม่ เอ็นไวรอนเม้นท์ โปรเทค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเตาเผาขยะแบบลดมลพิษและประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัล “สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประจำปี 2553” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ให้ความเห็นพร้อมทั้งระบุว่า ประเทศไทยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศไหนๆ แต่การบริหารจัดการขยะในบริบทของไทย อาจจะมีความยุ่งยากและมีอุปสรรคมากจากหลายๆปัจจัยด้วยกัน “ทุกวันนี้เรายังกำจัดขยะแบบโยกย้าย เปลี่ยนที่ขยะมากกว่า เช่น เทศบาลให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานมาขนขยะไปทิ้ง ก็ถือเป็นการกำจัดขยะแล้ว แต่ไม่ได้ไปสนใจดูปลายทางอีกว่าเขาเอาขยะไปทิ้งที่ไหน จัดการอย่างไร จึงไม่ได้เป็นการกำจัดขยะให้หมดไป หรือไม่ได้นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างประโยชน์จากขยะเท่าที่ควรจะเป็น การเผาขยะเป็นการกำจัดขยะวิธีหนึ่งที่เป็นทางเลือกนอกเหนือไปจากการเททิ้งหรือฝังกลบ ทุกวันนี้ เรามีเทคโนโลยีเตาเผาขยะที่ลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศ และราคาก็ไม่ได้แพงเกินไป องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถลงทุนเพื่อติดตั้งระบบเอาไว้ใช้กำจัดขยะในชุมชนได้ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง(ในการกำจัดขยะ) มีเรื่องของผลประโยชน์ และอื่นๆซึ่งเป็นบริบทของสังคมไทย” นอกจากนี้ เขายังมองว่า เรื่องของการบริหารจัดการขยะนั้น ต้องมองต้นทางคือการ “กำจัดขยะ” เป็นที่ตั้ง หรือเป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่มุ่งไปที่ปลายทาง คือการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือการผลิตก๊าซชีวมวล ซึ่งเป็นเรื่องของผลพลอยได้จากกระบวนการหมักและเผาขยะ

สอดคล้องกับทรรศนะของคุณเกียรติศักดิ์ วังประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท รักษ์บ้านเรา จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะเทศบาลซึ่งสามารถนำก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ยอินทรีย์ ที่ระบุว่า สิ่งที่สังคมไทยยังขาดอยู่และทำให้การบริหารจัดการขยะแตกต่างจากที่ญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิงคือ กระบวนการคัดแยกขยะก่อนเข้าสู่การรีไซเคิล ซึ่งญี่ปุ่นมีทั้งกฎหมายและความร่วมมือจากภาคประชาชนและเอกชนอย่างเคร่งครัด ทำให้เมื่อขยะมาถึงมือบริษัทที่รับรีไซเคิลขยะ เช่น โรงเผาขยะ ทางโรงงานจึงได้ขยะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนำไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือไปหมักทำก๊าซชีวมวลและอื่นๆ หรืออย่างน้อยก็ทำให้โรงงานคัดแยกขยะอีกครั้งได้ง่ายขึ้น แต่บริบทของไทยไม่เป็นเช่นนั้น “การทิ้งขยะของบ้านเรายังไม่มีการแยก คัด ตามประเภทที่เหมาะสม ทำให้โรงงานได้รับขยะที่เมื่อนำไปเผาแล้วเกิดไดออกซินสูง ต้องเพิ่มขั้นตอนและกระบวนการในการลดไดออกซิน ลดสารพิษจากการเผาขยะ ประเด็นการเผาขยะที่ก่อให้เกิดสารพิษนี้ยังนำไปสู่ความวิตกกังวลของประชาชน ทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่อยากเอาโรงงานเผาขยะมาไว้ในชุมชน ซึ่งความจริงแล้ว เราสามารถลดสภาวะแบบนั้นได้โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะอย่างเหมาะสมอย่างที่เราเห็นในสังคมญี่ปุ่น”

หมายเหตุ : การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจสีเขียว” ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) มีขึ้นระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559