เฮโลขยายสนามบิน รับดีมานด์ตลาดการบินเอเชียบูม

19 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
จากดีมานด์การเดินทางทางอากาศที่ยังคงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอีก 15 ปีจากนี้ โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายสนามบินในภูมิภาคนี้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV ต่างเดินหน้าขยายศักยภาพการรองรับของสนามบิน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูล รวมถึงจับประเด็นจากสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานชั้นนำระดับโลก และท่าอากาศยานในอาเซียน+6 ที่เดินมามาร่วมประชุมเชิงอภิปราย "AOT Sister Airport CEO Forum 2016" ครั้งแรกของไทย เมื่อวันก่อน (6-8 ก.ค.59)มาฉายภาพถึงทิศทางการพัฒนาสนามบินหลักๆที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

[caption id="attachment_72225" align="aligncenter" width="700"] แนวโน้มการเติบโตของการเดินทางทางอากาศ แนวโน้มการเติบโตของการเดินทางทางอากาศ[/caption]

โฟกัส 3 เฟสขยายสนามบินย่างกุ้ง

เริ่มจากสนามบินในกลุ่มประเทศCLMV นายสุไลมาน ไซนุล อาบิดิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ย่างกุ้ง แอโรโดม จำกัด ผู้ดำเนินการและบริหารท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง เปิดเผยกับเราว่า หลังจากท่าอากาศยานย่างกุ้ง ได้เปลี่ยนจากการบริหารงานโดยรัฐบาล มาอยู่ภายใต้การบริหารของย่างกุ้ง แอโรโดม เมื่อปี 2558 บริษัทมีข้อตกลงสัมปทานกับรัฐบาล ในการพัฒนาสนามบิน ไม่เพียงแต่ในอาคารผู้โดยสาร ยังรวมถึงรันเวย์ โรงเก็บเครื่องบิน อาคารบำรุงรักษา และอื่นๆ

"แผนแม่บท มี 3 เฟส เฟสแรกเป็นการสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร คืออาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยอาคารระหว่างประเทศเพิ่งเปิดเมื่อเดือนมีนาคม2559 ส่วนอาคารภายในประเทศมีกำหนดเปิดในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อรวมทั้ง 2 อาคารใหม่จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 12 ล้านคนต่อปี จากเดิมรองรับได้ 2.7 ล้านคนต่อปี ขณะที่ในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกสนามบิน 4.6 ล้านคน ซึ่งการขยายสนามบินดังกล่าวเป็นการเตรียมการให้เราสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ"

ทั้งนี้เมื่อแผนพัฒนาสนามบินย่างกุ้งเสร็จสิ้นทั้ง 3 เฟส จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนใน 20-25 ปีข้างหน้า คาดว่าเพียงพอต่อการรอบรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินของย่างกุ้ง

ความท้าทายหลักๆ สำหรับสนามบินเมียนมา มี 2 ประการ ประการแรกคือการดึงสายการบินเข้ามา การมีสายการบินเข้ามาเป็นจำนวนมากจะช่วยสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เมียนมา ยังไม่เป็นที่รู้จักของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนัก การทำตลาดกับสายการบินยุโรปหรืออเมริกามีความยากลำบากเพราะพวกเขาไม่รู้จักเมียนมาดีพอ ประการที่ 2 คือการพัฒนาการดำเนินงานของสนามบิน อย่างปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมากที่เข้ามาช่วยเรื่องความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนนโยบายใหม่ๆ ที่สนามบินต้องไล่ตามให้ทัน

ขยายดานัง แอร์พอร์ตรับเอเปก

ในด้านของเวียดนามเองการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระจุกอยู่แค่เฉพาะฮานอย และโฮจิมินห์ อันเป็นเมืองทางด้านเหนือและด้านใต้ของเวียดนามเท่านั้น ปัจจุบันเมืองทางตอนกลางของเวียดนาม มีดีมานด์นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามายังสนามบินดานัง ที่เฉลี่ยตลอด 5 ปีนี้มีการเติบโตถึง 28% โดยในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมายังสนามบินแห่งนี้ 1.25 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 16% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามายังประเทศเวียดนาม และปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังสนามบินดานัง 1.32 ล้านคน ปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านคน

นี่เองจึงทำให้สนามบินแห่งนี้ซึ่งเป็นสนามนานาชาติแห่งที่ 3 ของเวียดนาม จึงอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้วยงบลงทุนกว่า 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้เสร็จทันประชุมเอเปก Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ (APEC) ในเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งการขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ หากแล้วเสร็จจะทำให้สนามบินดานัง รองรับผู้โดยสารได้ถึง 9 ล้านคน รวมถึงรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นเพราะมีสายการบินเปิดเที่ยวบินตรงเข้าสู่ดานังเพิ่มขึ้น อย่างปีที่ผ่านมาก็มีการเปิดเที่ยวบินตรงในเส้นทางสู่ญี่ปุ่น ปีนี้มีเปิดเที่ยวบินจากสิงคโปร์เข้ามา และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ก็เพิ่งเปิดบินตรงจากกรุงเทพฯเข้าดานัง ทำให้ปัจจุบันสนามบินดานัง มีสายการบินเปิดให้บริการรวม 5 สาย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส ,เจ็ทสตาร์,ฮ่องกงเอ็กเพรส,แอร์เอเชีย และเวียดนามแอร์ไลน์ส

เซี่ยงไฮ้ขยายรับผู้โดยสาร 80 ล.คน

ในส่วนของสนามบินในจีน นอกจากการขยายศักยภาพการรองรับของสนามบินหลักของประเทศ ในขณะนี้รัฐบาลจีน จึงมีนโยบายสนับสนุนการสร้างสนามบินใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาสนามบินต่างๆ ในเมืองรองของจีน อีกไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง เพื่อลดความหนาแน่นในสนามบินเมืองหลักๆของจีน โดยเฉพาะสนามบินเซี่ยงไฮ้

ด้านผู้บริหารระดับสูงของการท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตงของเซี่ยงไฮ้กำลังอยู่ในเฟส 3 ของโครงการขยายสนามบิน ซึ่งเป็นการสร้างอาคาร satellite เพื่อรองรับผู้โดยสาร โดยการก่อสร้างจะสิ้นสุดในปี 2562 และหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 80 ล้านคน รวมถึงคาดว่าจะมีจำนวนเส้นทางบินและสายการบินเข้ามาเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน สนามบินหงเฉียว สนามบินอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าอากาศยานเซี่ยงไฮ้ ก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 แต่ไม่มีแผนการขยายสนามบินแห่งนี้เนื่องจากไม่มีพื้นที่

แนวโน้มนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยที่เดินทางมายังสนามบินของเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าดีมานด์จะเติบโตต่อไปในอนาคตทั้งอินบาวด์และเอาต์บาวด์ แม้ว่าจะประเมินอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขได้ยากเนื่องจากมีโครงการปรับปรุงต่อเติมอยู่ 2 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่

คันไซขยายอาคารผู้โดยสาร2

ขณะที่นายโยชิยูกิ ยามายะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสนามบินคันไซ กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินคันไซกำลังดำเนินการขยายอาคารผู้โดยสาร 2 ซึ่งจะเปิดให้บริการในปีหน้า จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารในอาคารดังกล่าวได้จาก 4 ล้านคนเป็น 8 ล้านคน ขณะที่ปีก่อนมีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาใช้บริการสนามบินคันไซรวมทั้ง 2 เทอร์มินัลอยู่ที่ 23 ล้านคน การขยายอาคาร 2 เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสายการบินโลว์คอสต์

"ผมเชื่อว่าสายการบินโลว์คอสต์มีศักยภาพสูง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าสิ่งใดราคาถูกและปลอดภัย ผู้โดยสารก็จะเลือกใช้บริการ แต่ที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัย ผมมองเห็นศักยภาพของโลว์คอสต์ระยะกลาง เช่น จากกรุงเทพฯ ไปคันไซ โดยเฉพาะถ้าในอนาคตอันใกล้ โบอิ้งหรือแอร์บัสพัฒนาเครื่องบินที่เหมาะสมสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ทำการบินในระยะนี้มากขึ้น"

ทั้งนี้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตให้กับเรา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่น่าพึงพอใจ เราคาดหวังการเติบโตในระดับกว่า 10% ในช่วง 1-2 ปีนี้ ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่มองว่าค่าเงินเยนจะไม่กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวนัก แต่กระทบการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

ทอท.ขยาย6สนามบินรับ181ล.คน

ในด้านของสนามบินหลักของไทย ก็มีแผนในการขยายศักยภาพ เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของประเทศเช่นกัน โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เผยว่าขณะนี้ทอท.มีแผนลงทุนสำหรับพัฒนาท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.ระยะ 5 - 10 ปีข้างหน้าในวงเงินประมาณราว 1.94 แสนล้านบาท และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 181 ล้านคนต่อปี โดยปัจจุบันนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปีภายในปี 2562 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 30 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนต่อปี สำหรับท่าอากาศยานในภูมิภาคอยู่ระหว่างการพัฒนาและขยายขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2578 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ จะมีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 120 ล้านคนต่อปี และจำนวนเที่ยวบินเกือบ 6 แสนเที่ยวบินต่อปี

ทั้งหมดล้วนเป็นภาพรวมการพัฒนาของสนามบินต่างๆในภูมิภาคนี้ที่เกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559