ช็อปโอท็อปช่วยชาติ 1-31 สิงหาคมลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท

15 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ครม.ไฟเขียว "ช็อปโอท็อปช่วยชาติ"ลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุด 1.5 หมื่นบาท หวังเม็ดเงินสะพัดสู่ท้องถิ่นหมื่นล้าน ดีเดย์ตลอดส.ค.นี้ “กรมพัฒนาชุมชน” มั่นใจตลาดรวมสิ้นปีพุ่ง 1.2 แสนล้านบาท ด้าน “ประธานเครือข่ายโอท็อป-ผู้ประกอบการ” เตรียมเฮ ตั้งการ์ดรับยอดขายโต 20-30% ส่วน “โลตัส” พร้อมวางระบบไอที เร่งออกใบเสร็จให้เร็ว ฟาก “เดอะ มอลล์” ชงแผนการตลาดประกบฉุดนักช็อปแห่ซื้อ

ประสบผลสำเร็จกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ทั้ง"ช็อปช่วยชาติ" ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558และ "กินเที่ยวช่วยชาติ" ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว ช็อปสินค้าโอท็อป เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีขึ้นอีกครั้งตลอดเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้คึกคัก

ต่อเรื่องนี้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมครม. (12 ก.ค.59) ว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสร้างท้องถิ่นโอท็อป (OTOP Extravaganza ) หรือช็อปช่วยชุมชนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในสินค้าโอท็อป ส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นของไทย โดยสามารถนำมาหลักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท และต้องเป็นสินค้าโอท็อปที่ได้รับการรับรอง และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น พร้อมกำหนดให้ใช้สิทธิซื้อสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคมนี้ โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดจากการจับจ่ายราว 1 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่มาก

"ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นแต่เมื่อดูไส้ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการลงทุนภาครัฐ เมื่อดูกำลังซื้อพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวมถึงเรื่องของความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กระทรวงการคลังเห็นถึงความลำบากของคนที่อยู่ต่างจังหวัด จึงอยากให้มีการช่วยสินค้าชุมชุน ซึงทำในลักษณะคล้ายช็อปช่วยชาติ"

7 เดือนรายได้ทะลุ 8 หมื่นล้าน

ด้านนายอภิชาต โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สะท้อนว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายและช่วยระบายสินค้าโอท็อปแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี กรมมองว่าหากจัดกิจกรรมต่อเนื่องจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรงในระยะยาว โดยปัจจุบันมีโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนกับกรมจำนวน 4.05 หมื่นกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐานรับรองสินค้าทั่วประเทศ และมีแนวโน้มรายได้ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องดูได้จาก รายได้ปี 2558 จำนวน 1.09 แสนล้านบาท และปี 2559 เพียง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มีรายได้ 8 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะทะลุ 1.2 แสนล้านบาท และมั่นใจว่า จะมีกลุ่มเกษตรกรเปลี่ยนอาชีพมาทำผลิตภัณฑ์โอท็อปมากขึ้น

"อย่างไรก็ดี กรมพัฒนาชุมชนจะจัดงานแสดงสินค้าโอท็อป พื้นที่ 6 หมื่นตารางเมตรที่เมืองทองธานีระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม ซึ่งตรงกับมาตรการพอดีคาดว่าจะกระตุ้นยอดขายในราว1พันล้านบาทเฉพาะงานนี้"

คาดกระตุ้นยอดโอท็อปโต 30%

นายพรพล เอกอรรถพร ประธานเครือข่ายโอท็อปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลฯไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท เมื่อซื้อสินค้าโอท็อปในระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคมนี้ เช่นเดียวกับโครงการช็อปช่วยชาติที่เคยดำเนินมา ถือว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตลาดสินค้าโอท็อปมีอัตราการเติบโตได้ รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะลงไปสู่ประชาชนระดับล่างได้ แต่ผลของมาตรการดังกล่าวจะมากน้อยเพียงใดนั้นคงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ระยะเวลาของมาตรการ และการประชาสัมพันธ์

"หากตรงกับช่วงการจัดงานแสดงสินค้าโอท็อป จะช่วยทำให้ประชาชนสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่าย และถ้ามีการประชาสัมพันธ์มาตรการให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง คาดว่าจะส่งผลทำให้ตลาดสินค้าโอท็อปมียอดขายเพิ่มขึ้น 20-30% จากปกติที่ปีนี้ยอดขายกลุ่มสินค้าโอท็อปลดต่ำลงประมาณ 20-30% เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนโดยส่วนใหญ่"

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนสิงหาคมมีงานวันแม่แห่งชาติ ซึ่งประชาชนก็จะหาซื้อสินค้าเป็นของขวัญ สินค้าโอท็อปก็จะได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย ประชาชนที่เตรียมจะซื้อสินค้าเพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ เพราะช่วงครึ่งปีหลังมีกิจกรรมสำคัญหลายอย่าง ที่ต้องซื้อสินค้าเป็นของขวัญ เช่น วันเกษียณอายุราชการ หรือวันปีใหม่ เป็นต้น

ด้านความพร้อมสำหรับการรองรับมาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและสามารถออกเอกสารใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าได้จำนวน 2,000-3,000 ราย เนื่องจากอยู่ในระบบของผู้ประกอบการที่มีเลขที่ผู้เสียภาษี จากจำนวนโอท็อปที่ได้รับการคัดสรรดาวอยู่ทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นราย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับแนวทางและมาตรการของรัฐบาลจะมีรายละเอียดออกมาอย่างไรด้วย

ชี้ช่วยให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทย

ขณะที่มุมมองจากผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปต่างให้การตอบรับอย่างเต็มที่ โดยนางศริสา เข็มวัน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร OTOP อาทิ สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ "พญาไพร" จากจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า นโยบายช็อปช่วยชาติที่ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นผู้บริโภคให้จับจ่ายซื้อสินค้าโอท็อป สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยผลักดันคนไทยหันมาใช้สินค้าไทยมากขึ้น เมื่อสินค้าในประเทศไทยขายได้ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันภาครัฐหรือผู้นำชุมชนต้องมาให้ความรู้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียนโครงการ OTOP และการลดหย่อนภาษีว่ามีได้หลายวิธี เพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนจะกลัวเรื่องนี้เนื่องจากกลัวเสียค่าใช้จ่ายสูง

"หากโครงการนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแบรนด์พญาไพรก็คงจะต้องเริ่มออกใบเสร็จให้ลูกค้ามากขึ้นเพื่อให้สามารถนำไปลดหย่อนได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยออกใบเสร็จมากเท่าไร ขณะเดียวกันนโยบายนี้ยังช่วยป้องกันผู้ประกอบการที่แอบอ้างมาเป็นโอท็อปด้วย อย่างไรก็ดีภาครัฐต้องส่งบุคลากรมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนโดยเฉพาะเรื่องของการจ่ายภาษี การลดหย่อนว่าต้องทำอย่างไร"

นางสาวเพลินพิศ โตคีรี ผู้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้าย ภายใต้แบรนด์ "ฝ้ายลายสอง" จากจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ช่วงที่ผ่านมาจากประสบการณ์พบว่าผู้ประกอบการโอท็อปส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการสร้างแบรนด์ อัตลักษณ์ของสินค้ามากนัก หลายโครงการที่ผ่านมาที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเนื่องจากชาวบ้านขาดความเชื่อถือ ส่วนมาตรการนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและพร้อมให้การสนับสนุน

โลตัส เตรียมพร้อมระบบไอที

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส พร้อมสนับสนุนนมหกรรมช็อปช่วยชาติในครั้งนี้อย่างเต็มที่ เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆมา เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง ถือเป็นการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนตามโมเดลประชารัฐ โดยขณะนี้เทสโก้ โลตัส ได้เตรียมพร้อมในเรื่องระบบไอที เพื่อรองรับการจำแนกสินค้าโอท็อปในใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำใบเสร็จรับเงินมายื่นขอใบกำกับภาษีรูปแบบเต็มได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่จุดบริการลูกค้า

ทั้งนี้ปัจจุบันเทสโก้ โลตัสมีผลิตภัณฑ์โอท็อปจำหน่ายทั้งในสาขาและบนดิจิตอลแพลตฟอร์มหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ฯลฯ นอกจากการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าโอท็อปที่สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าได้ทั่วประเทศแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการโอท็อปและเอสเอ็มอี ในการให้ความรู้ทั้งในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง ความต้องการของลูกค้า การทำการตลาด เป็นต้น อย่างไรก็ดี มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลในครั้งนี้คาดว่าจะสร้างความคึกคักและตื่นตัวของลูกค้าในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพผลิตโดยชุมชนต่างๆ ด้วยภูมิปัญญาไทย ซึ่งเหมาะกับการเป็นของขวัญ ของฝากสำหรับเทศกาลหรือโอกาสพิเศษต่างๆ อีกด้วย

"เดอะ มอลล์" เล็งจัดโปรโมชันรับ

นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้คึกคัก อย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบายนี้ คาดว่าจะสร้างความคึกคักได้ใกล้เคียงช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยในส่วนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายอย่างเต็มที่ หลังมีรายละเอียดของโครงการ จะนำมาปรับการทำการตลาดของเดอะมอลล์

โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าเพิ่มเติมจากในเรื่องของการลดหย่อนภาษีที่จะได้เป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้จ่ายในทั้ง 3 ห้างในกลุ่มเดอะมอลล์ ได้แก่ เดอะ มอลล์ , ดิ เอ็มดิสทริค และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ สำหรับในเรื่องของขั้นตอนในการออกใบกำภาษี ทางห้างมีความพร้อมที่จะรองรับอยู่แล้ว จากประสบการณ์ในการรับมาตรการใน 2 ครั้งที่ผ่านมาทำให้เรามีความพร้อมในการรับมือผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559