ไฟเขียวกองทุนรวมTFF มูลค่า 1 แสนล้าน/กระทรวงคลังประเดิมพันล้านจัดตั้งก.ค.นี้

14 กรกฎาคม 2559
ไฟเขียว กองทุนรวม “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์” มูลค่ากองทุน 1 แสนล้าน กระทรวงการคลังประเดิมก้อนแรก 1 พันล้านบาท ตั้งบลจ.กรุงไทย/เอ็มเอฟซี เป็นผู้จัดการกองทุนในระยะแรก ชง ก.ล.ต.จัดตั้งภายในก.ค.นี้ โฟกัสขายหน่วยลงทุนโฟกัส “กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต” มั่นใจกระแสตอบรับดี ก่อนนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่กองทุน เสนอขายนักลงทุนปีนี้ เคาะผลตอบแทนเอาใจลูกค้าสถาบัน

[caption id="attachment_71184" align="aligncenter" width="387"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 12กรกฏาคม2559 ได้เห็นชอบราย ละเอียดโครงสร้างกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุนรวมฯ) หรือ Thailand Future Fund:หรือ TFF มูลค่ากองทุน 1 แสนล้านบาท โดยในระยะแรกให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ลงทุนรายเดียวตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 8/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม2559 และเห็นชอบกลไกการรับประกันผลตอบแทนที่ให้มีกองทุนหมุนเวียนโดยให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เพื่อรักษาระดับผลตอบแทนของกองทุน รวมถึงสร้างจูงใจและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เนื่องจากโครงการมีทั้งโครงการที่สร้างเสร็จแล้วและเป็นโครงการที่รอการลงทุนก่อสร้าง

สอดคล้องกับนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงรายละเอียดโครงสร้างกองทุนรวม TFF ว่ารูปแบบของกองทุนรวมฯ จะมีลักษณะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะจัดตั้งภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเป็นกองทุนปิด (ไม่กำหนดอายุโครงการ) ในระยะแรกให้กระทรวงการคลังลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ประเดิมที่เงิน 1พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งและกำกับการดำเนินงานของกองทุนฯ ได้เห็นชอบผลการคัดเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) และบมจ. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี เพื่อดำเนินการเป็นผู้จัดการกองทุน (FA) ในระยะแรก คาดว่าจะสามารถเสนอสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อจดทะเบียนและจัดตั้งกองทุนรวมฯ อย่างเป็นทางการภายในเดือนกรกฎาคม 2559

"เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเปิดขายให้กับนักลงทุนที่เป็นกลุ่มสถาบัน โดยกลุ่มที่ สคร.มองว่ามีศักยภาพและพร้อมที่จะลงทุนในกองทุน TFF คือ กลุ่มธุรกิจประกันชีวิต ที่มีจำเป็นต้องมีการลงทุนระยะยาว ขณะที่อัตราผลตอบแทนในพันธบัตร อายุ 5 ปี ยังต่ำกว่า 2% เทียบกับอัตราผลตอบแทนที่ธุรกิจมองว่าเหมาะสมจะอยู่ระหว่าง 3-5%"

สำหรับโครงการที่จะเข้าโครงการ คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ของกรมทางหลวง และโครงการของ กทพ. รวมทั้งโครงการอื่นๆ เข้าสู่กองทุนรวมฯ โดยเร็ว ซึ่งจากการประเมินโครงการ ทั้ง 3 -5 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงคมนาคมข้างต้นนั้น เบื้องต้นมีการประเมินแล้วว่า ระยะเวลาลงทุน 30ปี ของโครงการที่กระทรวงคมนาคมคัดเลือกขึ้นมานั้นจะสามารถสร้างรายได้ซึ่งมาจากค่าผ่านทางคิดเป็น 50% (ของค่าใช้บริการที่เป็นค่าผ่านทาง) หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท

และยังลดวงเงินที่ภาครัฐจะต้องเสนอขอกู้เพื่อมาดำเนินการลงทุนก่อสร้างหรือของบประมาณจากสำนักงบประมาณลดลง ยังเป็นการลดการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ขณะเดียวกันช่วยให้การบริหารจัดการหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการยกร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมฯ (กองทุนหมุนเวียน) และได้ดำเนินการนำส่งให้กรมบัญชีกลางในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานเจ้าของโครงการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพตามที่กระทรวงคมนาคมได้รายงาน คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ของกรมทางหลวง และโครงการของ กทพ. รวมทั้งโครงการอื่นๆ เข้าสู่กองทุนรวมฯ โดยเร็ว
คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งและกำกับการดำเนินงานของกองทุนฯ อยู่ระหว่างการจ้างคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วย ที่ปรึกษาทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้จัดการการจัดจำหน่าย เพื่อดำเนินการจัดทำรายละเอียดและดำเนินการอื่นๆ เพื่อนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นและโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีศักยภาพเข้าสู่กองทุน เพื่อให้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559