KTBST มองแนวโน้มตลาดหุ้นสองวันที่เหลือทิศทางยังดี

14 ก.ค. 2559 | 02:45 น.
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) เปิดเผยว่า ‪‎แนวโน้มตลาดหุ้นไทย 2 วันที่เหลือของสัปดาห์มองว่าทิศทางยังดี แต่จะเริ่มแผ่วเพราะราคาที่มีความแพง (P/E=22 เท่า) ทำให้แรงซื้อน้อยลงเป็นปกติ ประเมินว่าดัชนี 2 วันที่เหลือจะขึ้นไม่แรง และจะมีความผันผวนตามปัจจัยในต่างประเทศเป็นหลัก โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดขึ้นไม่แรงเนื่องมาจาก การสลับไปเล่นหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นไม่มากเทียบกับตลาด (laggard) ทำให้เห็นว่าหุ้นที่เคยลงทุนอยู่เริ่มถูกมองว่าแพง ยกเว้นว่าจะมีข่าวบวกเข้ามาในตลาด ปัจจัยต่อมาคือตลาดหุ้นไทยจะปิด 4 วัน ทำให้การซื้อขายย่อมจะชะลอลงเหมือนทุกๆครั้ง และปัจจัยสุดท้ายราคาน้ำมันดิบกลายเป็นปัจจัยถ่วงตลาด หลังสหรัฐฯรายงาน stock น้ำมันดิบ ลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล ลดลงน้อยกว่าคาดไว้ที่ 3 ล้านบาร์เรล จึงมองว่าราคาน้ำมันนั้นกำลังหมดแรงที่จะพยุงตัวเอง ตัวที่จะถูกกระทบ จะเป็นหุ้นผู้ผลิตน้ำมัน-โรงกลั่นน้ำมัน แต่จะไปมีผลดีกับหุ้นที่เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมี หรือผู้ใช้วัตถุดิบที่อิงกับราคาน้ำมัน

ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาด ทั้งปัจจัยบวก-ลบนั้นมองว่า ในวันพฤหัสนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ ผลประชุมอาจหลังตลาดหุ้นไทยปิดไปแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่จึงน่าชะลอเพื่อรอดูผล หากมีลดดอกเบี้ยและเพิ่ม QE จะเป็นผลดีต่อตลาดมาก แต่ขณะเดียวกันจีนจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้งตัวเลขส่งออก , ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ GDP ในช่วง 2 วันข้างหน้า ซึ่งมีการเผยว่า GDP ไตรมาสที่ 2 จะพอๆกับในไตรมาสที่1 อยู่ที่ 6.7%

ดังนั้น‎กลยุทธ์การลงทุนก่อนหยุดยาว จากที่มองว่า SET Index จะเริ่มชะลอและจะเข้าวันหยุดยาว จึงแนะนำให้รอดูสถานการณ์ตลาด (Wait and See) ขายทำกำไรในหุ้นที่ปรับขึ้นมามาก โดยเฉพาะพวกที่ P/E ขึ้นมาสูงเมื่อเทียบกับอดีต เพราะจะเป็นหุ้นที่ถูกขายก่อนถ้าตลาดเป็นลบ ส่วนหุ้นหรือกลุ่มที่จะถูกหยิบขึ้นมาเล่น ในลำดับต่อไปจะเป็นการเลือกหุ้นบางตัวในหุ้นกลุ่มหลักของตลาดแต่ที่ บล.เคทีบี สนใจจะได้แก่  หุ้น Laggard ที่เป็นหุ้นดีแต่ขึ้นน้อย อย่างเช่น CENTEL , PLANB หุ้นที่จ่ายเงินปันผลดี คนยังสนใจไม่มาก เช่น PS, LPN , ASP , SWC และหุ้นที่มีแนวโน้ม turnaround ราคาลงมามาก เช่น BANPU , DELTA

นายมงคล ยังกล่าวอีกว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าสำนักงานประกันสังคม อาจมีการปรับตัวคูณของค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative Weight ; RW )  ซึ่งใช้ในการคำนวณเงินค่ารักษาโรคที่ประกันสังคมจ่ายให้กับโรงพยาบาล จาก 10,000 บาทต่อ RW เป็น 11,150 บาทต่อ RW สำหรับโรคที่มีค่า RW ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป (RW เป็นตัวชี้วัดระดับค่าใช้จ่ายในการรักษาซึ่งก็จะแปรตามความร้ายแรงของโรคนั้นๆ )  โดยกำหนดการที่จะมีการบังคับใช้ ยังไม่กำหนดแน่นอน แต่เราประมาณว่าน่าจะภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้

ทั้งนี้ บล.เคทีบี มองว่า สำหรับโรงพยาบาลที่จะได้ประโยชน์จากการปรับครั้งนี้อย่างมีนัยยะสำคัญจะเป็นโรงพยาบาลสัดส่วนของรายได้ที่มาจากคนไข้ประกันสังคมที่สูง อาทิ CHG , BCH , LPH , M-CHAI  เป็นต้น โดยเฉพาะหุ้น BCH  จากการสอบถามไปยังผู้บริหารของบริษัทฯ การปรับตัวคูณ RW ครั้งนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นการกลับมาใช้ตัวคูณที่ 11,150 บาท อีกครั้งหนึ่ง หลังถูกปรับลงไปที่ 10,000 บาทต่อ RW เมื่อราวไตรมาสที่สองของปี 2558 โดยเราประมาณการว่าผลบวกที่จะเกิดขึ้นกับ BCH  ในปี 2559 จะยังไม่มากอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่จะไปมากหรือเพิ่มฐานของกำไรตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

"เราประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นเป็น 11,150 บาทต่อ RW  ราว 4Q-59 จะทำให้กำไรปี 2559 ของ BCH เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 4.2% เป็น 741 ล้านบาท และจะเพิ่ม 6.7%  หรือ จาก 903 ล้านบาท เป็น 963 ล้านบาท สำหรับประมาณการกำไรปี 2560 ของเรา โดยราคาที่เหมาะสม บนสมมติฐานดังกล่าว จะถูกปรับขึ้นจาก 14.00 บาท เป็น 14.50 บาท โดยเรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้นตัวนี้ไว้"

ส่วนประเด็นข่าวที่ โรงพยาบาลเปาโล (พหลโยธิน) ขอออกจากระบบประกันสังคมในปี 2560 จะทำให้ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิกับโรงพยาบาลแห่งนี้ประมาณ 1.3 แสนราย ต้องย้ายไปยังโรงพยาบาลแห่งอื่น ซึ่งมองว่าจะเป็นบวกต่อโรงพยาบาลที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ทั้งนี้เราคาดว่า BCH มีโอกาสที่จะได้สมาชิกเพิ่มจากการนี้ด้วย จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ที่ยังรองรับผู้ประกันตนได้อีก 8.4 พันคน (1% ของ สมาชิกประกันสังคมของ BCH)