'เอกชัย สุขุมวิทยา' กับภารกิจปั้น Jas Urban

18 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
เป็นหนุ่มนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มตัว สำหรับ "เอกชัย สุขุมวิทยา" ทายาท "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" เจ้าพ่อเจ มาร์ท ที่วันนี้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการสายงานฝ่ายบัญชีและการเงิน (CFO) บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) เดินหน้าบริหาร "คอมมิวนิตี้ มอลล์" เต็มตัว พร้อมประกาศจุดหมายปลายทางกับการก้าวขึ้นเป็นดีเวลลอปเปอร์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

ทิศทางของบริษัทเป็นอย่างไร

"เอกชัย" บอกว่า ไดเรคชั่นของบริษัท คือการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดย่อม หรือคอมมิวนิตี้ มอลล์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดใหม่ปีละ 1 ศูนย์ ขณะเดียวกันสามารถรับบริหารศูนย์การค้า และลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ตั้งแต่ 80-100 ไร่ ได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ หรือภายในปี 2564 โดยเป็นการทะยอยลงทุนพัฒนาโครงการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จาก 2 โครงการแรกที่เป็นคอมมิวนิตี้ มอลล์ ภายใต้ชื่อ "เดอะ แจส" (The Jass) สาขาวังหิน มีพื้นที่ 5,000 ตรม. และรามอินทรา มีพื้นที่ 1 หมื่นตรม. และล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการแจส เออเบิร์น ศรีนครินทร์ มีพื้นที่ 1.7 หมื่นตรม.

"เดอะ แจส และแจส เออเบิร์น มีความแตกต่างกันคือ เดอะ แจส จะเน้นเปิดในทำเลถนนรอง ส่วนแจส เออเบิร์นจะเปิดในทำเลถนนหลัก โดยบริษัทยังมุ่งขยายสาขาทั้ง 2 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับทำเลและโอกาส ขณะเดียวกันก็พร้อมรับบริหารหรือซื้อกิจการคอมมิวนิตี้ มอลล์ที่มีศักยภาพแต่มีบริหารด้านการบริหารจัดการ ซึ่งล่าสุดมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาและอยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 ราย"

ทำไมจึงมีแบรนด์ "แจส เออเบิร์น"

แจส เออเบิร์น เกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างแบรนด์ที่แตกต่าง และเชื่อว่าการมีแบรนดิ้ง จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งนี้เชื่อว่าเดอะ แจส เป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพ แต่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ขณะที่การเลือกทำเลในย่านศรีนครินทร์ เพราะเป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูง มีบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมกว่า 100 โครงการ บ้านเดี่ยวกว่า 8 หมื่นหลังคาเรือน โรงเรียนนานาชาติและเอกชนกว่า 20 แห่ง เป็นแหล่งชุมชนที่หนาแน่นและมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และจากการทำโฟกัสกรุ๊ป พบว่า มีความต้องการคอมมิวนิตี้ มอลล์ เพื่อความสะดวก และตอบรับไลฟ์สไตล์ได้

โดยปัจจุบันเดอะ แจส เออเบิร์น มียอดจองจากร้านค้าชั้นนำแล้วกว่า 70% อาทิ ท็อปส์ ซูเปอร์ , เอ็มเค เรสเตอรองท์ , ยาโยอิ , โรงภาพยนตร์เอสเอฟ , สตาร์บัคส์ ไดร์ฟธรู , ฟิตเนส 24 ชั่วโมง และร้านค้าย่อยมีกว่า 100 ร้าน เป็นต้น มีจุดเด่นที่เป็นการผสมผสานศูนย์ในรูปแบบโอเพ่น มอลล์ (Open Mall) และโคลส มอลล์ (Close Mall) ในสัดส่วน 70: 30 บนพื้นที่รวม 11 ไร่ ซึ่งก่อสร้างไปแล้วกว่า 70% และจะเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมต่อไป รวมใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 3,000-4,000 คนต่อวัน และคุ้มทุนภายใน 8-9 ปี

ภาพรวมกำลังซื้อครึ่งหลังเป็นอย่างไร

"เอกชัย" บอกว่า จากการศึกษาตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าคอมมิวนิตี้ มอลล์ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขึ้นอยู่กับทำเลและการบริหารจัดการ รวมทั้งต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้บริษัทยังสนใจที่จะขยายการลงทุนไปในย่านราชพฤกษ์ รวมถึงใจกลางเมือง แต่ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์และศึกษาทำเล และพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดี โดยเฉพาะหากเป็นคอมมิวนิตี้ มอลล์ขนาดใหญ่

ขณะที่ภาพรวมของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายเติบโต 30% โดยรายได้มาจากไอที จังก์ชั่น 70-75% คอมมิวนิตี้ มอลล์ 15-20% ส่วนที่เหลือเป็นเจ มาร์เก็ต (ตลาดนัด) ซึ่งในอนาคตบริษัทจะเน้นการขยายธุรกิจของไอที จังก์ชั่น และคอมมิวนิตี้ มอลล์ เป็นหลัก โดยในปีนี้จะขยายไอที จังก์ชั่นเพิ่มขึ้นอีก 8 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 48 แห่ง โดยเน้นการลงทุนในบิ๊กซี และเครือทีซีซี เป็นหลัก

"เชื่อว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากบรรยากาศการจับจ่าย แต่ยังไม่กลับมาดีเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อน อย่างไรก็ดีการเปิดตัวในช่วงนี้ จึงต้องมุ่งสร้างแบรนด์ เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามา ทั้งการจัดกิจกรรมการตลาด โปรโมชั่นผ่านสื่อต่างๆ การออกบูธ รวมถึงการเวิร์ค ช้อป ด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559