CIMBT เล็งจับมือฟินเทคเจาะธุรกิจ SMEs หวังดันรายได้ธุรกรรมการเงินโต 70-80%

23 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งทีมงานลุยจับมือฟินเทค พัฒนาโปรดักต์รุกกลุ่มเอสเอ็มอี คาดก่อนสิ้นปีเห็นโฉมหน้าพันธมิตร หลังคุยแล้ว 10 ราย ชูจุดแข็งเครือข่ายอาเซียนพาลูกค้าลงทุน วางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ดันรายได้ธุรกรรมการเงินโต 70-80% มาร์เก็ตแชร์แตะ 4-5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%

นายพิสิทธิ์ สุจริตโศภิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากเทคโนโลยีฟินเทค (Fintech) ที่เข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบันมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บริษัทแม่ หรือซีไอเอ็มบี กรุ๊ป จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยซีไอเอ็มบี ไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทด้วย โดยกลยุทธ์มี 2 รูปแบบ คือ 1. ผลักดันบริษัท ฟินเทคมาช่วยหาผลิตภัณฑ์ให้ และธนาคารจะเป็นผู้ช่วยด้านลงทุน และ 2.นำกระบวนการและนวัตกรรมของฟินเทคมาใช้งานรูปแบบอาจจะแตกต่างกัน โดยกรุ๊ปจะเน้นหาบริษัท ฟินเทคฯและร่วมลงทุน แต่ในส่วนของประเทศไทยจะนำผลิตภัณฑ์จากฟินเทคมาใช้งาน หรือการร่วมมือกับฟินเทคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งภายในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ธนาคารจำเป็นต้องเข้าไปอยู่กับฟินเทคอย่างเต็มรูปแบบ

ปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งทีมทำงานชื่อว่า Business Development & Innovation หรือฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ซึ่งมีทีมงานเบื้องต้น 15 คน เข้ามาดูแลเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ของธนาคาร โดยจะดูแลเรื่องนำวิวัฒนาการจากฟินเทคมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ เนื่องจากธนาคารเน้นเป็น Open Platform ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพูดคุยกับฟินเทคที่มีฟังก์ชันตรงกับธุรกิจแล้วประมาณ 10 ราย ซึ่งแต่ละรายจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน หรือเก่งคนละด้าน เช่น การโอนเงิน ตรวจเอกสาร การรูดเครดิต เป็นต้น ทำให้ธุรกิจไม่ทับซ้อนกัน คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีความชัดเจนเรื่องของพันธมิตร และผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ เป้าหมายฟินเทคที่จะนำมาใช้เริ่มจากผลิตภัณฑ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะธนาคารเป็นธนาคารขนาดเล็ก และตลาดลูกค้าจะเน้นธุรกิจเอสเอ็มอี หากมีฟินเทคเข้ามาจะช่วยให้ธนาคารขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคในอาเซียน ซึ่งเป็นจุดแข็งของธนาคารซีไอเอ็มบี กรุ๊ปที่มีเครือข่ายในภูมิภาคค่อนข้างมาก อาทิ อินโดนีเซียมีสาขามากกว่า 400-500 แห่ง หรือมาเลเซียสาขามากกว่า 500-600 แห่งโดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเบื้องต้น จะประกอบไปด้วย การชำระเงิน (Payment) การทำธุรกรรมทางการเงิน (Transaction Banking) และธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นต้น

ดังนั้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี หลังจากมีฟินเทคเข้ามาช่วยต่อยอดนวัตกรรม ธนาคารคาดว่ารายได้จากธุรกรรมทางการเงิน (Transaction Banking) จะขยายตัวตามฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าในช่วง 3 ปี อัตราการเติบโตในแง่ของรายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 70-80% ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จะเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ซึ่งขยายตัวตามธุรกรรมการเงินของตลาดที่เติบโตประมาณ 3-5% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการขยายตัว จะมาจากแรงผลักดันการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนของรัฐบาล และนโยบายเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพย์เมนต์ ซึ่งสอดคล้องกับฟินเทคที่เข้ามา

“เรื่องของฟินเทคเข้ามานานแล้ว ทั้งในเรื่องของเพย์เมนต์เกตเวย์ อีวอลเล็ต ในรูปแบบของรายย่อยและอีคอมเมิร์ซ แต่ในอีก 2-3 ปี รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งธนาคารจะทำอย่างไรที่จะนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งทางกรุ๊ปมีแผนในเรื่องนี้ โดยเน้นหาฟินเทคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแบงก์ เพื่อช่วยลดต้นทุน ไม่เน้นเป็นโปรดักต์หรือเซกเมนต์ไหน แต่ของไทยจะใช้วิธีจับมือกับฟินเทคที่มีอยู่ แล้วเจาะกลุ่มเอสเอ็มอี โดยอาจจะมีการแบ่งรายได้กัน ส่วนกรุ๊ปในภูมิภาคจะแตกต่างกันตามโจทย์ของแต่ละประเทศ แต่จะมีการแชร์กันในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งกันและกัน"นายพิสิทธิ์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559