ส.อ.ท.แนะใช้ม.44 แก้ภาษี จี้รัฐบาลแจงจุดยืนช่วยเอกชนที่มีปัญหาสร้างความเชื่อมั่น

13 ก.ค. 2559 | 04:30 น.
ส.อ.ท.จี้ “ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการคำนวณภาษีของสรรพากรไม่สอดคล้องกับบีโอไอ หลังมีนักลงทุนได้รับผลกระทบกว่า 40ราย ต้องฟ้องศาล หวั่นแพ้เหมือนมินีแบ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ยันรัฐบาลต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจนจะใช้วิธีคำนวณแบบไหน หากเลือกตามกรมสรรพากร ต้องชดเชยหรือมีเงินเยียวยาให้กับ 800 ราย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากกรณีที่การคำนวณจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ไม่สอดคล้องกัน หลังจากที่ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีภาษีอากรที่บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ว่าวิธีการคำนวณภาษีของกรมสรรพากรที่ให้เอาผลกำไรขาดทุน ของทุกโครงการในปีภาษีเดียวกันมารวมกัน เป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งขัดแย้งกับการคำนวณภาษีของบีโอไอ ที่ให้คำนวณภาษีเป็นรายโครงการ จนทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาล และเอกชนแพ้คดี อย่างบริษัท มินิแบบนั้น ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น เนื่องจากยังมีบริษัทเอกชนกว่า 40 ราย ที่คำนวณภาษีแบบบีโอไอ และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกันกว่า 40 รายนั้น

ในกรณีดังกล่าวเห็นว่า ที่ผ่านมาเอกชนไม่ได้มีเจตนากระทำผิดที่จะหลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นการดำเนินตามวิธีคิดของบีโอไอ ซึ่งทางกฤษฎีการตีความแล้วว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่เมื่อถึงการพิจารณาของศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคำนวณที่ผิดหลัก จึงทำให้มินิแบต้องแพ้คดี ขณะที่เอกชนที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องนั้น ทางกระทรวงการคลังก็ได้ออกประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ให้สิ้นสุดภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยื่นว่าบริษัทต่างๆ ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ครบถ้วนแล้ว เพื่อให้เอกชนยื่นภาษีเข้ามาใหม่ตามแบบของกรมสรรพากร

แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเห็นว่า การขยายเวลายื่นภาษีออกไป เป็นการดำเนินการของแต่ละที่จะไปยื่นภาษีใหม่ แต่คู่กรณีที่แท้จริงคือกรมสรรพากรและบีโอไอ ที่เอกชนคำนวณภาษีตามบีโอไอ ซึ่งถามว่าสิ้นสุดแล้วหรือยัง ซึ่งผู้ประกอบการอีก 40 รายมีความหวังลึกๆ ที่จะต่อสู้ได้อีก เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ในชั้นศาล ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของรัฐบาลว่าจะใช้วิธีไหน โดยเฉพาะบีโอไอ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี และมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดบีโอไอ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีมีเจตนาช่วยเหลือนักลงทุน ตามที่เคยได้สัญญาไว้ในการไปชักชวนมาลงทุนหรือโรดโชว์ ก็สามารถที่จะใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้

นายเจน กล่าวอีกว่า ฉะนั้นเท่าที่หารือกับภาคเอกชนไปแล้ว แม้จะมีบริษัทที่ได้รับผลกระทบกว่า 40 ราย ซึ่งรวมถึงมินิแบ ที่ยังต้องมีคดีอีก ในขณะที่ 800 ราย ยื่นเสียภาษีตามแบบกรมสรรพากร ซึ่งการแก้ปัญหา ทางรัฐบาลจะต้องออกมายืนยันว่าจะต้องใช้วิธีใดในการแก้ปัญหา เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไรออกมา โดยเฉพาะทางบีโอไอเองไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ ซึ่งจะต้องออกมาพูดให้ชัดเจนว่ากระบวนการกฎหมายทางภาษีควรดำเนินการอย่างไร ถ้านายกรัฐมนตรียังยืนยันตามที่กระทรวงการคลังประกาศก็ต้องย้ำให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น

"ถ้ารัฐบาลไม่เคยไปสัญญาอะไรกับนักลงทุนต่างชาติไว้ ก็ยืนยันว่าคำนวณภาษีต้องใช้วิธีสรรพากร ตามแนวทางที่ศาลฎีกาตัดสิน ก็เป็นทางออกทางหนึ่ง ในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลบอกว่าบัตรส่งเสริมแต่ละบัตรเงื่อนไขไม่เหมือนกัน และบีโอไอมีกฎหมายทำให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ฉะนั้นต้องมีศักดิ์และสิทธิ์มากกว่ากฎหมายเดิมๆ ที่มีอยู่ ซึ่งเป็นอีกแนวคิดหนึ่ง"

ส่วนอีกกรณี หากรัฐบาลเลือกที่ใช้การคำนวณภาษีตามบีโอไอ 800 รายที่คำนวณภาษีแบบกรมสรรพากรและเสียภาษีไปแล้ว ต้องคืนเงินให้หรือไม่ หรือต้องเยียวยาอย่างไร และหากใช้ตามกรมสรรพพากร เอกชนที่ฟ้องร้องอยู่แพ้ขึ้นมา และต้องเสียเงินเพิ่ม ทั้งค่าปรับ และดอกเบี้ย ถามว่าคุ้มหรือไม่กับการไปเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากกว่าที่ต้องนำเงินไปชดเชยหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องไปชั่งน้ำหนักเอา เพราะบางทีเงินชดเชยที่จ่ายให้ 800 รายอาจจะไม่มากเท่ากับการดึงลงทุนใหม่เข้ามาในประเทศเป็นล้านล้านบาทก็ได้

ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559