เกาะเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.พร้อมออกเกณฑ์ร่วมก.ล.ต.ป้องเสี่ยงปลายหาง Brexit

22 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
“วิรไท” ผู้ว่าการ ธปท.ยันเสถียรภาพระบบการเงินและแบงก์ไทยยังแกร่ง-มีกันชนต่อแรงกระทบต่างประเทศ แต่เริ่มเปราะบางในกลุ่มเอสเอ็มอี/ครัวเรือนเกษตรความสามารถชำระหนี้ลด-ติดตามความเสี่ยงปลายหาง Brexit สภาพคล่องล้นกดดันเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ เผยตั้งคณะทำงาน กสร.ดูแล/ติดตามความเสี่ยงทั้งใน-นอกธปท.พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกลต.เพื่อออกเกณฑ์ร่วมกัน หวังจับควันให้ไว ดับไฟให้ทันป้องกันอย่าให้ลาม

[caption id="attachment_73447" align="aligncenter" width="355"] ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ Financial Stability ว่า ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ คือ ระบบการเงินที่สามารถทนทานต่อแรงกดดันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และต้องทำหน้าที่สนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง โดยการดูแลระบบการเงินไม่ใช่แค่เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดการเงิน-ตลาดทุน งานหลังบ้าน และระบบการบริหารความเสี่ยง เพราะหากเกิดปัญหาจากจุดใดจุดหนึ่งจนนำไปสู่วิกฤติการเงิน หรือสร้างปัญหาให้ทั้งระบบ (Systemic Risk)

ดังนั้น ธปท.จะต้องจับสัญญาณความเปราะบางให้เร็ว เพราะปัจจุบันโลกเกิดคำว่า “VUCA” ที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ซับซ้อน และไม่ชัดเจน อันเกิดจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงที่ปลายหาง (Tail Risk) เช่น เหตุการณ์ Brexit หรือความเสี่ยงที่เกิดจากภาระหนี้ครัวเรือน ช่องว่างของนโยบายด้านการเงิน-การคลังที่แคบลง ราคาน้ำมัน และภัยแล้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ

ที่ผ่านมาเดือนเมษายน ธปท.ได้ตั้ง “กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ กสร.ที่จะเข้ามามีบทบาทดูแลความเสี่ยงมหภาค และติดตามดูแลความเสี่ยงจากภายในและภายนอกธปท. โดยดูความเชื่อมโยงระบบการเงิน จัดทำข้อเสนอแนะและพัฒนากลไกการออกแบบนโยบายกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ(Macro prudential Policy) โดยจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีความเสี่ยงธปท.ได้นำเครื่องมือต่างๆ มาใช้เพื่อลดความเสี่ยง เช่น การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารพาณิชย์ หรือการควบคุมอัตราการปล่อยสินเชื่อต่อหลักประกันภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านกฎ LTVหรืออัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR)เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการป้องกันความเปราะบางที่จะเกิดขึ้น และธปท.พร้อมปรับนโยบายให้กับสภาวะแวดล้อมที่เป็นจริง

“จะเห็นว่าธนาคารกลางหลายประเทศ การเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดจึงเห็นธนาคารกลางหลายประเทศมีการตั้งหน่วยงานใหม่ๆ เข้ามา เช่น มาเลเซียอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจัยมาจากธนาคารกลางบางแห่งไม่มีอำนาจเพียงพอ หรือเครื่องมือที่ดูแล/ขาดการประสานงานกันของหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีช่องโหว่ หรือการขยายขอบเขตการกำกับดูแล ดังนั้นการตั้งกลุ่มงาน กสร.จึงไม่ใช่เรื่องใหม่”

ดร.วิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แข็งแรง ทั้งในส่วนของเงินกองทุนและเงินตั้งสำรอง แต่เริ่มมีความเปราะบางในบางจุด เช่น กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และครัวเรือนเกษตรที่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ตาม การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังไม่หวือหวามาก แต่เป็นการปล่อยสินเชื่อที่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอัตราน้อยกว่าช่วงที่เกิดอุทกภัย ซึ่งโดยรวมเอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 2.64% ส่วนเสถียรภาพการเงินด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งในแง่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ดุลบัญชีเดินสะพัด

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน (Search for yield) โดยไม่มองความเสี่ยงที่จะได้รับ และการประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น (Underpricingof risks) เนื่องจากทั่วโลกอยู่ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยตํ่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ธปท.ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น เพราะเป็นความเปราะบางระยะยาว

ส่วนปัจจัยนอกประเทศจะเป็นเรื่องของผลจาก Brexit ที่เหมือนจะดูสงบนิ่งแต่อาจจะมีความผันผวนต่อในระยะกลางและยาว ซึ่งจะต้องติดตามการเจรจาออกจากอียู และปฏิกิริยาของประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนมีผลต่อเงินทุนไหลเข้าและไหลออก อัตราแลกเปลี่ยน (FX) เพราะสภาพคล่องของโลกจะอยู่ในระบบ เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่มีความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้นโยบายการเงินอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย ดังนั้นสภาพคล่องทั่วโลกที่สูงนั้นเปรียบเหมือนนํ้าสามารถไหลเข้าและไหลออกไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งธปท.จะต้องติดตามไม่ให้นํ้าที่ไหลนั้นไปในทางที่เป็นอันตรายเพราะสถานการณ์ Brexit ทำให้มุมมองจากเดิมที่เป็น Risk on EU มาเป็น Riskon Emerging Market แม้ปัจจุบันไม่มีปัญหาแต่ต้องติดตามสถานการณ์

“เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังดีอยู่ แต่มีความเปราะบางในบางจุด เกณฑ์ต่างประเทศยังดีมีกันชนต่อแรงกระทบ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงปลายหาง เช่น Brexit ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน โดยธปท.ได้มีเครื่องมือรองรับ พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างธปท.และกลต.เพื่อออกเกณฑ์ร่วมกัน ภายใต้การทำงานที่ ต้องจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม”

ดร.วิรไท กล่าวถึงประเด็นเรื่องตัวเลขอัตราการว่างงานที่ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% จากเดิมที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ว่าเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เพราะอัตราการว่างงานที่อ่อนไหวมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ จะเห็นการฝืดตัวเล็กน้อย เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ตรงกับความต้องการในระบบ อย่างไรก็ดี หากดูในภาคอื่นจะเห็นอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากสถานการณ์ภัยแล้งกลับมาเป็นปกติคาดว่าแรงงานภาคเกษตรจะกลับสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559