‘ฟันด์โฟลว์-น้ำมัน’จุดเสี่ยงบลจ.ปั่นหุ้น 1,500 จุด/โบรกฯเตือนพี/อี16เท่าแพง

13 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
ผู้จัดการกองทุน ปลุกตลาดหุ้น บลจ.กสิกรไทย ฯคาดดัชนีแตะ 1,500 จุดสิ้นปีนี้ เชื่อเม็ดเงินไหลกลับเอเชีย บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีโอกาสสดใส ฝั่งนักวิเคราะห์เตือนตลาดผันผวนสูง เสี่ยงถูกเทขายทำกำไร เหตุถูกหนุนด้วยฟันด์โฟลว์ พี/อี 16.4 เท่า อันตราย บวกราคานํ้ามันโลกพุ่ง แนะลดผลกระทบจากภายนอก หลบเข้าหุ้นอิงกำลังซื้อในประเทศ ADVANC, BJC, RATCH, ASK, TCAP

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนโดยให้กรอบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ในกรอบ 1,475-1,500 สำหรับปลายปีนี้ หรือมีอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี เรโช)ที่ 16 เท่า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้น คือ เรื่องความคืบหน้าการเจรจากรณีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท (Brexit) ซึ่งยังต้องมีระยะเวลาอีกกว่า 2 ปี ว่าผลจะเป็นอย่างไร และยังมีประเด็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมทั้งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพ

นายสมิทธ์ พนมยงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หลังความชัดเจนอังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าก่อนเกิดปัญหาเบร็กซิท เนื่องจากผลกระทบต่อประเทศไทยมีน้อยและสัดส่วนการส่งออกไปอังกฤษมีแค่ 2 % และเงินทุนที่ไหลออกจากยุโรปก็กลับมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง เพราะมีการขยายตัวดี

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เชื่อว่าปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภัยแล้งคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และภาครัฐเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล ) ภาคธนาคารที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอซีย พลัส จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ระบุโดยเชื่อว่าสภาวะตลาดหุ้นที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่เกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน ระดับพีอีที่สูงถึงกว่า 16.4 เท่า บวกกับราคาน้ำมันโลกที่ปรับขึ้นลงรุนแรง ทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะผันผวน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการขายทำกำไรออกมา โดยเฉพาะในหุ้นที่ราคาปรับขึ้นไปจนเกินมูลค่าเหมาะสม( Fair Value )เช่น SCB, KTB, HMPRO, ROBINS, THAI, VGI, LANNA เป็นต้น จึงแนะนำให้สลับการลงทุนมายังหุ้นที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด หรือยังมีส่วนเพิ่ม(upside )ที่สูง โดยเน้นในกลุ่มอิงกำลังซื้อในประเทศ เป็นหลัก อาทิ

กลุ่มสื่อสาร คาดว่าในปีนี้ให้ผลตอบแทนเพียง 9% (เทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือSET ให้ผลตอบแทน 13.1%) โดยเชื่อว่าประเด็นลบต่างๆ น่าจะสะท้อนการปรับลงของราคาหุ้นไปมากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ ADVANC แม้จะมีภาระต้นทุนใบอนุญาต 4G แต่ด้วยความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน ทำให้ยังครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้ต่อไป รวมทั้งยังคาดหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูงได้ และหุ้น INTUCH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ได้อานิสงส์ตามไปด้วย

กลุ่มค้าปลีก น่าจะยังได้ประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว แนะนำ BJC โดดเด่นจากการเข้าซื้อกิจการ BIGC หนุนให้ธุรกิจกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้ง แต่ในช่วงสั้น อาจมีจิตวิทยาเชิงลบต่อความมั่นใจของผู้ถือหุ้น จากที่มีการเปลี่ยนวิธีเพิ่มทุน แต่ยังเชื่อว่า BJC จะสามารถเพิ่มทุนได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินยูโรมาชดเชย ราคาหุ้นที่ลดลงจึงเป็นจังหวะเหมาะสมในการเข้าซื้อ

กลุ่มโรงพยาบาล เหมาะกับการเป็นหุ้นหลบภัย เนื่องจากธุรกิจยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แนะนำ BDMS รวมทั้งกลุ่มรับเหมาฯ และวัสดุก่อสร้าง ยังเกาะประเด็นโครงการลงทุนภาครัฐไปได้ต่อ แนะนำหุ้น CK , UNIQ และ SCC ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หนุนกลุ่มเช่าหุ้นสินเชื่อ-เช่าซื้อรายย่อย หุ้นเด่นคือ S11 และASK ที่ราคายังปรับตัวน้อยกว่าตลาด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยว่าได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อไป ขณะที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเบร็กซิท หลังจากธนาคารกลางในประเทศใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น อังกฤษ เตรียมออกมาตรการรับมือผลกระทบ ประกอบกับการคาดการณ์ไตรมาส 2/2559 กลุ่มธนาคาร ว่ากำไรจะเติบโตจากไตรมาสแรก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพเริ่มทรงตัว

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากการที่ภาคธนาคารของอิตาลีได้รับผลกระทบจากเอ็นพีแอล ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3.60 แสนล้านยูโร คิดเป็น 18.1% และประมาณ 2.10 แสนล้านยูโรในจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นเงินกู้ที่ปล่อยโดยธนาคารที่ใกล้ล้มละลาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559