ป.ป.ท.ล้มสอบข้าราชการใหม่ หลังพบพฤติกรรมไม่เป็นธรรม

11 ก.ค. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ป.ป.ท.ล้มกระดานสอบใหม่ ขรก.นักสืบสวนสอบสวนปฏิบัติ หลังผู้เข้าสอบโวยผ่านเน็ต กระบวนการสอบไร้ประสิทธิภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกต ข้อสอบเก่า และตรงกับชีทติวหน้ามหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ผู้เข้าสอบหลายรายทำหนังสือร้องเรียนต้นสังกัดแล้ว จับตา ป.ป.ท.กำหนดในวันสอบรอบใหม่ภายใน 11 ก.ค.นี้

จากกรณีที่เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ออกประกาศสำนักงานฯ เรื่อง ยกเลิกการสอบแข่งขันเข้ารับราชการตำแหน่งนักสืบสวนสอบสวนปฏิบัติการว่า ตามที่ได้รับสมัคร,ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ และสอบข้อเขียนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า การสอบไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการสอบบรรจุตามที่ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด ปรากฏพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการสอบแข่งขันจึงให้ยกเลิกการสอบแข่งขัน และให้ผู้เข้าสอบแข่งขันในวันดังกล่าวไปสอบใหม่ โดยจะแจ้งวัน เวลา สถานที่สอบภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 นี้

ย้อนกลับไปความเคลื่อนไหวของสำนักงาน ป.ป.ท. ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่การจัดสอบเสร็จสิ้นลงโดยในวันสอบดังกล่าว นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้เดินทางไปควบคุมดูแลความเรียบร้อยการจัดสอบด้วยตนเอง และมีผู้บริหารระดับสูงหลายราย เช่น พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการฯ และผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ไปช่วยคุมสอบ และมีการเตรียมประกาศความสำเร็จการจัดสอบในวันต่อไป

กระทั่งปรากฏเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากผู้เข้าสอบจำนวนมากผ่านโซเชียลมีเดียถึงการไร้ประสิทธิภาพในการจัดสอบของสำนักงาน ป.ป.ท. อาทิ การนำข้อสอบตามกฎหมายเก่ามาออกสอบ ทั้งที่กฎหมาย ป.ป.ท. ได้เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงข้อสอบตรงกับหนังสือเตรียมสอบของสถาบันกวดวิชาบางหนึ่ง และชีทติวหน้ามหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง ชนิดคำต่อคำประมาณ 58 ข้อจาก 100 ข้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่คุมสอบไม่แกะซองข้อสอบต่อหน้าผู้เข้าสอบ ไม่มีการให้พยานตรวจเช็กแพ็กข้อสอบ การสแกนร่างกายผู้เข้าสอบก่อนเข้าห้องสอบมีเครื่องมือน้อย ทำให้เสียเวลาในการสอบ และไม่มีการทดเวลาให้กับผู้เข้าสอบทั้งๆที่เป็นความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ กรรมการประจำห้องสอบไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการคัดกรองผู้เข้าสอบ เช่น บางคนนำปากกาเข้าได้ ใส่ต่างหูเข้าได้ เป็นต้น

รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท. เปิดเผยว่า การจัดสอบดังกล่าวใช้การจัดจ้างภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)ออกข้อสอบ และดำเนินการสอบข้อเขียนด้วยวิธีพิเศษ ตกลงค่าจ้างประมาณ 2 ล้านบาท แต่ไม่มีการจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) ไม่มีสัญญาจ้าง มีเพียงหนังสือโต้ตอบกันระหว่างหน่วยงาน และการจัดจ้างไม่ได้นำหน่วยงานอื่นมาเป็นคู่เทียบ ส่วนการเบิกจ่ายเงินนั้น ยังไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ มก.ในทันที มีเพียงการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่คุมสอบคนละ 500 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงคนละ 120 บาท และค่าพาหนะเดินทางตามที่จ่ายจริง

ต่อมาผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน ป.ป.ท.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานหาช่องทางการ ทำสัญญาย้อนหลัง และรอหารือ ก.พ.เพื่อหาทางออกก่อน แต่เกิดกระแสโซเชียลมีเดียที่กดดันอย่างหนัก ทำให้เลขาธิการ ป.ป.ท. ต้องตัดสินใจยกเลิกการสอบในที่สุด และมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายบุคคลของสำนักงาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ผู้เข้าสอบหลายรายทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงยุติธรรม เรื่อง ความไม่เป็นธรรมในการจัดสอบของสำนักงาน ป.ป.ท. แล้ว

ทั้งนี้ ตามประกาศรับสมัครของสำนักงาน ป.ป.ท. จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการตำแหน่งนักสืบสวนสอบสวนปฏิบัติการ จำนวนอัตราว่างครั้งแรก 50 อัตรา โดยมีรายชื่อผู้สมัครสอบแข่งขันจำนวน 8,626 คน

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559