อุตฯปิโตรเคมีเตรียมขอBOI หนุนเร่งลงทุนคลัสเตอร์ 9 กลุ่มทั้งปีพุ่งกว่าแสนล้าน

12 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
บีโอไอ เผย 9 คลัสเตอร์จ่อยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปีกว่า 1 แสนล้านบาท ชี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปิโตรเคมีฯ คาดยื่นขอในช่วง 6 เดือนหลังไม่ตํ่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท รอเพียงเจรจากับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี ตามข้อบังคับ ให้ได้ข้อยุติ ยันแก้พ.ร.บ.บีโอไอ เพิ่มเวลายกเว้นภาษี 13 ปี และ พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ยกเว้นภาษี 15 จบการลงทุนพุ่งแน่

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์ดิจิตอล คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คลัสเตอร์หุ่นยนต์ คลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน และคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ซึ่งหากยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มเปิดดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดนั้น

ล่าสุดพบว่าทางผู้ประกอบการตื่นตัวที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น จากที่ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-พ.ค.) มียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาแล้วคิดเป็นมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จะมีคลัสเตอร์ที่สนใจเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีฯ ที่มีความพร้อมมากกว่าคลัสเตอร์อื่นๆ กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับสำหรับการขอรับสิทธิประโยชน์สูงสุด จะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันดังกล่าวในพื้นที่ที่ไปลงทุน

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ ที่เป็นรายใหม่จากต่างประเทศ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมี แต่ติดปัญหา มาตรการการปล่อยมลพิษที่ภาครัฐกำหนดยังไม่เอื้อต่อการลงทุน แต่จะเอื้อต่อรายเก่าที่ดำเนินการควบคุมการปล่อยมลพิษอยู่แล้ว ที่สามารถจะขยายการลงทุนต่อได้ ซึ่งในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) ไปพิจารณามาตรฐานการปล่อยมลพิษแล้ว หากประกาศออกมาได้เร็ว เชื่อว่าจะทำให้มีโครงการจากนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มคลัสเตอร์มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วงปีนี้ได้

นางหิรัญญา กล่าวอีกว่า ดังนั้นทางบีโอไอจึงมั่นใจว่าเป้าหมายการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ จะเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพราะช่วงครึ่งปีมียอดยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาแล้ว 3.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่ยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการเข้ามาลงทุน จากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่รัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามามากขึ้น เพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้จะสูงสุดในอาเซียนก็ว่าได้ อีกทั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)บีโอไอ ที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับโครงการลงทุนที่มีคุณค่ากับเศรษฐกิจของประเทศหรือในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ด้วยการเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมสูงสุด 8 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 13 ปี รวมทั้งมีพ.ร.บ.กองทุนเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 15 ปี ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

"กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญ เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิประโยชน์ที่ให้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในประเทศสูงมากขึ้น โดยเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพิจารณาอยู่ว่าอุตสาหกรรมประเภทไหนควรจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีฯ 13 ปี หรือ 15 ปี ซึ่งจะต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่อไป"

ส่วนเม็ดเงินที่ลงทุนจริงในปีนี้ ทางบีโอไอพยายามที่จะผลักดันให้ขึ้นไปที่ระดับ 6-7 แสนล้านบาทให้ได้ จากช่วงไตรมาสแรกปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนจริงเพียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งบีโอไอจะต้องเข้าไปเจาะเป็นรายโครงการว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคด้านการลงทุนอย่างไร เพื่อจะแก้ปัญหาให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559