ต.ค.‘เอไอเอส’ดีเดย์ เปลี่ยนธีมเป็น‘Digital for Thai’

19 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
หลังคว้าคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในชุดคลื่นความที่ 1 แบบไม่ต้องประมูล ภายหลังบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ทิ้งใบอนุญาตในราคา 7.65 หมื่นล้านบาท

ค่ายมือถือเบอร์ 1 เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สถานการณ์ปลอดโปร่ง ราบรื่น เพราะไม่ต้องกังวลลูกค้า 2 จีจะย้ายค่ายออกไปจากระบบ

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอไอเอส เกี่ยวกับทิศทางของ เอไอเอส ในครึ่งปีสุดท้าย

สิ่งแรกที่ทำหลังได้คลื่น

สิ่งแรกที่ทำ เอไอเอส ได้ปรับแผนเรื่องเน็ตเวิร์ก เราลงทุน 4 หมื่นล้านบาทเท่าเดิม แต่ปรับจากการที่ขยาย 3 จีบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ในพื้นที่ห่างไกลที่คลื่น 900 ไปถึง แต่ว่า 3 จีบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ไปไม่ถึง แต่วันนี้ไม่ต้องแล้วเพราะมีคลื่น 900 แล้วทำให้ลดการลงทุนในส่วนนั้นมาเพิ่มที่ระบบ 4 จีของคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้มากขึ้นภายในสิ้นปีนี้เราจะได้เน็ตเวิร์ก 4 จีครอบคลุม 80% ของประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม นี่คือสิ่งแรกที่วางแผนไว้

เดินหน้าโปรแกรมแลกเครื่อง

อย่างที่ 2 เราดูแลลูกค้า 2 จี ได้เป็นปกติโปรแกรมแลกเครื่องโทรศัพท์จากเครื่อง 2 จีไปเครื่อง 3 จีที่เราเคยเร่งก็ไม่จำเป็นต้องเร่งแต่ไม่ได้หยุด เพราะ เรามีความตั้งใจที่อยากจะให้ลูกค้าใช้คลื่น 900 สำหรับ 2 จี ส่วนลูกค้าจำนวน 6 ล้านราย คือ ลูกค้าที่ใช้ซิมการ์ด 3 จี แต่ยังใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบ 2 จี เชื่อว่าระยะเวลาหนึ่งจะมีการเปลี่ยนมือถือโดยธรรมชาติของคนใช้มือถือทั่วไปอยู่แล้ว ภายใน 2 ปีก็น่าจะเปลี่ยนหมด แต่โปรแกรมแลกเครื่องเรายังทำต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนจากระบบ 2 จีเป็นระบบ 3 จีให้มากที่สุดเพราะว่าเป็นประโยชน์กับลูกค้าเอง

ส่วนลูกค้าจำนวน 3 แสนรายที่ซิมดับไม่ได้กระทบตัวลูกค้า 2 จีที่มีอยู่ 3 แสนราย เราได้ติดต่อกับลูกค้าตลอดเป็นเบอร์ซึ่งลูกค้าใช้น้อยมากตั้งแต่เราปิดเบอร์มา และ การที่เราสมมติฐานไว้ก็มีคนมาขอเปิดเพิ่ม แต่เราให้ไม่ได้เราดูแลลูกค้าด้วยการให้เบอร์ใหม่เขาไปมีจำนวนไม่เยอะ และ สามารถดูแลลูกค้าได้

เสนอแพ็กให้ตรงกลุ่ม

ส่วนอันที่ 3 เราเตรียมแผนไว้เมื่อเมื่อเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้ เตรียมออฟเซอร์ สินค้าและบริการของเราให้ตรงกับกลุ่มตามที่เราต้องการให้มากมีกลุ่มด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการใช้งานดาต้าอย่างเดียวที่ใช้ปริมาณสูง เราจัดทั้งแพ็กเกจ และ แอพพลิเคชันให้ครบไปสู่เข้า ปัจจุบันสัดส่วนการใช้งานระหว่างดาต้า กับ เสียง อยู่ในสัดส่วน 50-50% แต่สิ้นปีบริการดาต้า จะแซง เสียงขึ้นมา และ อันที่ 2 สำคัญมาก คือ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่จะแฝงอยู่กับลูกค้าทั่วๆ ไป เราจะจัดแพ็กเกจที่ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเป็นประโยชน์ให้กับเขา และ เป็นประโยชน์มากกว่าใช้แพ็กเกจเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป และ กลุ่มรากหญ้าที่เราต้องกลับไปดูแลเขาเนื่องจากว่ามีการใช้งานดาต้าที่ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เป็น 3 อย่างที่จะทำ

ยกระดับช่องทาง

เอไอเอส มีความแข็งแรงในเรื่องช่องทาง เรา เป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่ ร้านเทเลวิซ เป็นเจ้าของกิจการแท้ ๆ จำนวน 100 ราย มาดูแลร้านเทเลวิซช็อป ให้เราวันนี้ เรา เพิ่มเติมจากช่องทางที่ เรา เคยแข็งแรง คือ เรามี เอไอเอส ช็อปที่เราทำอยู่บวกกับเทเลวิซที่เป็นแฟรนไชส์ของเรา แต่ เอไอเอส จะเพิ่มระดับช่องทางมาอีก 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ยกระดับเทเลวิซขึ้นมาเป็น เอไอเอส ช็อปบายพาร์ตเนอร์

นอกจากเทเลวิซแล้วเรายังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถในเรื่องพวกนี้เข้ามาร่วมเป็น เอไอเอส ช้อปบายพาร์ตเนอร์นี้ด้วยเพื่อให้เกิดระดับใกล้เคียงกับโมบายโอเปอเรเตอร์ช็อปให้มากที่สุดอันนี้ที่เพิ่มเติมขึ้นมา และ อันที่ 2 ขยายไปยังแฟรนไชส์ของเขาเองที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชนสโตร์ เช่น เจมาร์ท,ทีจี โฟน และ ไอสตูดิโอ เพิ่มเป็นช่องทางของเรา นอกเหนือจากโมเดิร์นเทรด ทั่ว ๆไปที่ทำอยู่แล้วไม่นับรวมถึงอันที่ 3 โมบายช็อป หรือ ตู้ขายโทรคมนาคมมี 3 แสนรายทั่วประเทศ มาเป็นเอไอเอส พาร์ตเนอร์ช็อป เพื่อเน้นและขายสินค้าให้ เอไอเอส มากขึ้นตรงนี้จะมีจำนวนมากขึ้นจะเพิ่มจากระดับที่เราเคยมี เอไอเอส และ เทเลวิซ เพิ่มเป็น 3 ส่วน เรียกไปช่องทางไหนจะมีสินค้าและบริการดูแลทุกช่องทางในตลาด

พร้อมเพย์ เปลี่ยนระบบชำระเงิน

พร้อมเพย์ (บริการโอนเงิน และรับโอนเงินแบบใหม่) เป็นการขับเคลื่อนในเรื่องของโมบายเพย์เมนต์ , อี- คอมเมิร์ซ ซึ่ง เอไอเอส มีบริการ เอ็มเปย์ ของเราอยู่แล้ว และ เอ็มเปย์ เหมือนช่องทางอันหนึ่งที่เข้าไปสนับสนุน พร้อมเพย์ ได้มากขึ้น เรามีความเชื่อว่า พร้อมเพย์ เป็นสิ่งที่ดีเปลี่ยนระบบชำระเงินจากจ่ายเงินสด ไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเรื่องดิจิตอลอีโคโนมี เรื่องธุรกิจทั่วไปต้องใช้จ่ายเบิกเงินสด ถ้า พร้อมเพย์ เกิดขึ้นจะขับเคลื่อนอื่น ๆ ได้มาก เช่น การขายอี-คอมเมิรซ์ เพิ่มเติมการจ่ายเงินผ่านระบบ อี-คอมเมิร์ซ ตรงนี้จะง่ายขึ้นซึ่งจากเดิมคนไม่ค่อยกล้าที่จ่ายเรื่องอิเล็กทรอนิกส์มันนี่ เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย การมีพร้อมเพย์ตอบโจทย์ความสะดวก และ เราเชื่อว่าถ้าระดับชาติ คือ แบงก์ชาติ ลงมาทำระบบความปลอดภัยต้องสำคัญมาก ๆ ไม่งั้นไปพึ่งระบบของใครก็ไม่รู้ ที่สำคัญมากๆ คือ ในอดีตเราทำธุรกรรมต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายสูง ลูกค้าเปลี่ยนไปทำเงินสดดีกว่า แต่ตอนนี้ค่าฟรีต่ำมากๆ ความเหลื่อมล้ำและการกีดกันก็ถูกตัดไปแล้วที่น่าสนใจ คือ สะดวก ประหยัด น่าจะไปได้ดี ความยากอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้คนที่ใช้พร้อมเพย์ มาใช้บริการของเรามากที่สุด

มุมมองศก.ครึ่งปีหลัง
ครึ่งปีหลังเราหวังว่าน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เนื่องด้วยมีการลงทุนจากภาครัฐลงไป ส่งผลให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้พอสมควร จากเดิมส่วนนี้ยังไม่ได้ออกดอกออกผล เรื่องต้นทุน เอไอเอส ทำมาตลอดเทียบกับต้นทุนทางตลาดเราจะต่ำที่สุดในโอเปอเรเตอร์ทุกราย แม้ภาวะเศรษฐกิจที่แย่เราก็ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ต.ค.เตรียมเปลี่ยนคอนเซ็ป

วันนี้ เอไอเอส เป็นผู้นำการให้บริการโมบายอันดับหนึ่ง ดังนั้นในเดือนตุลาคมนี้ เอไอเอส จะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น "Digital for Thai" นำเซอร์วิสและแอพพลิเคชันต่าง ๆ ให้คนที่อยู่ห่างไกลสามารถใช้บริการได้มากขึ้นเหมือนกับคนในเมือง เพราะปลายปีนี้เครือข่ายของ เอไอเอส มีความพร้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559