นอนแบงก์แข่งเดือดแย่งสินเชื่อบุคคล

12 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
กลุ่มนอนแบงก์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แข่งเดือดสินเชื่อส่วนบุคคลกอดฐานลูกค้าแน่น เพิ่มโปรดักต์ปั๊มพอร์ตสินเชื่อ กลุ่ม “เจ มาร์ท” กุมฐานลูกค้า 5 ล้านรายทั่วประเทศ รุกรีเทลเต็มสูบ ชู “ซิงเกอร์” หัวหอกแนวรบตจว. พร้อมขยายไลน์ธุรกิจ “คาร์ฟอร์แคช-นาโนไฟแนนซ์, “เธียรสุรัตน์” น้องใหม่ ตั้งบริษัทในเครือ “เธียรสุรัตน์ ลีสซิ่ง” รุกสินเชื่อรายย่อยครบวงจร หวังต่อยอดจากฐานลูกค้าเครื่องกรองนํ้า 4 แสนรายปล่อยกู้ให้รายละ 3-5 หมื่นบาท ผ่อน 18 เดือน “เมืองไทยลิสซิ่ง” กำหมื่นล้านสู้ศึก
ผู้เล่นในตลาดให้บริการด้านสินเชื่อและเช่าซื้อสำหรับผู้บริโภค ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศสนใจเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น เช่นเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ให้บริการด้านการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) มีความเคลื่อนไหวคึกคัก นอกจากรายเก่าขยายธุรกิจแล้วยังมีรายใหม่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย

[caption id="attachment_69936" align="aligncenter" width="335"] อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด(มหาชน)(บมจ.)(JMART) อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด(มหาชน)(บมจ.)(JMART)[/caption]

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด(มหาชน)(บมจ.)(JMART) และในฐานะประธานกลุ่มเจมาร์ท เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะ 3 ปีข้างหน้า (2560 – 2562) ว่า จะมีการสร้างกำลังผนึก (Synergy)โดยตั้งเป้าเป็นธุรกิจรายย่อย หรือรีเทล

ทั้งนี้หลังจากเจ มาร์ท เข้าไปถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 25 % ในบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ทำให้มีฐานลูกค้าในกลุ่มมากถึง 5 ล้านบัญชี นับเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากสำหรับการขยายธุรกิจทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อุปกรณเสริมและสินค้าเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้และธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทอีกด้วย

ชู"ซิงเกอร์-"เป็นแนวรบตจว.

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ได้วางนโยบายให้บมจ.ซิงเกอร์ ฯขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทดังกล่าว นอกจากนี้จะเพิ่มประเภทสินค้า เช่น เฟอร์นิเจอร์ ตู้เติมเงินอีกทั้งมีนโยบายเพิ่มธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ หรือคาร์ฟอร์แคช และนาโนไฟแนนซ์ โดยจะต่อยอดจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ปัจจุบัน 5 แสน-6 แสนราย ดังนั้นจึงขยายธุรกิจได้อีกมาก โดยตั้งเป้าจะเริ่มทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 4 ปีนี้ (ปี 2558 บมจ.ซิงเกอร์ฯ มีสาขาทั่วประเทศ 209 สาขา ขณะที่ไตรมาสแรก มีพอร์ตเช่าซื้อ 1,906.20 ล้านบาท)

สำหรับบมจ. เจ มาร์ท จะเป็นแขนขาการทำธุรกิจในกรุงเทพฯและปริมณทล ส่วนบมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (JMT) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ ฟ้องสืบทรัพย์ และบังคับคดีทั่วประเทศไทย และธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ วางนโยบายให้เป็นธุรกิจการเงินในรูปแบบฟินเทค (Financial Technology)

"เธียรสุรัตน์"น้องใหม่ลุยสังเวียน

นายวิรัช วงศ์นิรันดร์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เธียรสุรัตน์ (TSR) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำ กล่าวว่า บริษัทได้ต่อยอดฐานลูกค้าเครื่องกรองน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 4 แสนราย ด้วยการแตกไลน์ทำธุรกิจการเงิน

โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท เธียรสุรัตน์ ลีสซิ่ง จำกัด เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยครบวงจร ทั้งไมโครไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ,สินส่วนบุคคล ,สินเชื่อประเภทลีสซิ่งและเช่าซื้อ ,สินเชื่อทะเบียนรถ (คาร์ฟอแคช) ,กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ดดยวิธีขายฝาก และรับซื้อเอกสารทางการเงิน

คาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 3 เดือน เริ่มต้นที่สินเชื่อรายย่อย วงเงินปล่อยกู้ 3 หมื่น-4 หมื่นบาทต่อราย ระยะเวลาการชำระหนี้ 18 เดือน พื้นที่ให้บริหารจะเริ่มในเขตกรุงเทพฯและปริมณทล เนื่องจากเป็นฐานใหญ่ของลูกค้าเครื่องกรองน้ำในปัจจุบัน ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีแรก 30 ล้านบาท ช่องทางการหาลูกค้าจะทำผ่านระบบขายตรงทางโทรศัพท์

กลุ่ม"ไอร่า"บุก

ด้านบมจ. ไอร่า แอนด์ ไอฟุล (A&A) ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทในกลุ่มบมจ.ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า เตรียมนำบมจ. ไอร่า แอนด์ ไอฟุล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2560 เพื่อระดมทุน หลังจากนั้นทำดูอัล ลิสติ้ง (Dual Listing) หรือการจดทะเบียน 2 ตลาด ระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น

ล่าสุดA&A ได้ร่วมมือกับธนาคารธนชาต ให้บริการกดเงินสดผ่านตู้ ATM ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 2,000 เครื่อง เป็นการเพิ่มช่องทางการในการให้บริการและความเพิ่มสะดวกให้กับลูกค้าในการเบิกถอนเงินสด และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับขยายการให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลออกไปยังต่างจังหวัดตามแผนนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2559 บริษัทฯ จะเริ่มเจาะกลุ่มพื้นที่ต่างจังหวัด โดยตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ 15 สาขา และบูทอย่างน้อยอีก 50 แห่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเปิดสาขาตามหัวเมืองใหญ่ ที่มีการเติบโตทางธุรกิจ และศักยภาพการทำการตลาดได้สูง เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ

ขณะที่ปัจจุบัน (ณ 8 ก.ค.59 ) A&A มีจำนวนสาขา 17 สาขา และบูธจำนวน 27 บูธ โดยตั้งเป้าเปิดและสาขาและบูธภายในปีนี้ให้ครบ 75 สาขาและบูธ ตามที่ตั้งเป้าไว้

อนึ่งก่อนหน้านี้นายคัทสุฮิโกะ มาโดโนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร A&A กล่าวว่า บริษัทฯยังคงเน้นการทำตลาดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานบริษัทในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง และพนักงานบริษัทที่เพิ่งจบใหม่ (First Jobber) รวมถึงพนักงานที่อยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าที่เข้ามาขอใช้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1.5 แสนราย

"เมืองไทยลีสซิ่ง" ตุนหมื่นล้านลุย

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS ) กล่าวย้ำว่าปี 2559 บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 50% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2558 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 2 หมื่นล้านบาท และมีลูกหนี้จำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปี 2559 จะมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ จำนวน 3 หมื่นล้านบาท และมียอดลูกค้าประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทเตรียมแหล่งเงินกู้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวไว้ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้สำหรับสำรองปล่อยสินเชื่อในปีนี้
MTLS ให้บริการสินเชื่อของบริษัทฯมี 4 ประเภท คือ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์, สินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อรถเพื่อการเกษตร และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวระบบว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างการปรับปรุงสัญญาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เกี่ยวกับพ.ร.บ.ดอกเบี้ยปรับตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฉบับใหม่ ห้ามคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปีนั้น นายชูชาติกล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ MTLS เนื่องจากไม่ได้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559