ขับเคลื่อนแผนควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัด เฝ้าระวังป้องกันผู้สูบรายใหม่

06 ก.ค. 2559 | 09:08 น.
คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติเห็นชอบการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติไปสู่ระดับจังหวัด พัฒนาระบบข้อมูล เฝ้าระวัง ป้องกันผู้สูบรายใหม่ สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ พัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่ในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับครบวงจร เร่งดำเนินการให้มียาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิผลดีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติฉบับที่สอง พ.ศ.2559-2562 ทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับภูมิภาค โดยกำหนดให้มี 4 แนวทางในการดำเนินงาน ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเข้มเข็ง กำหนดเป้าหมายและแผนงานของพื้นที่  มีการพัฒนาโครงสร้างและกลไกควบคุมยาสูบ พัฒนาศักยภาพบุคลากร และระบบข้อมูล  เฝ้าระวัง และติดตามประเมินผล 2.การป้องกันผู้สูบรายใหม่โดยการสร้างความรู้ ความตระหนักถึงการไม่สูบบุหรี่ในสถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะ จัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ พัฒนาแกนนำ และเครือข่ายป้องกันเยาวชนในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมยาสูบ

3.การช่วยเลิกยาสูบด้วยการพัฒนาระบบบริการและการส่งต่อจากสถานบริการสู่ชุมชน  การพัฒนาบุคลากรเครือข่ายเลิก  เช่น บุคลากรสาธารณสุข อสม. ครู ฯลฯ  และการพัฒนาระบบข้อมูลและการบันทึก และ4.การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการให้ความรู้  และการรณรงค์ทางสังคมให้เกิดการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมการไม่สูบบุหรี่

นอกจากนี้ยังเร่งผลักดันแนวทางและมาตรการเพื่อช่วยให้ผู้เสพเลิกยาสูบอย่างเป็นระบบ โดยตั้งเป้าในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งต้องลดอัตราการบริโภคให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 15 หรือจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน  9 ล้านคน โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ 1.สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่ให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ  มีการทำงานร่วมกันอย่างครบวงจร 2.ให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทุกแห่ง เปิดให้บริการช่วยเลิกบุหรี่เชิงรุก ทั้งในคลินิกช่วยเลิกบุหรี่ และในคลินิกโรคเรื้อรังทุกคลินิก ภายใต้นโยบายการป้องกันโรคไม่ติดต่อ 3.จัดให้มีการค้นหาผู้สูบและการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ในชุมชน 4.ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักบริหารกลาง และสสส. มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  และ 5.การเร่งรัดดำเนินการให้มียาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิผลดีอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้สามารถช่วยผู้เสพติดบุหรี่ที่จำเป็นต้องใช้ยาสามารถเข้าสู่บริการช่วยเหลือได้