พร้อมเพย์ เข้าใจ เข้าถึง ยกระดับรับโอนเงินสะดวกและปลอดภัย

23 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
ท่ามกลางความสับสนเรื่องบริการโอนเงินและรับโอนเงิน “พร้อมเพย์” คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนา เรื่อง“พร้อมเพย์.....เข้าใจ....เข้าถึง”เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ระบุถึงวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่รวบรวมความเห็น ลดความสับสนให้ระบบเดินหน้าอย่างปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นสู่สาธารณะ

ขณะที่ “วรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสนช.และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินและตลาดทุนกล่าวปาฐกว่า “พร้อมเพย์”เป็นบริการรับเงินที่สะดวก ปลอดภัยขึ้นโดยใช้หมายเลขประจำตัวบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีธนาคาร โดยหวังว่าระบบของประเทศจะมีความก้าวหน้า ด้วยการยกระดับการใช้จ่ายที่สะดวกปลอดภัยทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐสู่ Cashless /Cardless ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ความร่วมมือของหลายองค์กรภายในประเทศ เป็นการเชื่อมโลกสู่ไทยและเชื่อมไทยสู่โลก

ขณะที่เวทีเสวนา “บัญชา มนูญกุลชัย” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและกำกับระบบการชำระเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงเรื่องความปลอดภัย ที่ยืนยันว่าพร้อมเพย์ เป็นระบบกลางในการชำระเงินของ NITMX ซึ่งทำระบบมานานเกือบ 20ปี โดยเริ่มตั้งแต่ให้บริการATM Pool(2536) เชื่อมตรงระหว่างธนาคาร (บุคคลภายนอกเข้าไปไม่ได้) ทุกวันนี้ให้บริการชำระเงินระหว่างธนาคารสูงถึง 4ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 3หมื่นล้านบาท อีกทั้งยืนยันว่าแค่คนอื่นรู้หมายเลขโทรศัพท์มือถือไม่สามารถเอาเงินออกจากบัญชีธนาคารได้ เพราะผู้โอนเงินจะใช้ Password / Username ทางฝั่งผู้รับบัญชีทางธนาคารก็ยังมีกระบวนการยืนยันตัวตนสามารถเช็คสอบได้

“ตอนนี้ธปท.พยายามสื่อสารผ่านเฟสบุ๊ค และทางไลน์ให้ศึกษาเพิ่มเติม และเป็นช่องทางเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มมากขึ้นรวมทั้งฝากให้ประชาชนยกระดับความรู้ตัวเองด้วย แม้กระทั่งไม่ควรตั้ง Password ที่ง่ายนัก นอกจากนี้ธปท.ยังมีการทดสอบระบบร่วมกับคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบ”

 ทุกแบงก์มีระบบหลังบ้านรักษาความปลอดภัยสูง

สอดคล้องกับ “อนุชิต อนุชิตานุกูล” ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินในฐานะผู้วางระบบดังกล่าวยืนยันว่า การลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้น เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการความสะดวก หรือจ่ายค่าธรรมเนียมถูกลง และลดการให้ข้อมูล ไม่ว่าตัวบุคคลหรือนิติบุคคล เพราะเมื่อต้องการรับโอนเงินก็แจ้งเพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหลักการพร้อมเพย์ ที่สำคัญคือ มีไว้เพื่อรับเงินเท่านั้น ซึ่งโครงสร้างยังวางระบบเพื่อการซื้อขายเพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ประกอบการค้าว่าจะได้รับเงิน และลดคนส่งเอกสาร ไม่ต้องส่งมอเตอร์ไซด์ไปวางบิล เช่น อดีตเพราะการลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นการลดรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลลง เนื่องจากปัจจุบันธนาคารจะมีฐานข้อมูลลูกค้าทั้งหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือไว้คู่กับบัญชีเงินฝากอยู่แล้ว ขณะที่การลงทะเบียนพร้อมเพย์ เป็นการอ้างถึงตัวบุคคลผ่านเพียง 2หมายเลข (บัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขเบอร์มือถือ) ทั้งตัวบุคคลและผู้ประกอบการมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะแจ้งข้อมูลน้อยลง

ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ช เดิมต้องแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารให้คู่ค้า (ซึ่งอาจจะมีหลายหมายเลขบัญชี) แต่พร้อมเพย์จะมีเพียง 2หมายเลขเท่านั้น ดังนั้นอยากให้ประชาชนศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อสามารถกรองข้อมูลถูกผิด ไม่อยากให้สับสนหรือตกเป็นเครื่องมือนักเลงคีย์บอร์ด ซึ่งพร้อมเพย์เป็นระบบโอนรับเงินที่อัพเดตขึ้นโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลน้อยลงด้วยซ้ำ ซึ่งระบบถูกออกแบบให้ประชาชนเลือกใช้ชื่อแทนบัญชีธนาคาร(หมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือ)

เช่นเดียวกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการรัฐ คือ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการรับสวัสดิการหรือลดหย่อนเงินภาษีเท่านั้น โดยการลงทะเบียนจะทำให้ภาครัฐสามารถส่งตรงเงินช่วยเหลือหรือเงินเคลมภาษี เหล่านี้เป็นเพียงขารับเงินเท่านั้น ส่วนการเบิกถอนยังคงใช้ลายเซ็นต์หรือรหัสของเจ้าของบัญชีตามขั้นตอนของแต่ละธนาคารอยู่ดี (เปิดลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15 กรกฏาคม-15สิงหาคม)

“ข้อมูลผู้รับเงินจะอยู่กับแบงก์เดิมทุกอย่าง ซึ่งผู้โอนหรือใครไม่สามารถไปล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวซึ่งใครที่กลัวจะถูกแอคแทคทางอินเตอร์เน็ตทำไม่ได้ เพราะแต่ละแบงก์จะมีระบบหลังบ้านรักษาความปลอดภัยอยู่”

ด้าน“ยศ กิมสวัสดิ์” ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า พร้อมเพย์ดีไซน์โครงสร้างพื้นฐานให้ตอบสนองความต้องการโอนเงินได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าธรรมเนียม การใช้โมบายหรือสมาร์ทโฟนและมุ่งลดการใช้เงินสดลง 30% (ผลงานวิจัยของเบเคอร์แอนด์แมคเคนซีระบุค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเงินสดทั้งประเทศอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินสด 80% ที่เหลือเป็นการใช้เดบิดการ์ด20%) ซึ่งน่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านเงินสดต่อปีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท

ส่วน “ทรงพล ชีวิปัญญาโรจน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า พร้อมเพย์ เป็นการโอนเงินที่ระบุผู้รับชัดเจน ซึ่งบุคคลที่ต้องการรับต้องผูกบัญชีธนาคารโดยเลือกระหว่างบัตรประจำตัวประชาชน/ เบอร์มือถือ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนที่ใช้บริการทางการเงินอยู่เป็นประจำ ดังนั้น เจตนาของคนทำระบบต้องการให้เกิดความแพร่หลาย ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ซึ่งที่สำคัญหากสามารถทำความเข้าใจ การครอบคลุมของพื้นที่ก็จะมากขึ้น

“รูปแบบของการผูกกับบัญชีธนาคารนั้น เพราะเราจะมีบัญชีที่ใช้ประจำกับบัญชีที่ใช้ไม่ประจำ ส่วนตัวผมจะเลือก 2บัญชีคือ แยกผูกบัญชีธนาคารกับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อรับบริการ หรือผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อเดินบัญชี เพื่อเป็นกระเป๋าเงินโดยไม่ควรเก็บเงินไว้เยอะ ซึ่งการลงทะเบียนเป็นการแจ้งความประสงค์ให้กับคนเก็บข้อมูลส่วนกลางรับรู้ว่าต้องการผูกบัญชีเพื่อรับเงิน กรณีการเบิกถอนยังเป็นขั้นตอนที่ต้องยืนยันตัวตนโดยมี One time Password/รหัสยืนยันเช่นเดิม”

“อรนุช ไวนุสิทธิ์” ที่ปรึกษา ด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลางระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป การจ่ายเงินค่าตอบแทนต่างๆ นอกจากเงินเดือน ค่าจ้างให้โอนเข้าบัญชี หากมีการโอนต่างธนาคารวงเงินต่ำกว่า 5,000บาท/รายการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ พร้อมเพย์ทำให้ภาครัฐทำงานง่ายขึ้นซึ่งกรมพยายามพัฒนาระบบรองรับและพยายามโอนเงินเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิให้มากที่สุดในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559