จับตาอนาคตหุ้น STAR เมื่อ ‘หมอวัลลภ’ แบ็กดอร์

15 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
สปอตไลท์ จับไปที่บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) (STAR)ทันทีเมื่อปรากฏชื่อ “นพ. วัลลภ ยังตรง”อดีตนักการเมืองนำบริษัท ไทย ฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด (TFEH) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (แบ็กดอร์ ลิสติ้ง)

[caption id="attachment_71195" align="aligncenter" width="700"] ฐานะและผลการดำเนินงาน STAR ฐานะและผลการดำเนินงาน STAR[/caption]

STAR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า เตรียมออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1.75 พันล้านหุ้น เสนอขายหุ้นละ 1.30 บาท ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นTFEH เพื่อใช้ชำระค่าหุ้นหรือแลกหุ้นที่บริษัทจะเข้าซื้อกิจการทั้ง 100% ใน TFEH ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยมูลค่า 2.28 พันล้านบาท

ทั้งนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นTFEH ที่STAR จะขายหุ้นแบบPP มี 8 รายประกอบด้วย นพ.วัลลภ ยังตรง นางสาวปรมาภรณ์ ยังตรง นางสาวบุษยากร ยังตรง นางสาวสุทธิรัตน์ ตั้งยะฤทธิ์ นางสาวอุดมลักษณ์ ยังตรง นางสาวนงนุช จันทรา นายสุรเดช สุขประเสริฐ และนายบุญลือ ศรีสะอาด

สำหรับราคาเสนอขาย 1.30 บาท ต่อหุ้นซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด STAR ชี้แจงว่า เป็นราคาที่เจรจาร่วมกับกลุ่มผู้ถือหุ้น TFEH โดยอ้างอิงถึงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญของทั้ง 2 บริษัท ตามรายงานของที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะอยู่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ 0.60 บาทต่อหุ้น และสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญ โดยใช้วิธีปรับปรุงมูลค่าหุ้นตามบัญชี ตามความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1.24 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของ TFEH เข้ามาถือหุ้นในSTAR สัดส่วน 91.18% ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ต่อไป เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการซื้อหุ้นของ TFEH จากผู้ถือหุ้นของ TFEH และการเพิ่มทุนจดทะเบียนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2559นี้ ซึ่งจะทำให้ TFEH มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ STAR ต่อไป

STAR แจ้งว่า การที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น TFEH เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานที่มีเสถียรภาพ และช่วยสร้างกระแสเงินสดรับให้แก่บริษัทในจำนวนที่แน่นอน เพราะบริษัทย่อยของ TFEH มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างโอกาสให้บริษัทเข้าไปลงทุนเพิ่มในกิจการพลังงานได้โดยง่าย เพราะ TFEH เป็นผู้มีประสบการณ์ทางธุรกิจ และมีประวัติการดำเนินธุรกิจพลังงานมาต่อเนื่องหลายปี ในทางกลับกันการขยายลงทุนในธุรกิจพลังงาน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงกิจการเดิม ซึ่งขาดทุนต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ดูตารางประกอบ)

รายงานข้อมูลแบบ 56-1 ปี2558 รายได้หลักของ STAR ประมาณ 50-70 % มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยตลาดหลักในการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทั้งยังส่งเครื่องสุขภัณฑ์ไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และกัมพูชา เป็นต้น รวมทั้งประเทศอื่นๆด้วย

ปัจจุบัน TFEH มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ (ซึ่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้า หรือ COD แล้ว) ผ่านการลงทุนโดยบริษัทย่อย จำนวน 3 แห่ง ดังนี้

1. บริษัท ไทย ฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (TFE) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 30.20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

2. บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด (EPD1) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

3. บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2 จำกัด (EPD2) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ผลการดำเนินงานของ TFEH ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 221.76 ล้านบาท และไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิ 69.17 ล้านบาท

ราคาหุ้น STAR ที่วิ่งกระฉูดเปิดตลาดวันที่ 12 กรกฏาคม ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นชนซิลลิ่งที่ 7.05 บาท เพิ่มขึ้น 1.60 บาท หรือ 29.36% จะว่าเป็นการต้อนรับว่าที่ผู้ถือหุ้นรายใหม่กระเป๋าหนักก็ไม่ผิดนัก ที่สำคัญทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเริ่มเห็นอนาคตตัวเองว่ามีโอกาสได้ลงจากดอย อีกทั้งธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเสริม คือ ธุรกิจพลังงานทางเลือก ก็ถือเป็นธุรกิจที่ยังมาแรง ขายสตอรี่ ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559