บุกญี่ปุ่นดูงานเศรษฐกิจสีเขียว ยลต้นแบบจัดการขยะให้อยู่หมัด (ตอน2)

17 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
กระบวนการกำจัดขยะด้วยการเผาทำให้ได้ก๊าซมีเทนและความร้อนที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ในกรณีของโรงงานไบโออิเนอร์จี (BIOENERGY) ในเขตโอตะของกรุงโตเกียว ที่ทางคณะได้ไปเยือนในตอนที่แล้ว มีการนำก๊าซและความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ขยะซึ่งเป็นขยะเปียกประเภทอาหารไปผลิตกระแสไฟฟ้าและผลิตก๊าซสำหรับใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ส่วนที่เหลือเป็นเถ้าก็รอการกำจัดในขั้นตอนต่อไป

[caption id="attachment_71385" align="aligncenter" width="500"] Tsuneishi Kamtecs Saitama Co., Ltd. Tsuneishi Kamtecs Saitama Co., Ltd.[/caption]

ในบางกรณี เถ้าจากการเผาขยะยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดปลายทาง เพราะญี่ปุ่นยังมีเทคโนโลยีที่สามารถนำเถ้าจากการเผาขยะไปเป็นวัตถุดิบในการผลิต “ทรายสังเคราะห์” ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น นำไปถมเป็นวัสดุรองพื้นถนน นำไปทำอิฐบล็อก และนำไปโรยพื้นดิน เช่น ในสนาม เพื่อกำจัดหญ้าและวัชพืชอื่นๆ เป็นต้น บ่ายวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวของพวกเราได้เดินทางไปยังเมืองโยริอิ จังหวัดไซตามะ เพื่อเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท ซึเนอิชิ คัมเทคส์ ไซตามะ จำกัด (Tsuneishi Kamtecs Saitama Co., Ltd.) ที่นี่นำเถ้าขยะจากโรงเผาขยะของภาครัฐมาเข้าสู่กระบวนการ (Ash Recycle System) เพื่อผลิตเป็นทรายสังเคราะห์ที่เรียกว่า Ash Sand โดยมีกำลังการผลิตที่ 228 ตันต่อวัน วัสดุดังกล่าวได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยว่าไม่ทำลายดิน ทั้งยังสามารถดูดซึมน้ำได้มาก (เนื่องจากในกระบวนการเผาขี้เถ้า มวลที่เป็นน้ำได้ถูกกำจัดออกไปแล้ว) จึงสามารถนำไปใช้โรยดินเพื่อกำจัดหญ้าและวัชพืช โดยทรายสังเคราะห์จะดูดซับแย่งน้ำจากวัชพืช แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่ที่มีรากหยั่งลึกกว่า ทรายสังเคราะห์จากโรงงานแห่งนี้ยังได้รับการรับรองจากกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่น ว่าสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างถนนโดยนำไปถมชั้นล่างสุดก่อนราดด้วยยางมะตอยอีกด้วย

[caption id="attachment_71386" align="aligncenter" width="500"] Ash Recycle System Ash Recycle System[/caption]

คุณมาซากิ ซาโตะ เจ้าหน้าที่ของซึเนอิชิ คัมเทคส์ ไซตามะฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานแห่งนี้ใช้เม็ดเงินลงทุน 2 พันล้านเยน หรือประมาณ 600-700 ล้านบาท ช่วยรัฐกำจัดขยะได้วันละประมาณ 300 ตัน/วัน ลูกค้าทรายสังเคราะห์ คือ บริษัทก่อสร้างถนนและหน่วยงานภาครัฐ ที่เมื่อมีงานตัดถนนก็มักจะใช้ทรายสังเคราะห์ของบริษัทเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ เนื่องจากมีราคาถูกกว่าทรายธรรมชาติ ปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิลขี้เถ้าขยะในลักษณะนี้ประมาณ 100 แห่งในประเทศญี่ปุ่น

 ประชาชนมั่นใจ-ได้รับประโยชน์

การบริหารจัดการขยะและของเสียทั้งจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นมีพัฒนาการมาหลายสิบปี กว่าจะมาถึงวันนี้นับว่าต้องผ่านอุปสรรคและความยากลำบากไม่แตกต่างจากในหลายๆประเทศ เช่น การคัดค้านต่อต้าน ไม่เอาหลุมฝังกลบและโรงงานเผาขยะใกล้ชุมชน เพราะกลัวมลภาวะทางอากาศและการปนเปื้อนของขยะลงแหล่งน้ำ แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็สามารถผ่านพ้นไปได้โดยอาศัยการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และการลงมือทำให้เห็นจริงว่า สิ่งที่ประชาชนจะได้รับคืออะไร

ศูนย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมประจำจังหวัดไซตามะ ซึ่งเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และศูนย์กลางธุรกิจที่ห่างจากกรุงโตเกียวเพียง 30 นาที (ทางรถยนต์) นับเป็นสถานที่ต้นแบบที่น่าสนใจในแง่การบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ที่นี่ไม่เพียงมีโรงงานรีไซเคิลขยะ (SAI-no-KUNI Resource Recycling Factory) แต่ยังมีจุดฝังกลบขยะที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบันและจุดฝังกลบที่ปิดการใช้งานไปแล้วแต่มีการปรับปรุงสถานที่และภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนสาธารณะที่มีการปลูกต้นซากุระไว้ถึง 941 ต้น นอกจากนี้ บนพื้นที่ดินอีกผืนที่เคยเป็นจุดฝังกลบขยะ ยังมีการปรับพื้นที่เป็นโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงชุมชนใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ของศูนย์เปิดเผยว่า ในยุคเริ่มต้นโครงการราวปี พ.ศ.2518 มีเสียงต่อต้านคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่หวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบจากบ่อขยะและพื้นที่ฝังกลบ แต่ทางโครงการก็ได้เปิดเวทีทำความเข้าใจ-ให้ข้อมูล กระทั่งในปี 2532 ได้มีการลงนามทำข้อตกลงระหว่างบริษัท ตัวแทนเขต และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบและมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการ ทุกวันนี้ ประชาชนก็ยังสามารถเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานได้ตลอด เช่น การระบายน้ำออกจากหลุมขยะ ต้องมีการบำบัด มีการตรวจค่ากรด-ด่างในน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ขยะที่จะลงสู่หลุมฝังกลบจะมาในรูปขี้เถ้าขยะ เป็นต้น สถิติระหว่างเดือนเมษายน 2558 ถึงเมษายน 2559 ระบุว่า มีขยะฝังกลบที่นี่ปริมาณ 33,184 ตัน 2 ใน 3 เป็นขยะเทศบาล นอกนั้นเป็นขยะอุตสาหกรรม

ส่วนโซลาร์ฟาร์มที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการนั้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 2.78 ล้านหน่วย (kWh) / ปี ซึ่งเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของ 770 ครัวเรือน และยังสามารถจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าในกรุงโตเกียว 2.6 เมกะวัตต์ รายได้ส่วนหนึ่ง(ประมาณ 4 ล้านเยน) จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ยังมีการบริจาคให้ชุมชนเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย

หมายเหตุ : การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจสีเขียว” ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) มีขึ้นระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559