ขนส่งอีสานร้องตรึงราคาดีเซล ลิตรละ25บาทใช้กองทุนน้ำมันอุ้ม

13 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
สมาคมขนส่งภาคอีสานเตรียมร่อนหนังสือถึง“อนันตพร” ร้องตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 25 บาทต่อลิตร และเอ็นจีวีไม่เกิน 11.50 บาทต่อกิโลกรัม แก้ปัญหาราคาน้ำมันช่วงผันผวน หลังบริหารจัดการต้นทุนยาก ขึ้นค่าขนส่งไม่ได้ จี้ใช้เงินกองทุนน้ำมันที่มีมากถึง 3.73 หมื่นล้านช่วยพยุงราคาให้มีเสถียรภาพ ขณะที่ สนพ.ชี้ราคาพลังงานต้องสะท้อนกลไกตลาดโลก หวั่นไทยกลับสู่ยุคประชานิยม

[caption id="attachment_69999" align="aligncenter" width="700"] ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล[/caption]

นายสุระชัย กนกะปิณฑะ สมาชิกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เร็วๆนี้ทางสมาคมจะทำหนังสือถึงพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้มีการพิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 25 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 25.09 บาทต่อลิตร และก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 11.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันอยู่ที่ 12.60 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการชั่วคราวหรือพิจารณาดำเนินการแต่ละไตรมาส

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนค่าขนส่งของกลุ่มรถบรรทุกอย่างมาก ที่ไม่สามารถวางแผนงบต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเมื่อราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นไป ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง และผู้ประกอบการไม่สามารถขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งได้ เพราะลูกค้าไม่ยินยอม หากมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้คงที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการบริหารต้นทุนได้สะดวกขึ้น และไม่ต้องส่งผ่านภาระไปยังลูกค้า

โดยเห็นว่ากระทรวงพลังงาน มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกในการใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ซึ่งเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาแล้ว ล่าสุดสถานะกองทุนฯอยู่ที่ 3.73 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมบัญชีกองทุนแอลพีจี) ควรจะนำเงินดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาน้ำมันในช่วงผันผวน ที่แต่ละสัปดาห์มีการปรับขึ้นลงบ่อยครั้ง ทำให้กระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนของกลุ่มรถบรรทุกขนส่งสินค้าอย่างมาก ดังนั้น ทางสมาคมฯต้องการเรียกร้องให้พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลและเอ็นจีวีไปก่อน หรืออาจมีการประกาศทุก 3 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกสามารถปรับตัวได้ทัน ไม่ใช่ปล่อยให้ราคาน้ำมันผันผวนรวดเร็วเช่นนี้

นอกจากนี้ส่วนตัวยังเห็นว่าเงินกองทุนฯมีจำนวนมากเพียงพอแล้ว การนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำมันก็ควรนำมาพยุงราคาน้ำมันบ้าง เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรและขนส่ง ปัจจุบันสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลในกลุ่มรถบรรทุกคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ดีเซลทั้งหมดที่มีกว่า 63 ล้านลิตรต่อวัน

นายสุระชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้สอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ว่าจะมีนโยบายตรึงราคาดีเซลหรือไม่ และขอให้มีการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 25 บาทต่อลิตร ซึ่งตามหลักราคาเนื้อน้ำมันดีเซลอยู่ที่เพียง 15 บาทต่อลิตรเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมัน ดังนั้นแทนที่จะนำเงินกองทุนฯ ไปอุดหนุนน้ำมันไบโอดีเซลและเอทานอล ควรนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมากกว่า

“สมาคมฯจะทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นไป หากบอกว่าเป็นการสวนกระแสนโยบายภาครัฐที่ต้องการลอยตัวราคาพลังงาน ดังนั้น ก็ควรตัดในส่วนของภาษีออกไป แต่หากจะเก็บก็ควรนำมาช่วยเหลือผู้บริโภคบ้าง ยกตัวอย่าง รัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ 1 ไตรมาส แล้วแจ้งว่าใช้เงินกองทุนฯไปเท่าไร ส่วนไตรมาสถัดไปก็แจ้งราคาใหม่ เพื่อให้การบริหารจัดการภาคขนส่งดีขึ้น เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจริงๆ จากราคาน้ำมันที่ขึ้นลงผันผวนมาก ถามว่าเงินกองทุนฯที่เก็บไว้จำนวนมากนั้น สามารถทำประโยชน์ในช่วงนี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเกิน 25 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการก็ขอขึ้นค่าขนส่ง ก็ได้รับการปฏิเสธ ผู้ประกอบการก็ต้องควักจ่ายเพิ่มเอง”

สำหรับกรณีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 (บี100 ผสมในเนื้อน้ำมันดีเซล 20%) นำร่องในกลุ่มรถบรรทุกนั้น และจะเปิดจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันในอนาคต ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย เพราะไบโอดีเซลบี20 ยังเป็นปัญหากับเครื่องยนต์ โดยเฉพาะการเกิดไขน้ำมันในช่วงอากาศหนาว นอกจากนี้ยังเสนอให้ภาครัฐตั้งกองทุนการเกษตร เพื่อนำเงินมาอุดหนุนราคาไบโอดีเซลและเอทานอล จากปัจจุบันใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีการหารือกรณีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล จากความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีการปรับขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับทางกระทรวงพลังงานยังไม่ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการอย่างเป็นทางการที่จะให้ตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 25 บาทต่อลิตร และเอ็นจีวีที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าภาครัฐคงไม่สามารถดำเนินการตามเรียกร้องดังกล่าวได้ เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซจำเป็นต้องปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลก

ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายลอยตัวราคาพลังงานสะท้อนกลไกตลาดโลก ปัจจุบันราคาพลังงานปรับขึ้นลงตามตลาดโลกแล้ว หากกลับไปตรึงราคาเท่ากับเป็นการย้อนยุคนโยบาย กลับสู่ยุคประชานิยมอีกครั้ง

ขณะเดียวกันที่ประชุม กบง. เห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการของร่างประกาศกระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซล ในอัตรา 30 สตางค์ต่อลิตร แต่จะลดหลั่นตามสัดส่วนการผสมพลังงานทดแทน โดยจะปรับลดอัตราการเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น การปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันแต่อย่างใด

สำหรับอัตราการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินจากเดิม 6 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 6.30 บาทต่อลิตร ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่ 6.31 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 5.40 บาทต่อลิตร เป็น 5.67 บาทต่อลิตร เงินกองทุนน้ำมันฯ ลดลงจากเดิมเก็บอยู่ที่ 25 สตางค์ต่อลิตร เหลือเก็บอยู่ที่ 10 สตางค์ต่อลิตร แก๊สโซฮอล์อี20 จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 4.80 บาทต่อลิตร เป็น 5.04 บาทต่อลิตร เงินกองทุนน้ำมันจากเดิมชดเชยอยู่ที่ 2.75 บาทต่อลิตร ชดเชยเป็น3 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์อี85 จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 90 สตางค์ต่อลิตร เป็น 94 สตางค์ต่อลิตร เงินกองทุนน้ำมันจากเดิมชดเชยอยู่ที่ 9.29 บาทต่อลิตร ชดเชยเป็น 9.35 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 5.35 บาทต่อลิตร เป็น 5.65 บาทต่อลิตร เงินกองทุนน้ำมันจากเดิมเก็บอยู่ที่ 14 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร

นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า มีแนวโน้มเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต คือเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 7 บาทต่อลิตร เทียบอัตราเต็มเพดานอยู่ที่ 10 บาทต่อลิตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559