‘เทียร์2’แค่ภาพลักษณ์ดี ประมงภูธรยอมทนเดินตามกฎเหล็กหวังขึ้นเทียร์ร์1

12 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงภูธร ชี้ปัญหายังไม่จบแม้ไทยจะถูกปรับเป็นเทียร์ 2 แล้วเพราะยังคงมีระเบียบออกมาเรื่อยๆ ยันการปฏิบัติยังเหมือนเดิม แค่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ส่วนปัญหาไอยูยู ยังรอดูอาการ นายกนอกน่านนํ้าแนะหวัง “เข้าเป้า” ต้องพัฒนาระบบ- คนของรัฐ-คนประมง

จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริการายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี โดยเลื่อนไทยจากกลุ่มเทียร์ร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด มาอยู่ในกลุ่มเทียร์ร์ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง

ต่อเรื่องนี้ นายณรงค์ศักดิ์ เฉลิมเกียรติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จังหวัดยังคงเข้มงวดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อไป เพื่อปรับอยู่เทียร์ร์1 สำหรับดำเนินงานและการจับกุมได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1)และทางสหรัฐอเมริการับทราบไปพร้อมกันขณะที่สถานประกอบการเองไม่กล้าฝ่าฝืนและพยายามปฏิบัติให้ถูกต้องส่วนเรื่องการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) นั้น ทางสหภาพยุโรป หรืออียู ประเมินว่าน่าจะผ่อนปรน

สอดรับกับนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและขณะนี้ทุกรายต้องควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือด้วยดี จนปรับเป็นเทียร์ร์2 ส่วนไอยูยูทราบมาว่าทางอียูยังคงไม่ประเมินเรื่องไอยูยูต่อประเทศไทย ส่วนตัวแล้วเห็นว่าสาระสำคัญในการแก้ปัญหาไอยูยู ก็คือการกำหนดแนวทางให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยยังทำได้น้อยมาก ซึ่ง ทุกวันนี้การควบคุมอยู่ที่เรือประมงพาณิชย์มากกว่าเรือประมงขนาดเล็ก ดังนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเรื่อประมงเล็กจะไม่ไปทำผิดกฎหมาย หรือลอบทำการประมงแอบส่งสัตว์น้ำให้เรือใหญ่

ขณะที่นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า ปัญหาการประมงยังไม่จบ เพราะคงมีระเบียบออกมาเรื่อยๆ ขณะนี้ก็มีปัญหาเรื่องการต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่รอการแก้ไข อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยได้รับการปรับเป็น ก็คงช่วยให้รัฐบาลเบาแรง ชาวประมงเองก็คงขายสินค้าให้ผู้แปรรูปสัตว์น้ำเพื่อกรรส่งออกได้ดีขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการประมงทะเลจริงๆแล้ว ไม่ได้มีการส่งออกโดยตรงแต่อย่างใด เพราะการส่งออกๆไปอยู่ที่กุ้งกับปลาทูน่า ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในอันดับ 2 หรืออันดับ 3 ชาวประมงทะเลก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร ผลดีน่าจะไปตกอยู่กับธุรกิจห้องเย็น โรงงานส่งออก และประมงแปรรูป

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นระเบียบของทั้งสหรัฐอเมริกาหรืออียู ชาวประมงทะเลต่างก็พร้อมปฏิบัติตามที่กำหนด หรือรัฐบาลจะมาควบคุมอย่างไร ก็ต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้เศรษฐกิจในภาครวมของประเทศเดินไปได้

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีดังนั้นหน่วยงานต่างๆจะต้องเดินหน้าต่อไปไม่เข้าเกียร์ว่าง เพื่อไปสู่เทียร์ร์ 1

ขณะที่นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมเรือประมงปากพนังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเอาจริงเอาจังต่อการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้กระทบความผิดต่อแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้เกิดภาพรักษ์ที่ดีเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ก็เฝ้าระวังต่อเนื่องไม่ให้เกิดการลักลอบทำผิดกฎหมายเช่นเดิมขณะที่การคาดหมายที่ ไทยจะได้รับการปลดใบเหลือหรือ ไอยูยู มองว่า ไม่เกิดประโยชน์ตราบใดที่ยังควบคุมด้วยกฎระเบียบ

ด้านนายฐานิต พรหมทอง ปลัดจังหวัดระนอง กล่าวว่า ทางจังหวัดระนองจะยังคงวางมาตรการในการเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายบนเรือประมงอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อตรวจสอบผู้ประกอบการ กลุ่มแรงงานเรือประมง และเอกสารต่างๆ ว่าเป็นไปตามกฎระเบียบกระทรวงแรงงานหรือไม่

ด้านนายทวี บุญยิ่ง นายกสมาคมประมง จ.ระนอง กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับใหม่จากเทียร์ 3 สู่เทียร์ 2 ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกฝ่ายต่างรอคอยมานาน ซึ่งต่อไปภาคอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงคงจะมีทิศทางที่ดีขึ้น มีอัตราการค้าที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายสุรนารถ จิตต์เอื้อเฟื้อแรงงานจังหวัดระนอง กล่าวว่า การตรวจสอบแรงงานประมงเป็นนโยบายต่อเนื่องในการขจัดปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศที่จับตามอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559