'อัญชุลี สิมะเสถียร' บตท.เล็งออกสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว หวังสกัดรีไฟแนนซ์

13 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
“บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” (Secondary Mortgage Corporationหรือ SMC/บตท.) เป็นองค์กรรับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นลูกค้าชั้นดีจากสถาบันการเงิน เริ่มดำเนินงานในไทยมาตั้งแต่ปี 2540 โดยดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) คือ นำสินเชื่อที่จัดซื้อมาไประดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ในรูปแบบของตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage Backed Securities : MBS) หรือกองสินเชื่อที่อยู่อาศัย Asset Backed Securities (ABS) เป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่ดี หรือจำหน่ายให้แก่นักลงทุนในตลาดทุน ซึ่งเป็นการระดมทุนและพัฒนาตลาดทุน และทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่มีสภาพคล่องสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่แนวโน้มของ บตท. นอกจากเป็นศูนย์รวมมืออาชีพที่มีประสบการณ์พัฒนาตราสารแล้ว บตท.ยังเป็นองค์กรที่ดูแลความเสี่ยงเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนอีกด้วย ระหว่างสรรหากรรมการและผู้จัดการคนใหม่ “ ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อัญชุลี สิมะเสถียร” รองกรรมการและผู้จัดการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการ เกี่ยวกับแนวทางบริหารงานและทิศทางของบตท.

แผนงานครึ่งหลังของปี 2559

ช่วงที่เหลือแผนงานเป็นรูปธรรมนั้น ทางคณะกรรมการ(บอร์ด)มอบนโยบายพัฒนาภายในองค์กรให้รากฐานมั่นคง ไม่เร่งซื้อสินเชื่อโดยเน้นซื้อเฉพาะสินเชื่อคุณภาพ สิ่งที่จะเห็นต่อไปคือ การพัฒนาภายใน เรื่องคุณภาพองค์กร ที่เน้นธรรมาภิบาลนั้น ไม่ใช่เขียนในตำราเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการที่จะเห็นชัดขึ้น แม้กระทั่งสินเชื่อจะปรับกระบวนการตั้งแต่ทำดิวดิลิเจนต์ บุคลากรสามารถวิเคราะห์สินเชื่อได้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะดูข้อมูลฐานลูกค้ามากขึ้น ตอนนี้มีหลายกระบวนการกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุงตั้งแต่คลีนซิ่งดาต้า จัดพอร์ต/การประมาณการล่วงหน้า รวมทั้งทบทวนว่าที่ผ่านมามีปัญหาอะไรบ้าง โดยใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้ในการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อพอร์ตสินเชื่อ

ด้านคุณภาพของคน การพัฒนาระหว่างนี้เน้นความเป็น Smart and Small เพราะฉะนั้นอนาคตคนของบตท. ต้องเป็นมืออาชีพ (ไม่ใช่มองที่ความสวย) บางครั้งจึงส่งบุคลากรไปอบรมในแหล่งที่เหมาะสมทั้งในและต่างประเทศ มีจำนวนบุคลากร 70 คน โดยจัดองค์กรตามความสำคัญ ขณะที่บางอย่างจะใช้เอาต์ซอร์ซเสริม

ส่วนแง่ของการเงินนั้น หากมองใน 3 มิติ บตท.อยู่ได้มั่นคงพอ เพราะมีเสถียรภาพทางการเงินพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระดมทุน การบริหารสภาพคล่อง สัดส่วนเงินฝากระยะสั้นและระยะยาว หรือการบริหารความเสี่ยงของบตท.ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้คือ มีการบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในมาตรฐานและบางอย่างเกินเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ด้วยซ้ำ

เป้าหมายระดมทุนและบริหารพอร์ตสินเชื่อ

การระดมทุนยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยยังคงตั้งเป้าซื้อหนี้และออกตราสาร MBS อย่างละ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารับซื้อหนี้จากธนาคารพันธมิตรไทยพาณิชย์และกสิกรไทยแล้ว 600-700 ล้านบาทจากเป้าทั้งปี 1 หมื่นล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างทำ Due diligent กับธนาคารพันธมิตรแห่งใหม่ซึ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อที่มีระยะเวลาพอสมควร คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพันธมิตรในปัจจุบันได้แก่ เกียรตินาคิน ทิสโก้ นอกจากส่วนของการรับซื้อหนี้ในอนาคตอาจกำหนดสัดส่วนลูกค้าที่จะซื้อเช่น มนุษย์เงินเดือนและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรในการกำหนดเงื่อนไขที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อที่รับซื้อมาสามารถพัฒนาเป็นตราสารหนุนหลังนำไปลงทุนได้

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อคงค้างของบตท.มีจำนวน 3.18 หมื่นล้านบาท โดยคุณภาพสินเชื่อ(เอ็นพีแอล)เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 4.8% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.1% สำหรับเอ็นพีแอลของบตท.ที่เพิ่มเล็กน้อยนั้น เพราะเป็นช่วงการเปิดเทอมการศึกษา จึงไม่แตกต่างจากธนาคารในระบบ ส่วนกรณีของบตท.จะติดตามลูกหนี้เป็นความร่วมมือกับกสิกรไทยและทิสโก้ แม้จะมีกฎหมายติดตามทวงถามหนี้ แต่ในส่วนของธนาคารจะให้ความสนับสนุนด้านอื่นจึงไม่ห่วงเรื่องการติดตามหนี้

ส่วนของการออกตราสาร MBS นั้นยังอยู่ในกระบวนการรับฟังเสียงจากนักลงทุน เพื่อทราบถึงความต้องการของรูปแบบตราสารว่าจะเป็นอย่างไร จากนั้นจะสรุปและนำเสนอบอร์ด คาดว่าจะเห็นการออกตราสาร SPV9 ประมาณต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่วนตัวยังมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี

สิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไปเช่น เดิมเคยออกตราสารอายุ 3 ปี 5 ปีอาจจะออกเท่าอายุของสินเชื่อ เพราะรูปแบบของตราสาร MBS ที่เหมาะสำหรับนักลงทุนไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีเงินต้นจ่ายคืนทุกเดือนเสมือนมีเงินใช้ในแต่ละเดือน แต่ในทางปฏิบัติยังติดขัดบ้าง คือบอร์ดต้องการให้ออกตราสารประเภท Pass - Throughมากขึ้น รวมทั้งอนาคตข้างหน้าจะไปถึงการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน(Public Offering)หรือพีโอ ตรงนี้คือโจทย์และเป็นหัวใจของบตท. หากสามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนและพัฒนาได้จะเห็นสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว โดยสามารถหยุดการรีไฟแนนซ์ได้ แต่หากยังไม่มีดีมานด์หรือคนใช้สินเชื่อบ้าน ก็จะเป็นเวลาที่บตท.ปรับปรุงภายในและดูข้างนอกไปด้วย ไม่ได้หยุดแต่เลือกในสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นสิ่งที่ดี

ที่ผ่านมา บตท.ระดมทุนพันธบัตรอายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 2.35%พันธบัตร 5 ปี จ่ายดอกเบี้ย 2.6% และพันธบัตรอายุ 7 ปี จ่ายดอกเบี้ย 2.89%ปัจจุบันตราสารบตท.คงเหลืออยู่ 3 กองในรูป MBS ประกอบด้วย SPV6 มูลค่า2,037.38 ล้านบาท อายุ 3 ปี ขาย 1,500ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 4.28%บตท.ถือเอง 537.38 ล้านบาท ดอกเบี้ย0-50% จะครบกำหนดเดือนธันวาคม2559 นี้, SPV7 มูลค่า 4,084.65 ล้านบาท อายุ 5 ปี ขาย 3,200 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 4.25% บตท.ถือเอง 881.65ล้านบาท ดอกเบี้ย 0-2.5% จะครบกำหนดเดือนกันยายน 2562 และ SPV8 อายุ 5ปี มูลค่า 7,025.11 ล้านบาท ขาย 5,000ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 3.35% บตท.ถือเอง 2,025.11 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0-50%กำหนดจะครบอายุในเดือนพฤศจิกายน2563

ความเพียงพอของเงินกองทุน

ปัจจุบันบตท.มีเงินกองทุนอยู่จำนวน 1,230ล้านบาท คิดเป็นเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS)ที่ 10.6% ซึ่งบตท.สามารถซื้อสินเชื่อได้ 27 เท่าของเงินกองทุน ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) อยู่ระหว่างเดินเรื่องเงินเพิ่มทุน (แต่ไม่ทราบจำนวน) หลังจากนั้นต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สำหรับเป้ารายได้ทั้งปีกำหนดไว้ที่ 1,400 ล้านบาท
+ผลจากร่างพระราชกำหนดผ่านครม.

ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยพ.ศ.2540ซึ่งช่วยให้บตท.สามารถรับโอนสินทรัพย ์จากผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงิน โดยวิธีจำนองอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งทรัสตีประกอบกิจการที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งเป็นส่วนที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบตท.ด้วยรวมถึงการออกตราสารCovered Bond`ฯลฯหรืออาจจะช่วยระดับหน่วยงานราชการซึ่งปีก่อน บตท.ทำวิจัยร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ใช้เรื่องการลงทุนหรือสถานที่/ที่อยู่อาศัยของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนที่บตท.จะไปเติมเต็มได้ ไม่ว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) สถาบันไหนจะปล่อยสินเชื่อ รวมถึงโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ บตท.จะเข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ได้ดี อย่างการออกABSไม่จำเป็นต้องซื้อขาด เพราะที่ดินยังเป็นของราชการหรือกรมธนารักษ์/สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันการเงินที่ต้องการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนแล้วนำพอร์ตมาขายบตท. เช่นเดียวกับกรณีสินเชื่อผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)นั้น จะเป็นการพัฒนาตลาดร่วมกันในแง่ บตท.ยังศึกษาว่า หลังจากตลาดแรกปล่อยสินเชื่อแล้ว ทางบตท.จะเสริมในส่วนไหนได้บ้าง เช่น ถ้าบตท.จะต้องรับซื้อหรือสนับสนุนการเงินหรือถือกองทุน

คำแนะนำ

ช่วงภาวะที่อัตราดอกเบี้ยตํ่าทำให้มีผู้ลงทุนส่วนหนึ่งเลือกลงทุนในตราสารหนี้ แต่ปัญหาประชาชนต้องการผลตอบแทนสูงโดยไม่ได้วิเคราะห์อัตราดอกเบี้ยรับ ขณะเดียวกันมีนอนเรตติ้งจำนวนมากที่ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ทั้งองค์กรและบุคคล ซึ่งในแง่ของการเคลมนั้นอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า ตราสาร MBS / ABS ซึ่งมีสินเชื่อบ้านเป็นหลักประกัน จึงอยากให้ประชาชนทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559