อ้างอียูส่งสัญญาณให้ใบเขียว ปลดบ่วงไอยูยูสิ้นปีนี้/เร่งจัดระเบียบ 735 ท่าเรือแลก

15 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
ประมงลุ้นข่าวดี หลังคณะอียูส่งสัญญาณปลายปีนี้ไทยมีสิทธิ์ได้ใบเขียว แต่ยังมีใบสั่งให้กรมประมงเร่งจัดระเบียบ 735 ท่าเทียบเรือ/ แพปลาทั่วประเทศ ขีดเส้นให้ลงทะเบียนภายใน 15 ก.ค.นี้ ควบทำมาตรฐานGAP ชี้ใครฝ่าฝืน โทษหนัก ปรับตั้งแต่ 1 แสน - 1 ล้านบาท วงการชี้ทำได้ยากเหตุส่วนใหญ่เป็นท่าเทียบเรือชาวบ้านต้องใช้เงินลงทุนสูง จับตาเรือวิ่งจอดในจังหวัดที่มีท่าเรือมาตรฐาน ทำต้นทุนพุ่ง

[caption id="attachment_71029" align="aligncenter" width="700"] จำนวนท่าเทียบเรือประมงของไทย ณ ปัจจุบัน จำนวนท่าเทียบเรือประมงของไทย ณ ปัจจุบัน[/caption]

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (อียู) ได้เดินทางเข้ามาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)ของไทย และได้เดินทางกลับออกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางอียูได้ส่งสัญญาณว่าช่วงปลายปีนี้ไทยจะได้รับการปรับสถานะจากใบเหลืองเป็นใบเขียว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด อย่างไรก็ดีมองว่าจะเป็นข่าวดีกับอุตสาหกรรมประมงของไทย

“ไม่ว่าเราจะได้ใบอะไร ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐโดยกรมประมง ยังคงดำเนินการจัดระเบียบการทำประมงเพื่อสนองอียูอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัด ไปเร่งเจ้าของหรือผู้ใช้ประโยชน์จากท่าเทียบเรือหรือแพปลาทั่วประเทศรวม 735 ท่า มาจดทะเบียนท่าเทียบเรือ ซึ่งจะเป็นท่าเทียบเรือที่มีอยู่แล้วในแต่ละจังหวัด ในพื้นที่ 22 จังหวัดติดชายทะเล หรือมีการใช้ท่าเทียบเรือนั้น เพื่อให้เรือจอดเพื่อขึ้นสัตว์น้ำ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทุกขนาด เป็นไปตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 84 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป”

ทั้งนี้จากนี้ไปท่าเทียบเรือที่ยังไม่ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมง จะไม่สามารถให้เรือประมงเข้าจอดเทียบท่า หรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำจากเรือประมงได้ หากไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนจะมีโทษทางอาญา และมีความผิดตามความในมาตรา 84 ต้องระวางโทษตามมาตรา 154 คือปรับตั้งแต่ 1 แสน- 1 ล้านบาท ส่วนเรือประมงหากฝ่าฝืนจอดเทียบท่าที่ไม่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ทำการขนถ่าย

นายมงคล กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือใน 22 จังหวัดที่ติดชายทะเล ส่วนใหญ่เป็นท่าเทียบเรือชาวบ้าน หรือไม่ก็เป็นโรงน้ำแข็ง ที่นำปลาขึ้นไปส่งต่อที่โรงงานแปรรูปต่างๆ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หลังจากที่จดทะเบียนครั้งนี้แล้วทุกท่าเรือจะต้องไปทำมาตรฐานจีเอพี (GAP) หรือมาตรฐานควบคุมสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำ ทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การจับ การรักษา การขนส่ง และการวางจำหน่ายในท้องตลาด จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนดด้านสุขอนามัย และความปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

“ตัวอย่างตลาดแม่กลองได้ลงทุนกว่า 20 ล้านบาท ในการทำมาตรฐานจีเอพี ตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มาตรฐาน เพราะมาตรฐานด้านสุขอนามัยของท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา กิจการแพปลา หรือตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ โครงสร้างของสถานประกอบการ บริเวณโดยรอบต้องสะอาด ไม่มีการสะสมสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่มีกองขยะ และบริเวณคัดแยก จัดเก็บ และหรือจัดจำหน่าย ถูกสุขลักษณะ มีหลังคาที่สามารถกันแดดและฝน เป็นสัดส่วนแยกจากที่พักและร้านอาหารอย่างเหมาะสม มีอ่างล้างมือในบริเวณที่สะดวกต่อการใช้งาน อยู่ในสภาพดี สะอาด มีจำนวนเพียงพอ ก๊อกน้ำเป็นชนิดไม่ใช้มือสัมผัส มีสบู่เหลวและอุปกรณ์ทำให้มือแห้ง เช่น กระดาษเช็ดมือหรือผ้าเช็ดมือชนิดใช้ครั้งเดียว หรือเครื่องเป่ามือ เป็นต้น”

ทุกอย่างที่กล่าวมาต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด คำถามคือจะมีคนลงทุนหรือไม่ และหากทำไม่ได้มาตรฐานจีเอพีก็จะถูกปิดไปโดยปริยาย เรื่องนี้คาดว่าทางกรมประมงจะผ่อนผันให้ 1 ปี และผลสุดท้ายเรือประมงก็โดนหางเลขอีก เพราะหากจังหวัดใดไม่มีท่าเทียบเรือตามมาตรฐาน ก็จะต้องไปหาท่าเทียบเรือในจังหวัดใกล้เคียง ค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

อนึ่ง ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 4 “ท่าเทียบเรือประมง” หมายถึง สถานที่ที่จัดขึ้นสำหรับใช้จอดหรือเทียบเรือประมง ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือใช้ในการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นจากเรือประมง ทั้งนี้ไม่ว่าจะอยู่บนบก หรือในน้ำ ส่วน “กิจการแพปลา” หมายถึง กิจการแพปลาที่ได้รับใบอนุญาตหรือสะพานปลาที่ได้มีการประกาศ ให้เป็นที่ประกอบกิจการแพปลาตามกฎหมายว่าด้วยกิจการแพปลาเป็นจุดพักเรือและรับ-ส่งกำลังบำรุงต่างๆ เป็นสถานที่นำสินค้าขึ้น-ลง หรือซื้อขายสินค้า ที่ลำเลียงมากับเรือ เป็นสถานที่ขึ้น-ลงสำหรับคนประจำเรือและผู้โดยสาร ในฐานะรัฐเจ้าของท่า (Port State)

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559