คงเป้าส่งออกญี่ปุ่น-1.5% กางแผนเจาะตลาดครึ่งปีหลัง

14 ก.ค. 2559 | 06:30 น.
พาณิชย์ปรับแผนเจาะตลาดญี่ปุ่นครึ่งปีหลัง เน้นช่องทางตลาดใหม่ในตลาดเดิม รุกหนักตลาดผู้สูงอายุ สถาบัน สัตว์เลี้ยง บริการ คงเป้าส่งออกไปแดนปลาดิบทั้งปีติดลบ 1.5% เหตุยังมีปัจจัยลบ ทั้งเงินเยนแข็งค่า ภัยพิบัติ และความผันผวนเศรษฐกิจโลก

[caption id="attachment_71037" align="aligncenter" width="335"] มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) มาลี โชคล้ำเลิศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.)[/caption]

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการส่งออกของไทยไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 1 ในตลาดส่งออกหลักของไทย (ปี 2558 ตลาดญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 9.3% ของการส่งออกไทยในภาพรวม) ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังถือว่าไม่สดใสมากนัก โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผันผวนของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นรายสำคัญ

นอกจากนี้จากเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงอีกครั้งในญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา(มีศูนย์กลางที่ จังหวัดคุมาโมโตะ) ส่งผลกระทบทำให้ญี่ปุ่นมีการปรับลดจีดีพีในไตรมาส 2 และน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้จากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นในเวลานี้จากผลกระทบกรณีที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท ได้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของสินค้าญี่ปุ่นที่มีราคาสูงขึ้น

จากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมา ทางกรมได้ปรับแผนผลักดันการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังโดยการหาช่องทางขยายตลาดใหม่ในตลาดหลัก เน้นการพัฒนาตลาดสินค้าผู้สูงอายุ กลุ่มสถาบัน เช่นโรงแรม งานแต่งงาน สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และการส่งเสริมสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเจาะตลาดใหม่และตลาดศักยภาพแบบเชิงรุก กิจกรรมก็จะเน้นการพัฒนาสินค้าโอท็อป เพื่อการส่งออกเป็นปีที่ 5 รวมถึงการสร้างเครือข่ายคนไทยโพ้นทะเล เป็นต้น

“กรมยังมีการปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยการผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้าทั้งพาผู้ซื้อเข้ามา และนำผู้ประกอบการเราออกไปเจรจาการค้า ในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีความสร้างสรรค์ประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น หรือไปส่งเสริมตลาดธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอลคอนเทนต์ และซอฟต์แวร์ รวมไปถึงการผลักดันไทยเป็นเทรดดิ้งเนชัน การพัฒนาแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในงานแสดงสินค้าต่างๆ”

สำหรับสินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดญี่ปุ่น 10 อันดับแรกช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ภาพรวมทุกสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 8,447 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 0.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในปี 2559 ทางกรมตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น -1.5% ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในครึ่งปีหลังตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มทรงตัว แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกเข้ามาช่วย ได้แก่ กรณีที่รัฐบาลของนายอาเบะได้ชะลอการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคจาก 8% เป็น10% จากกำหนดเดิมในเดือนเมษายน 2560 เป็นตุลาคม 2562 แทน ช่วยลดผลกระทบทางลบต่อการบริโภคของครัวเรือนได้ในระยะสั้น ประกอบกับราคาสินค้าในท้องตลาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก การเพิ่มงบเพิ่มเติมของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559