ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยและเขื่อนปาสักฯ

08 ก.ค. 2559 | 09:58 น.
กระทรวงเกษตรฯ ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนปาสักฯ รองรับน้ำหลากปลายฤดูฝน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนตกชุกกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ส่งผลดีต่อพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์ตรงกันว่า  ขณะนี้คาดว่าไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว แต่ปรากฏการณ์ลานีญาอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2559 ประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. 2559  ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าทุกภาค แต่ปริมาณฝนยังใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนในปัจจุบันมากกว่าปี 2558 โดยปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายภาค ระหว่างวันที่ 1ม.ค. -  6 ก.ค.2559 สูงกว่าปี 2558 ในทุกภาค และส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับค่าปกติ

สำหรับสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลัก ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค.2559) มีปริมาณ 7,816 ล้าน ลบ.ม. เปรียบเทียบกับปี 2556, 2557, 2558 พบว่ามีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยมีปริมาณ 8,600 , 9,200 และ 8,400 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ขณะนี้มีปริมาณรวม 1,579 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณ 703 ล้าน ลบ.ม. จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบใน 4 เขื่อนหลัก น้ำในเขื่อนภูมิพลยังคงมีปริมาณน้อย โดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้เพียง 287 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่เก็บกักน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556,2557 และ 2558 ในวันเดียวกัน ที่มีปริมาณ 3,090 ล้าน ลบ.ม. 290 ล้าน ลบ.ม. และ 200 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ  ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางเก็บกับน้ำในเขื่อนภูมิพลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลักนั้น ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค. 2559) มีปริมาณน้ำ7,816 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 2559 จะมีปริมาณ 10,134 ล้าน ลบ.ม. , วันที่ 1 ก.ย. 2559 มีปริมาณ 16,038 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 1 ต.ค.2559 มีปริมาณ 23,746 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 1,579 ล้าน ลบ.ม. นั้น คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 2559 จะมีปริมาณน้ำ  2,155 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 1 ก.ย. 2559 มีปริมาณ 4,614 ล้าน ลบ.ม. และ ณ วันที่ 1 ต.ค.2559 คาดการณ์ว่ามีปริมาณ 8,304  ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรับน้ำฝนจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะมีน้ำเข้ามามากในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อน จึงต้องระบายออก ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อนต้องระบายออก

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมปรับแผนการระบายน้ำ ว่า ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งสองเขื่อนสามารถรับน้ำได้เพียง 611 ล้าน ลบ.ม. และ 784 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน เขื่อนทั้งสองแห่งมีแนวโน้มที่น้ำจะเต็มเขื่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. นี้ จากเดิมเขื่อนแควน้อยฯ ระบายน้ำในอัตราวันละ 2.44 ล้าน ลบ.ม. เป็นระบายน้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักฯ จะเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมที่ระบายในอัตราวันละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 3 – 5 ล้านลบ.ม. ต่อวัน โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและส่งผลดีต่อพื้นที่เพาะปลูก ข้าวนาปี ในเขตของโครงการชลประทานเขื่อนแควน้อยฯ และโครงการชลประทานเขื่อนป่าสักฯ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 220,000 ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกกว่า 814,000 ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ การเพิ่มการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อน จะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในน้ำเขื่อนทั้งสองแห่ง จะมีปริมาณเต็มเขื่อนพอดี

ขณะที่การประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้สำรวจข้อมูลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.-15 พ.ค.2559 ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ จำนวน 61 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,085 ราย พบว่า เกษตรมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในภาพรวมทุกมาตรการ ร้อยละ 53 และมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในมาตราที่ 3 การจ้างงาน ร้อยละ 48  มาตราที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน ร้อยละ 66 มาตราที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ร้อยละ 62 และมาตรการที่ 8 การช่วยเหลือตามระเบียบ ของกระทรวงการคลัง การอบรมเพิ่มผลิตภาพการผลิต (อบรมช่วงภัยแล้ง) ร้อยละ 53