บก.ปอศ.บุกจับองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

15 ก.ค. 2559 | 09:45 น.
วันนี้(15 ก.ค.2559) พ.ต.อ.สมพล อิสสระเสรี รอง ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ทองศรีวงศ์ ผกก.๔ บก.ปอศ. ได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. และ พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร รอง ผบก.ปอศ. ได้สั่งการให้  พ.ต.ท.เทียนชัยฯ กับพวก  เข้าตรวจค้น หจก.เอ็มทีซี เอ็นเตอร์ไพรส์  เลขที่ 58/28 หมู่ที่ 3 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.ชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559  พบแผ่นดีวีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์เปเรชั่น จำนวน 8 รายการ 423  ชิ้น จึงได้จับกุมตัวเจ้าของผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าว และแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขายซึ่งงานวรรณกรรม(โปรแกรมคอมพิวเตอร์) โดยไม่ได้รับอนุญาต และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนต่อไป

reEXTC0032 กรณีของกลางดังกล่าว เป็นการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ราคาลิขสิทธิ์ วินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ ๒๐๑๒ (Windows Server 2012) ในราคา 10,900 บาท วินโดวส์ 10 โปร ยูเอสบี บ๊อกซ์ (Windows 10 Pro, USB Box) ในราคา 7,000 บาท และ ออฟฟิศโฮม แอนด์ บิสสิเนส 2016 (Office Home & Business 2016) ในราคา 5,800 บาท ต่อรายการ การจำหน่ายหรือเผยแพร่ จะถูกดำเนินคดีฐานละเมิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 8 แสนบาท

บริษัทไมโครซอฟท์ได้ติดตั้งโปรแกรมในการตรวจสอบการจัดจำหน่ายและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่อยู่บนระบบออนไลน์ โดยโปรแกรมจะแจ้งเตือนหากตรวจพบว่ามีการจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ซึ่งการเข้าจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากผลการแจ้งเตือนจากโปรแกรมดังกล่าว โดยขณะนี้ยังมีอีกหลายแห่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ และจะมีมาตรการในการดำเนินการกับผู้ที่จำหน่ายและเผยแพร่ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้นต่อไป

นายอรพงศ์  เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีให้ความร่วมมือในเรื่องความรู้เกี่ยวกับซอฟต์แวร์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลดการจำหน่ายและเผยแพร่ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคควรซื้อผลิตภัณฑ์จากตัวแทนจำหน่ายที่แท้จริง”

โดยทางบริษัทไมโครซอฟท์ ได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าเกี่ยวกับวิธีการสังเกตว่าซอฟต์แวร์ที่ได้รับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องตามกฎหมายแตกต่างจากซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไร โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://www.microsoft.com/th-th/howtotell/