แอพฯ‘ชมชอบ’ตั้งเป้าผู้ใช้ 1 ล้านยูสเซอร์1 หมื่นร้านค้าภายใน 1 ปี

13 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
ต้องบอกว่ากระแสสตาร์ตอัพ กำลังได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แม้แต่ "ชมชอบ" (Chom CHOB) แอพพลิเคชัน ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพในกลุ่มฟินเทคขี่กระแสในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นเว็บตัวกลางแห่งการรวมแต้มบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ บัตรสะสมคะแนนต่างๆ

[caption id="attachment_70022" align="aligncenter" width="335"] ธัญวรัตม์ ชัยเลิศ Co-Founder และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด ธัญวรัตม์ ชัยเลิศ Co-Founder และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด[/caption]

อย่างไรก็ตามหลังจากเก็บรวบรวมฐานข้อมูลได้ภายใน 1 ปี และ เปิดใช้งานจริงภายในระยะเวลา 1 เดือน ดังนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นางสาวธัญวรัตม์ ชัยเลิศ Co-Founder และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด ถึงเหตุผลและที่มาที่ไปในการตัดสินใจเปิดให้บริการแอพพลิเคชัน

เหตุผลที่พัฒนาแอพ

ได้เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดในการทำธุรกิจทางด้านดิจิตอล ประกอบกับจากที่ได้ศึกษาตลาดมาปรากฏว่าแต้มคงค้างของทุกสถาบัน ณ ขณะนี้ คาดการณ์ไว้ว่ามีมูลค่าหลายพันล้านบาท และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแต้มบัตรเครดิตต่างๆในประเทศไทย มีมากกว่า 31.85 พันล้านแต้ม/ปีขณะที่แต้มบัตรสมาชิกต่างๆ ในประเทศไทย มากกว่า 16.2พันล้านแต้ม/ปี รวมทั้งหมดมากกว่า 48.05 พันล้านแต้ม/ปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.8 พันล้านบาท/ปี

ดังนั้น บริษัท จึงได้ผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นมา ผ่านแอพพลิเคชันใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "ชมชอบ" ยิ่งทุกวันนี้การใช้เงินหรือธนบัตรน้อยลง คนหันมาจับสมาร์ทโฟนมือถือมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายเปลี่ยนไป หันมาถอนเงินหรือใช้บัตรเครดิตส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น แอพฯจึงตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

ทำไมถึงทำแพลตฟอร์มแลกแต้มขึ้นมาเพราะอะไร

เพราะแต้มจากบัตรเครดิตหรือบัตรต่างๆบางคนก็ละเลย หรือ อาจจะลืมไปด้วยซ้ำว่ามันมีค่า จึงคิดแอพพลิเคชันหรือกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ สามารถนำแต้มที่ไม่สามารถใช้เป็นเงินได้ แต่มาซื้อของผ่านแอพพลิเคชันของเราได้เช่นเดียวกัน

เป้าหมายกลุ่มลูกค้าคือใคร

ไม่ว่าจะเป็นใครที่ใช้บัตรเครดิต

ตั้งเป้าผู้ใช้จำนวนกี่รายในปีแรก

ภายในปีหน้าคาดว่ามีผู้ใช้จำนวน 1 ล้านยูสเซอร์ และ 1 หมื่นร้านค้า และ ตั้งแต่เปิดให้บริการภายใน 4 สัปดาห์มีร้านค้าเข้ามาจำนวน 1 พันร้านค้า

แผนการลงทุน

สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นเรื่องของการตลาด 40% และ บุคลากรจำนวน 60%

สร้างความเชื่อมมั่นอย่างไรมีกรณีของเอ็นโซโก้

พันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญเพราะขณะนี้บริษัทได้มีการเจรจากับพันธมิตรสถาบันการเงินด้วยกัน 5 แบงก์ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา,กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์,เคทีซี, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด ,ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารธนชาต

ดีลร้านค้าทั้งหมดไว้กี่ร้าน

กว่า 1 พันร้านค้า

แต้มสะสมใช้อย่างไร

100 แต้มในบัตร เท่ากับ 1ชมชอบ 1 ชมชอบ เท่ากับ 1 บาท และทุกๆชมชอบสามารถนำมาช็อปสินค้าในแต่ละร้านค้าผ่านชมชอบ ดังนั้น บริษัทจึงได้ผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นมา ผ่านแอพพลิเคชันใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "ชมชอบ" (ChomCHOB) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสู่การช็อปปิ้งในรูปแบบใหม่ ที่เกิดจากแนวคิดที่ต้องการข้ามผ่านข้อจำกัดระบบพริวิเลจในประเทศไทย ด้วยแต้มในแอพพลิเคชันที่คอนเวิร์สจาก point ที่สะสมในบัตรเครดิต มาสู่ชมชอบ และนำไปจับจ่ายร้านค้าต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ในยุคที่ผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรต่างๆ กันจำนวนมาก ในรูปแบบ Shopping Community ชั้นนำของคนไทย

โดยแอพพลิเคชัน "ชมชอบ" จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางแห่งการรวมแต้มบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรสมาชิก และบัตรสะสมคะแนนต่างๆ เปลี่ยนเป็น ชมชอบพ้อยท์ โดย 10 แต้ม เท่ากับ 1 ชมชอบ กำหนดแลกขั้นต่ำ 1 พันแต้ม เท่ากับ 1 ร้อยแต้ม ใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งร้านค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Turn Points into Shopping" หรือชีวิตติดช็อป ต้อง ChomCHOB Point

จุดเด่น

จุดเด่นแอพพลิเคชันของเรา คือ เป็น Centralize Point Platform ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย เพราะเชื่อมระบบกับธนาคารต่างๆ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรี และกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาตและองค์กรต่างๆ ได้แก่ PTT Blue Card เป็นต้นเพื่อให้ ยูสเซอร์ นำแต้มจากบัตรเครดิตและบัตรสะสมคะแนนมาไว้ในแอพพลิเคชัน "ชมชอบ" (ChomCHOB) จากนั้น ยูสเซอร์ สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะ ช็อป ชิม ชิล หรือ แม้กระทั่งค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยแอพพลิเคชันนี้สามารถใช้ติดตั้งทั้งบนอุปกรณ์เทคโนโลยีพกพาและไม่พกพา เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่, แท็บเลต, เครื่องรับชำระเงิน เป็นต้น ปัจจุบันเรามีพาร์ตเนอร์มากกว่า 1,000 ร้านค้าทั้งแบบออนไลน์ และร้านค้าออฟไลน์ อาทิ แมคโดนัลด์, Kwankao, วีรันดา รีสอร์ท, วุฒิศักดิ์คลินิก, PAUL THAILAND (PAUL bakery)
, NetDesign, PTT Blue Card, เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์, Playhouse เป็นต้น กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ใช้บัตรเครดิต และ ช็อปปิ้งออนไลน์

แผนการตลาด

แผนการตลาดจะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์ให้แก่จำนวนผู้ใช้ และ ร้านค้าพาร์ตเนอร์ต่างๆ เป็นหลักในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อสร้างกระแส Word of mouth โดยเราจะลงพื้นที่จัดอีเวนต์และโรดโชว์ตาม Business Zone ต่างๆ เพื่อโปรโมตกระตุ้นตลาดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทางบริษัท ได้เตรียมพร้อมระบบความพร้อมชำระเงินด้วยแต้ม เพื่อนำไปเชื่อมต่อกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม พร้อม วางแผนเฟสแรกโฟกัสช็อปปิ้ง เฟสที่ 2 เป็นเรื่องชิม และเฟสที่ 3 เป็นเรื่องชิล ที่ทำกับโรงแรมและสายการบิน

มองธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างไร

มีอัตราการเติบโตอย่างแน่นอน ด้วยแนวโน้มไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการนั้นขณะนี้บริการทุกอย่างอยู่บนมือถือทั้งหมด ด้วยความที่เดี๋ยวนี้อะไรก็ต้องสะดวกสบาย และ รวดเร็ว ดังนั้นโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

มูลค่าตลาดอี-คอม ปีนี้เท่าไหร่

น่าจะเยอะ เพราะมีการประเมินจาก ทัชพอยท์ (บริษัท ทัชพอยท์ฯ) ประเมินมูลค่าอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะโตกว่า10% แน่นอน

[caption id="attachment_70028" align="aligncenter" width="640"] CO-FOUNDER CO-FOUNDER[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559