ร.ฟ.ท.เปิดใช้รถรุ่นใหม่ส.ค.นี้ ยันไม่ปรับราคามั่นใจแข่งสายการบินโลว์คอสต์ได้

20 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
การรถไฟฯเปิดตัวรถโดยสารรุ่นใหม่เชิงพาณิชย์ตั้งแต่สิงหาคมนี้“ออมสิน” มั่นใจสามารถแข่งขันสายการบินโลว์คอสต์ได้แน่ หลังพัฒนาทางคู่สำเร็จ โดยทดลองวิ่งเส้นแรก กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก่อนเปิดครบ 4 เส้นทาง ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.ยันไม่ปรับราคา แต่คาดจะมีรายได้เพิ่ม 30 ล้านบาท

[caption id="attachment_72205" align="aligncenter" width="500"] รถโดยสารรุ่นใหม่ รถโดยสารรุ่นใหม่[/caption]

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดตัวรถโดยสารรุ่นใหม่ 115คันที่สั่งซื้อจากบริษัท China Railway Rolling Stock Corporation : CRRC วงเงิน 4,668 ล้านบาท สำหรับการบริการเชิงพาณิชย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ว่า ได้เปิดตัวรถโดยสารรุ่นใหม่จำนวน 39 คัน หรือ 3 ขบวน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และการเดินรถ ก่อนที่จะมีการรับมอบอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะทยอยรับมอบทุกเดือนๆละ 2 ชุดและจะครบ 115 คันภายในเดือนตุลาคม 2559

ทั้งนี้จะทำการทดสอบการเดินรถในเส้นทางแรก "กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" ในเดือนสิงหาคม 2559 พร้อมเปิดให้บริการครบ 4 เส้นทางในเดือนธันวาคม 2559 ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่,อุบลราชธานี,หนองคาย,และหาดใหญ่ไป-กลับ วันละ 2 ขบวนต่อเส้นทางรวม 8 ขบวน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 120 กม./ชม. และหากก่อสร้างทางคู่แล้วเสร็จ จะสามารถประหยัดเวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง

สำหรับรถโดยสารรุ่นใหม่ทั้งหมดจะมีระบบการทำงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย โดยในส่วนรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 (เฟิร์สคลาส) ซึ่งมี 24 ที่นั่ง 12 ห้อง ได้มีการติดตั้งจอแอลซีดีสำหรับผู้โดยสารทุกที่นั่ง และช่องเสียบ USB สำหรับชาร์ตแบตเตอรี่ เพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งข้อมูลข่าวสารของการรถไฟฯ ถึงผู้โดยสาร รวมถึงรวบรวมรายการบันเทิงชั้นนำ เช่น ภาพยนตร์ เพลง เพื่อให้ความบันเทิงตลอดการเดินทาง ขณะเดียวกันผู้โดยสารยังใช้ช่องทางนี้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่บนรถไฟ เช่น สั่งอาหารได้จากที่นั่งทันที

ขณะที่รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 มีการติดตั้งจอแอลซีดีขนาดใหญ่ 4 จอ ใช้แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ผู้โดยสาร เช่น การแจ้งเตือนระยะเวลาถึงสถานีปลายทาง ข้อมูลข่าวสารอื่นๆ เช่นเดียวกับป้ายบอกข้างตัวรถได้ทำเป็นระบบดิจิทัลสำหรับบอกชื่อสถานี และที่สำคัญในส่วนของบริการห้องน้ำ การรถไฟฯ ได้นำห้องน้ำระบบปิดสูญญากาศ ซึ่งมีความทันสมัยเท่ากับห้องน้ำบนเครื่องบินมาให้บริการ มีความสะอาด สะดวก ลดปัญหากลิ่นเหม็น และประหยัดน้ำกว่าเดิมนอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันเสียงรบกวนระหว่างการเดินทาง การรถไฟฯได้มีการนำระบบรถ Power Car มาใช้จ่ายไฟให้กับรถโดยสารทั้งขบวน ทดแทนระบบเดิมที่จะใช้เครื่องยนต์ ในรถโดยสารทุกคัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์แล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 13% ด้วย

"รถโดยสารรุ่นใหม่ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ของร.ฟ.ท. เนื่องจากรถโดยสารรุ่นใหม่ได้ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้โดยสารระดับกลางและระดับบนที่มีกำลังซื้อ และต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของตู้โดยสารสำหรับผู้พิการ ทั้งในส่วนของห้องน้ำ ลิฟท์โดยสารสำหรับนำรถวีลแชร์ขึ้นบนขบวนรถไฟ รวมถึงมีการให้บริการระบบไวไฟ การสั่งอาหาร และความบันเทิงครบรูปแบบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หลังจากได้นำรถโดยสารรุ่นใหม่ที่มีการอำนวยความสะดวกครบทุกด้านมาให้บริการแล้ว จะสามารจูงใจให้คนมาใช้บริการ และแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์ได้แน่ๆ"

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.กล่าวว่า ในส่วนของอัตราค่าโดยสารนั้น ยืนยันจะยังคงใช้อัตราเดิม พร้อมระบุว่ารถโดยสารรุ่นใหม่นี้คือ มาตรฐานขั้นต่ำของร.ฟ.ท. ขณะที่ขบวนรถที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปีจะเร่งนำไปปรับปรุงสภาพรถอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.ได้ปรับปรุงทางรถไฟเดิม ทั้งการเปลี่ยนเหล็กรางจาก 80 ปอนด์เป็น 100 ปอนด์ การเปลี่ยนจากไม้หมอนเป็นคอนกรีตที่มีอายุเฉลี่ย 50 ปี เพื่อสอดรับกับรถใหม่ และตอบโจทย์ในการให้บริการ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหินที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันของรัฐบาล

"อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาทจากการนำรถไปเปิดให้บริการใน 2 เส้นทางใหม่ คือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ และกรุงเทพ-อุบลราชธานี ที่จะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2559 นี้โดยเตรียมเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเดินรถใหม่เส้นทางแรก กรุงเทพ-เชียงใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ก่อนทยอยเปิดครบ 4 เส้นทางต่อไป"

อนึ่ง การจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ทั้ง 115 คัน แบ่งเป็นการจัดหารถพ่วงเป็นรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่1 (บนอ.ป.) 9 คัน, รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 (บนท.ป.) 88 คัน ในจำนวนนี้มีรถสำหรับผู้พิการ 9คัน, รถโบกี้ขายอาหารปรับอากาศ (บกข.ป.) 9 คัน และรถกำลังไฟฟ้า (Power Car) 9 คัน และในจำนวนทั้งหมดแบ่งเป็นรถสำหรับใช้งาน 104 คัน ส่วนอีก 11 คัน ใช้เป็นรถสำรองรวมทั้งสิ้น 115 คัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559