หัวเว่ย จับมือกฟภ. จัดงานประชุมโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

15 ก.ค. 2559 | 07:55 น.
หัวเว่ย ผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จัดงานประชุมระดับซัมมิทด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ "The Intelligent Power Grid Summit 2016" ขึ้นภายใต้ธีม "Leading New ICT, Building a Better Connected Intelligent Grid" โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐของไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงานจากทั่วโลกกว่า 300 คนเข้าร่วมงาน เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของบริษัทพลังงานมีความก้าวหน้าด้วยนวัตกรรมไอซีที เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิผล และเติบโตอย่างยั่งยืน

หัวเว่ยจับมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกาศความร่วมมือในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด จัดงาน The Intelligent Power Grid Summit 2016 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีโอกาสเสริมสร้างและเพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการในอุตสาหกรรมพลังงาน และขีดความสามารถในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในเทคนิควิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรม

มร. จาง หลิน ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ ของหัวเว่ย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "เพื่อตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่กำลังเพิ่มขึ้นและความจำเป็นที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทพลังงานต่างมองหาการผลิตและรูปแบบธุรกิจด้านพลังงานใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์สิ่งท้าทายเหล่านี้ด้วยวิธีที่ประหยัด เชื่อถือได้และยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้บริษัทพลังงานทั่วโลกเติบโตต่อไปในยุคใหม่ ด้วยการใช้ประสบการณ์จากทั่วโลก นวัตกรรมด้านไอซีที และศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือของบริษัท เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลก้าวรุดไปข้างหน้า"

เชื่อมพลังไอซีที สร้างโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เข้าร่วมงานประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะการจัดรูปแบบอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ผ่านการสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายซับซ้อน (Energy Internet) บนเทคโนโลยีไอซีทีใหม่ๆ อาทิ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าทั่วโลกให้เป็นโครงข่ายของการแบ่งปันพลังงาน (Energy-sharing Network)

มร. จี้ เสียง ประธานบริหาร กลุ่มพลังงาน ของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า "การพัฒนา Energy Internet ที่เชื่อมโยงทั่วถึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพและคุณค่าของอุปกรณ์ไฟฟ้า Energy Internet จะช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถคาดการณ์การบริโภคไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงช่วงพีคโหลด และการวิเคราะห์การรั่วไหลของไฟฟ้า ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็สามารถปรับการใช้ไฟฟ้าตามข้อมูลราคาไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ โดยหัวเว่ยจะใช้กลยุทธ "1-2-1" เพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมพลังงานเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และทำให้ Energy Internet ก้าวรุดหน้าขึ้น โดย "1" หมายถึงแพลตฟอร์มการบริหารการเชื่อมต่อ IoT ที่เป็นแบบเปิดสำหรับบุคคลที่สามและพันธมิตร และสร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมโดยรวม ส่วน "2" หมายถึงวิธีการเชื่อมต่อสองทาง ทั้งแบบมีสายและไร้สาย อาทิ OneAir-IoT และการสื่อสารผ่านสายไฟบรอดแบนด์ (Power-Line Communication – PLC) และ 1 ตัวสุดท้าย คือ ระบบปฏิบัติการ LiteOS ซึ่งจะทำให้พันธมิตรสามารถที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ IoT ของพวกเขาเองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ"

นวัตกรรมความร่วมมือเร่งขับเคลื่อนการผนวกรวมโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมโยงสื่อสารได้ดีขึ้นและ Energy Internet เข้าด้วยกัน

ในงานประชุม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหัวเว่ย ได้ประกาศความร่วมมือในการศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า "ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้เน้นศึกษาและวิจัยในด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า โดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด จะสนับสนุนอุปกรณ์ เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาศูนย์นวัตกรรม ทั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อต่อยอดความรู้และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน" มร. วัง อี้ฝาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

มร. ฮิโรยูกิ บาบะ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มร. บอสโก เอดัวร์ดู เฟอร์นันเดส สมาชิกระดับอาวุโสของสถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (Institute of Electrical and Electronics Engineers หรือ IEEE) มร. หลิว เจี่ยนหมิง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการฝ่ายข้อมูลพลังงานของสมาคมวิศวกรรมไฟฟ้าจีน (The Chinese Society for Electrical Engineering - CSEE) ต่างเชื่อว่า โครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงสื่อสารได้ดีกว่าคือ การนำ IoT เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน

หัวเว่ยได้จัดหาบริการต่าง ๆ ให้กับอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี โดยผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของหัวเว่ยได้รับการติดตั้งให้บริการแก่บริษัทด้านพลังงานไฟฟ้ากว่า 160 แห่งใน 65 ประเทศทั่วโลก ในปี 2557 หัวเว่ยได้นำเสนอความคิดการสร้าง "โครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงสื่อสารได้ดีขึ้น" เป็นครั้งแรก และได้กลายมาเป็นผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีเพียงรายเดียวในกลุ่มสมาชิกขององค์กร Global Energy Interconnection Development & Cooperation Organization (GEIDCO) หัวเว่ยจะยังคงจับมือกับพันธมิตรและลูกค้าต่อไป เพื่อสร้างเครือข่ายของโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนยุคใหม่ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงสื่อสารกันได้ดีขึ้น ผ่านนวัตกรรมความร่วมมือแบบเปิด