เครือข่ายหยุดพนัน เตือนบอลยูโรจบหนี้พนันไม่จบตาม

11 ก.ค. 2559 | 08:45 น.
เครือข่ายหยุดพนัน เตือนบอลยูโรจบหนี้พนันไม่จบตาม หวั่นอาชญากรรมพุ่ง จี้ภาครัฐคุมเข้มต่อเนื่อง วางมาตรการรับมือเยียวยาคนอยากเลิกพนัน น่าห่วงสำรวจพบเยาวชนในสถานพินิจ 42%เคยพนันบอล 60%มองไม่ใช่ปัญหาสังคม

วันนี้(11ก.ค.2559)เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดเวทีเสวนาเตือนภัย“บอลจบแต่หนี้พนันไม่จบ ระวังอาชญากรรมและความสูญเสียซ้ำรอย”

นายธนากร คมกฤส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า หลังเทศกาลฟุตบอลยูโร2016จบลง สิ่งที่ตามมาคือหนี้พนัน อาจรวมไปถึงคดีอาชญากรรม ใช้วิธีที่ผิดกฎหมายหาเงินใช้หนี้พนัน เห็นได้จากปัจจุบันมีคดีจำนวนมากที่มีสาเหตุมาจากการพนันบอล โดยเฉพาะเยาวชนถือเป็นวัยน่าห่วงที่เข้าไปเกี่ยวข้องมากที่สุด ที่ผ่านมาภาครัฐ และภาคสังคม สื่อมวลชน อาจประมาทละเลยไม่จริงจังพอมีสถานการณ์เกิดขึ้นก็ออกมาพูด ดังนั้นจึงไม่อยากให้พอฟุตบอลยูโรจบการทำงานทุกอย่างก็จบตาม

“หลังจากบอลยูโรจบ การทวงหนี้พนันจะเริ่มขึ้น  รัฐบาลต้องจริงจังกับเรื่องผู้มีอิทธิพลและการทวงหนี้เงินกู้นอกระบบ  ที่มักจะพบว่าบรรดาลูกหนี้พนันมักจะไปกู้เงินมาใช้หนี้ การป้องกันปราบปรามจึงต้องทำต่อเนื่อง   ขณะเดียวกันต้องพัฒนาพื้นที่บริการให้คำปรึกษาเยียวยาผู้รับผลกระทบ ผู้ที่อยากเลิกพนันเพราะผลสำรวจพบว่า คนไทยติดพนัน 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน2แสนคน ขณะที่บริการรัฐมีเพียงให้คำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323ดังนั้นควรมี เจ้าภาพชวนทุกภาคส่วนร่วมวางกรอบลดปัญหาจากพนัน เช่น การบำบัดเยียวยาผู้รับผลกระทบ ทั้งด้านหนี้สินและจิตใจรณรงค์ให้เกิดความตื่นรู้เท่าทันพนัน โดยเร็วๆนี้เครือข่ายจะไปยื่นข้อเสนอต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ร่วมกับภาควิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อหาแนวทางการรับมือปัญหาพนันกันอย่างยั่งยืน อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาส ขณะที่สังคมตื่นตัวพูดเรื่องพนันกันเยอะ  ไม่อยากให้พอฟุตบอลยูโรจบการทำงานทุกอย่างก็จบตาม ที่ผ่านมาสังคมไทยประมาทปัญหาการพนันเกินไป” นายธนากร  กล่าว

นายณัฐพงศ์  สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเด็กและเยาวชนภายในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก  ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 1375 คนพบว่า42%เคยมีประสบการณ์เล่นพนันทายผลฟุตบอลในเทศกาลฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และฟุตบอลลีกต่างๆ เนื่องจากพนันฟุตบอลสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นพนันผ่านโต๊ะพนัน ผ่านเว็ปไซต์  วงเงินพนันต่อครั้งส่วนใหญ่อยู่ที่ 100-500 บาท เกือบครึ่งคือ 44% เล่นทุกวันที่มีการแข่งขัน  และยังพบว่าส่วนหนึ่ง14%เคยกู้ยืมเงินมาเล่นพนันฟุตบอล ส่วนปัญหาจากการเล่นพนัน คือเสียทรัพย์สิน เงินทอง เป็นหนี้ เครียด เสียการเรียน และถูกจับดำเนินคดี  สิ่งที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชน 60%มองว่าการเล่นการพนันบอลไม่เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่าพนันฟุตบอลถูกมองเป็นเรื่องปกติ เข้าถึงได้ง่าย  มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถจัดการกับช่องทางการเล่นได้ อีกทั้งการบังคับใช่กฎหมายยังขาดการเอาจริงเอาจัง โต๊ะพนันและนักพนันไม่ได้รู้สึกเกรงกลัวต่อกฎหมาย และยังขาดความตระหนักถึงปัญหาผลกระทบที่จะตามมาจากการเล่นพนันบอล  จุดนี้น่าเป็นห่วงมาก

นายเอ (นามสมมุติ) อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจณาภิเษก กล่าวว่า ก้าวเข้าสู่วงจรพนันตั้งแต่7ขวบ เริ่มจากเล่นสนุ๊กเกอร์ พัฒนามาเป็นบ่อน โต๊ะบอลและเล่นพนันทุกอย่าง พอมีหนี้สิน เมื่อไม่มีเงินใช้จึงตัดสินใจหนี ทำให้คนที่เรารักต้องเดือดร้อน ใช้ชีวิตปกติไม่ได้ต้องหลบๆซ่อนๆ   เมื่อไม่มีทางออกก็คิดสั้นหันมาทำอาชีพผิดกฎหมายทุกอย่าง  ถึงขั้นไปค้ายา และพอได้เงินไปใช้หนี้ก็ยังคงเล่นพนันไปพร้อมๆกัน ไม่คิดจะเลิก พอมีหนี้เพิ่มขึ้นอีกก็ตัดสินใจปล้น ทำร้ายรุนแรงถึงขั้นเขาต้องเสียชีวิต

“ผมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับและชื่อถูกขึ้นบัญชีดำ ต้องหลบหนีไปเรื่อยๆจนพ่อขอร้องให้ไปมอบตัว จึงถูกนำตัวไปรับโทษตามกฎหมายที่บ้านกรุณา และได้ย้ายมาอยู่บ้านกาญจนาภิเษก กระบวนการต่างๆที่นี่ทำให้ผมเริ่มคิดได้ว่า การเป็นทาสพนันมันส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตและคนรอบข้างอย่างไรบ้าง กระทั่งพ้นโทษก็กลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่ ไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับพนันอีกเลย อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้ผีพนันนำบทเรียนนี้ไปเป็นอุทาหรณ์สอนใจ อย่าคิดริลองเพราะมันไม่ส่งผลดีกับใคร หนี้พนันมันทำให้เราสูญเสียแทบทุกอย่างไป และอาจรวมถึงอิสรภาพด้วย” นายเอ กล่าว