ร้องรมว.แรงงานแก้ปัญหาบอลยูโร2016จบแต่หนี้พนันไม่จบ

06 ก.ค. 2559 | 06:56 น.
ร้องรมว.แรงงาน แก้ปัญหาพนันบอลลามในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เหตุบอลจบหนี้พนันไม่จบ หลังผลสำรวจพบนิยมเล่นสูง สูญเงินนับหมื่น กระทบเวลางาน ครอบครัวมีปัญหา คุณภาพชีวิตย่ำแย่

วันนี้ (6  ก.ค.2559) ที่กระทรวงแรงงาน  นายธนากร  คมกฤส  ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน นำภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกศิริชัย  ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  ผ่านทางนายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อนำเสนอผลสำรวจการพนันฟุตบอลยูโร 2016 ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน พร้อมเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนัน ตลอดจนอบายมุขอื่นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

นายธนากร กล่าวว่า เครือข่ายฯมีความกังวลว่า เมื่อเทศกาลฟุตบอลยูโร2016ผ่านพ้นไป สิ่งที่ตามมาคือหนี้พนันบอล เพราะบอลจบหนี้ไม่จบ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นการเล่นพนันและความสนใจเล่นพนันฟุตบอลยูโร 2016 ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน1,050 ราย ระหว่างวันที่1-10เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้แรงงานประมาณ 30%เท่านั้นที่ตอบว่าไม่คิดจะเล่นพนันบอลยูโร ส่วนที่เหลือคิดจะเล่นหรือยังไม่แน่ใจ เมื่อถามถึงประสบการณ์การเล่นพนันบอล พบว่า เกินกว่าครึ่งเคยเล่นพนันทายผลฟุตบอล โดยเป็นกลุ่มแรงงานในระบบ45.3% และเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ผู้ขับแท็กชี่ หรือรับจ้างอิสระ54.7%ในจำนวนนี้ 61% นิยมแทงแบบบอลคู่มากกว่าบอลชุด โดยเล่นกับเพื่อนร่วมงาน เล่นผ่านคนเดินโพย เล่นกับโต๊ะบอล และเล่นกับคนในละแวกที่พักอาศัย จำนวนเงินที่เล่นตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท และมีบางรายที่เล่นหลักหมื่นบาท ทั้งนี้นิยมเล่นในเทศกาลใหญ่หรือคู่ใหญ่ และเลือกเล่นเฉพาะทีมที่ตนเชียร์ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่เล่นพนันฟุตบอลเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า จำนวนไม่น้อยเคยเสียเงินจำนวนมากกับการเล่นพนัน คิดเป็น38.7%ของแรงงานในระบบ และ 57.4% ของแรงงานนอกระบบ  รวมถึงเคยเล่นพนันจนเสียเวลางาน และกระทบต่อชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ยังเล่นพนันเพื่อต้องการหาเงินมาใช้หนี้ เล่นพนันเพื่อต้องการเอาเงินที่เสียคืนมา และเล่นไม่ยอมเลิกเพื่อหวังจะได้เงินมากๆ ซึ่งล้วนเป็นเหตุให้ถลำลึกยิ่งขึ้น ที่น่าสังเกตคือ มีผู้ใช้แรงงานเพียง7-9%ที่เคยถูกลงโทษจากการเล่นพนัน ทั้งการลงโทษทางกฎหมาย หรือดำเนินการของนายจ้าง และการถูกลงโทษทางสังคม เช่น การถูกตำหนิติเตียน เหตุผลหลักที่ผู้ใช้แรงงานเล่นพนัน คือ อยากได้เงิน ต้องการเสี่ยงโชค และเล่นเพื่อความสนุกตื่นเต้นเพลิดเพลิน โดยมีสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันที่เล่นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือหวยใต้ดิน ไพ่ และพนันทายผลฟุตบอล  ตามลำดับ และเกือบทั้งหมดมีคนรู้จักที่อยู่ใกล้ชิดเล่นการพนัน เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง คนรัก และคนในชุมชน”

นายธนากร กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว เครือข่ายฯมีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์การเล่นพนันที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จึงมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน ดังนี้1.ขอให้ส่งเสริมสนับสนุนการรณรงค์สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเล่นพนันของผู้ใช้แรงงานว่าการพนันไม่ใช่ช่องทางการได้เงิน แต่กลับเป็นโอกาสให้เสียเงินมากกว่า ตลอดจนผลกระทบความสูญเสียที่จะได้รับ2.ขอให้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจสถานการณ์และบรรจุเรื่องการพนันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานที่สำคัญอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรงงานสีขาวที่ระบุเรื่องยาเสพติดไว้ชัดเจน และ 3.มอบหมายให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้นแก่ผู้ใช้แรงงาน ให้เข้าใจถึงโอกาสในการชนะการพนัน  การรู้เท่าทันการพนัน การเฝ้าระวังการพนัน การให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ติดการพนัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานลดผลกระทบจากการพนัน ทั้งนี้เครือข่ายรณรงค์หยุดพนันยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมปลอดจากผลกระทบอันเนื่องมาจากการพนัน

ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ทุกข์ของแรงงานไทย 60%เป็นเพราะเล่นการพนัน ทั้งพนันบอล ไฮโล ไพ่ หวย ส่งผลให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ หนี้สินมากมาย เครียดนำมาสู่การดื่มสุรา หลายรายเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะที่ผู้ประกอบการมุ่งแต่จะเอาผลผลิตโดยไม่ได้ใส่ใจคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของแรงงาน ยิ่งแรงงานนอกระบบยิ่งน่าห่วง ซึ่งคาดว่าเทศกาลบอลยูโรจบลง การติดตามทวงหนี้พนัน หรือปัญหาลักวิ่งชิงปล้นจะมีให้เห็นอย่างแน่นอน ดังนั้น เจ้ากระทรวงต้องชูมาตรการลดอบายมุขบัญญัติไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน สั่งการให้ทุกฝ่าย และสถานประกอบการเคร่งครัดทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง รณรงค์สร้างความเข้าใจเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเพราะในวันข้างหน้าแม้ค่าแรงจะสูงเพียงใด  แต่หากวิถีของแรงงานเองยังวนเวียนกับการพนัน อบายมุข คุณภาพชีวิตแรงงานก็จะตกต่ำและไม่มีทางพอ  สุดท้ายปัญหาก็จะตามมาอีกไม่จบไม่สิ้น