‘สตาร์ตอัพ’ พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

16 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
กระแสความแรงของสตาร์ตอัพ(Startup ) ไม่เพียงถูกเอ่ยถึงในกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มคนที่มีความคิดจะทำธุรกิจ แม้แต่ในสังคมของนักลงทุน ยังให้ความสนใจถึงธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้วยเหตุนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM จึงจัดสัมมนาพิเศษ KTAM-Exclusive Talk ภายใต้หัวข้อ “Start up กับทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทย” เพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้า รวมถึงโอกาสในการลงทุน โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจสตาร์ตอัพ มาเล่าถึงประสบการณ์ และมุมมองต่อธุรกิจรูปแบบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

[caption id="attachment_70252" align="aligncenter" width="335"] ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท  อุ๊คบี ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์[/caption]

เทียบ “สตาร์ตอัพ” กับ “เอสเอ็มอี”

เริ่มต้นที่ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อุ๊คบี จำกัด ให้มุมมองต่อสตาร์ตอัพ ว่า ตอนที่เริ่มเปิดบริษัทขึ้นมาจะถูกเรียกว่าเป็นธุรกิจขนาดกลางจนถึงขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี แต่สตาร์ตอัพ คือ เอสเอ็มอีที่พยายามจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเป้าหมายในการเติบโตปีละราว 30 เท่า โดยมีกระบวนความคิดมาตั้งแต่ต้นว่าจะต้องโตอย่างรวดเร็ว และมีแผนธุรกิจที่พยายามจะทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ หรือแพลตฟอร์ม และงานบริการ เป็นต้น แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกรายก็คือจะต้องเติบโตได้รวดเร็วที่สุด

ด้าน“เรืองโรจน์ พูนผล” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ และกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก(TukTuks ) ซึ่งเป็นกองทุนร่วมลงทุนของกลุ่ม 500 สตาร์ตอัพ จาก ซิลิคอน แวลลีย์ สหรัฐอเมริกา ให้มุมมองว่า เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีเป้าหมายในการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงแรกอาจจะยังไม่มีรายได้ ยกตัวอย่าง เช่น กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งในช่วง 4-5 ปีแรกไม่มีรายได้เลย ทำให้การขอกู้เงินจากธนาคารไม่มีทางเป็นไปได้ จึงต้องใช้วิธีการธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์ แคปิตอล หรือผ่านทางนักลงทุนเทวดา หรือนางฟ้า (Angle invester) ดังนั้น สตาร์ตอัพจึงมีวิธีการลงทุนที่ค่อนข้างแตกต่าง รวมถึงวิธีการระดมทุน เส้นทางการเติบโต และยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือทั้งเอสเอ็มอี และสตาร์อัพ เป็นธุรกิจทั้งคู่ โดยธุรกิจขนาดเล็กสามารถเติบโตเป็นธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ได้ ซึ่งปลายทางของทั้ง 2 รูปแบบธุรกิจจะเหมือนกัน

[caption id="attachment_70254" align="aligncenter" width="335"] เรืองโรจน์ พูลผล เรืองโรจน์ พูลผล[/caption]

อย่างไรก็ตาม”เรืองโรจน์”บอกว่า สตาร์ตอัพมีความเสี่ยงมากกว่า โดยหากมีการลงทุน 10 บริษัท หนึ่งปีผ่านไปอาจจะขาดทุนไปแล้ว 5 บริษัท ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และอาจจะมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จจริงๆที่มีการเติบโตเป็นพันเท่า

ตัวอย่างเช่น อูเบอร์ (Uber)ซึ่งมีนักลงทุนคนไทยลงทุนไป ตอนที่มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันมีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่าลงทุน 1 ล้านบาทที่ อูเบอร์ตอนนั้น ตอนนี้จะมีเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หรือจะกล่าวก็คือ สตาร์ตอัพ จะมีอัตราการเติบโตที่สูง ขณะที่เอสเอ็มอีจะทยอยเติบโต

“อยากให้เข้าใจว่าสตาร์ตอัพ ไม่ได้เซ็กซี่อย่างที่ทุกคนมอง สำหรับผมสตาร์ตอัพ คือ งานควายรายได้ไม่ดี แต่มีอนาคต” เรืองโรจน์ กล่าว

[caption id="attachment_70253" align="aligncenter" width="335"] ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ[/caption]

เช่นเดียวกับ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ซึ่งกล่าวว่าสตาร์ตอัพ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่สูง แต่จะถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเท่านั้น โดยสมัยก่อนที่ทำธุรกิจแรกๆอาจจะถูกเรียกว่าดอทคอม ในยุคที่อินเตอร์เน็ตกำลังเฟื่องฟู

“สมัยก่อนกว่าจะขอเงินทุนได้นี่ยากมาก นักลงทุนแทบไม่เข้าใจเลย แต่สมัยนี้แค่ทำธุรกิจออกมานักลงทุนหลายคนเข้าใจ มีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุน เพราะฉะนั้นในแง่ของการลงทุนจึงมีความแตกต่างกัน แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตจะมีมากขึ้นกว่านี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ทำธุรกิจสตาร์ตอัพ ยุคนี้จะได้เปรียบและปูทางไปสู่ยุคต่อไป โดยยุคนี้เสมือนเป็นการปรับตัว หรือปรับฐานใหญ่ว่าทำธุรกิจสตาร์ตอัพ เป็นอย่างไร ดังนั้น นิยามสั้นๆก็คือ ธุรกิจที่เติบโตด้วยความเร็วสูง”

 พลังขับเคลื่อนแห่งอนาคต

สำหรับผลต่อระบบเศรษฐกิจนั้น “ณัฐวุฒิ” ยกตัวอย่างคำพูดของนายสตีฟเคจ ซึ่งเป็นที่ปรึกษานายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุว่าธุรกิจสตาร์ตอัพ มีผลต่อการจ้างงานประมาณ 40% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯทั้งหมด นายโอบามาจึงต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อดูแล และเพื่อสนับสนุนธุรกิจดังกล่าว และหากเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยดูบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศ จะพบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ตอัพมาก่อน ขณะที่ประเทศอิสราเอลทั้งประเทศสร้างขึ้นมาโดยสตาร์ตอัพ ทั้งหมด

“เศรษฐกิจที่จะมั่นคงได้จะต้องมีทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มจะทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทั้ง 2 ส่วนจึงมีความสำคัญอย่างมาก หากเราดูประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมดจะต้องพัฒนาทั้ง 2 ส่วนไปด้วยกัน โดยทั้ง 2 ส่วนมีความสำคัญกันไปตามแต่ละบทบาท”

ด้าน“เรืองโรจน์”กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ปัจจุบันสตาร์ตอัพในประเทศไทยถือว่ายังเล็กมาก แต่ทุกอย่างก็เริ่มต้นมาจากสิ่งเล็กๆ ขณะที่ปัจจุบันสตาร์ตอัพกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ไทยถือว่ามีผลโดยตรงต่อกันน้อยมาก และอนาคต 10 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี เหมือนกับประเทศอื่นซึ่งสตาร์ตอัพ มีผลต่อจีดีพีค่อนข้างมาก

หากจะกล่าวก็ คือ เป็นการสร้างธุรกิจในอนาคต ยกตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์จะมีการมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเลยว่าส่วนใดที่ต้องผลักดัน เช่น ฟินเทค (FinTec) ซึ่งสิงคโปร์มองว่าเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเชื่อว่าฟินเทคจะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสิงคโปร์เชื่อว่าจีดีพีของประเทศทั้งหมดใน 10 ปีข้างหน้าจะถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเหล่านี้ หรือผลักดันโดยสตาร์ตอัพ

“คำตอบสั้นๆก็คือ สตาร์ตอัพยังเล็กมาก แต่ คือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มีการเติบโตขึ้นเป็นหลายๆเท่าต่อปี ดังนั้นหากไม่ทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้อาจจะช้าเกินไปก็ได้ เพราะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะมีผลต่อจีดีพีมหาศาล สตาร์ตอัพมีผลเรื่องการจ้างงาน และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากไม่ทำอะไรจะเกิดการล่าอาณานิคม เราจะไม่มีนักรบทางเศรษฐกิจ หรือเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจใหม่ๆขึ้นมา ก็จะเหนื่อยมากขึ้น โดยเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเหนื่อยขึ้นเยอะมาก เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก”

ขณะที่ “ภาวุธ” กล่าวเสริมว่าสตาร์ตอัพ จะเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีได้ อย่างที่สหรัฐฯซึ่งมีการทำอินสตาร์แกรม หรือIG ขึ้นมาสามารถใช้ได้ทั่วโลก หากทำสตาร์ตอัพ ตอนนี้ให้สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก

“หากเราทำได้ก็จะดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศได้โดยง่าย ซึ่งเวลานี้ระบบการชำระเงินออนไลน์ง่ายมาก เช่นเดียวกับระบบการขนส่งสินค้า เหลืออย่างเดียว คือ วิสัยทัศน์ที่ยังไปไม่ถึง เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดว่าหากจะทำธุรกิจต้องไม่ทำเฉพาะในประเทศไทย”

สำหรับประเทศไทยเวลานี้เปรียบได้กับประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยสตาร์ตอัพ ของไทยเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 แต่มีอัตราการเติบโตที่เร็วอย่างมากประมาณ 7-8 เท่าต่อปี และที่สำคัญเวลานี้หากจะทำธุรกิจในไทยเวลานี้จะมีคู่แข่งน้อยมาก แต่มีโอกาสอย่างมหาศาล ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างที่กลุ่มสตาร์ตอัพ ได้สร้างเอาไว้ก็คือ การปูทางให้กลุ่มใหม่ก้าวไปสู่ระดับโลกได้

คนไทยเก่งแต่ขาดประสบการณ์

หากถามถึงวิธีที่ไทยจะชนะได้ในระดับโลก “เรืองโรจน์” ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นบนโลกไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั่งไอโฟนจะมีคนไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ เพราะฉะนั้นคนไทยมีความเก่งอยู่ในตัวเองไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่อุปสรรคของคนไทยคือ ข้อจำกัดที่ถูกตั้งกันขึ้นมาเองกับคำว่าเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องสร้างบรรยากาศความเป็นไปได้ให้กับประเทศไทย โดยต้องมีตัวอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลังได้เห็น

“ภาวุธ” กล่าวเสริมว่า นักลงทุน หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่สามารถมีส่วนช่วยให้สตาร์ตอัพ เกิดขึ้นได้ ด้วยการมองหาช่องทางการปรับปรุงธุรกิจให้เติบโตโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และใช้วิธีการส่งเสริม หรือเข้าไปช่วยลงทุนให้กับกลุ่มสตาร์ตอัพ ที่มองแล้วมีความสอดคล้องกับแนวทางของบริษัท หรือหากไม่ลงทุนก็อาจจะเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีไฟ เก่งเรื่องของเทคโนโลยี แต่อาจจะยังขาดเรื่องประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาด หรือการบริหารจัดการ ซึ่งทุกสตาร์ตอัพ ต้องใช้

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าไปช่วยเหลือ หรือสนับสนุนสตาร์ตอัพ คือ อย่าเข้าไปซื้อกิจการ หรือซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของเขา เพราะจะทำให้เกิดอาการฝ่อ และแรงปรารถนาที่จะทำงานอาจจะหายไป แต่ให้เลือกที่จะซื้อในส่วนเล็กๆในการสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เขามีพลังที่จะพุ่งไปข้างหน้าต่อ”

ด้าน “ณัฐวุฒิ” กล่าวว่า สตาร์ตอัพ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องของอายุ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นได้ ไม่จำเป็นต้องอายุน้อยเท่านั้น แต่การเข้ามาช่วยลงทุนในสตาร์ตอัพจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดเวลาไปได้ โดยการเป็นสตาร์ตอัพนั้น มีแค่ไอเดียยังไม่เพียงพอ แต่ต้องลงมือทำและทำให้มีผลลัพธ์ ซึ่งหมายถึงการมีลูกค้าเข้ามาใช้งานจริงและมีการจ่ายเงินจริง

“ การทำสตาร์ตอัพ จะต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำก่อน โดยเงินอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับเวลา เรามีเวลาแค่เพียง 5-10 ปีในช่วงที่คนกำลังให้ความสนใจ หากทำแล้วจะเกิดความล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องนำกลับมาทำใหม่ได้โดยการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยไอเดียที่ดีจะต้องอยู่ถูกที่ถูกเวลา”

ทั้งหมด คือ มุมมองของบุคคลแถวหน้าในธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่เห็นสอดคล้องกันว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควรมี”สตาร์ตอัพ”อยู่ในโรดแมปและทำอย่างจริงจัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559