ยื่นขอส่งเสริมลงทุนบีโอไอครึ่งปีพุ่ง ปตท.สร้างท่อก๊าซเส้น 5 กว่าแสนล้าน

10 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
บีโอไอปลื้ม ยอดขอรับส่งเสริมลงทุน 6 เดือนแรกพุ่ง 3.3 แสนล้านบาทได้อานิสงส์โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ของปตท.เข้ามายื่นขอลงทุน 1.1แสนล้านบาท ขณะที่ทั้งปีประเมินแตะที่5 แสนล้านบาท จากปัจจัยกฎหมายบีโอไอที่ปรับใหม่ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็น 13 ปี รวมถึงมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาช่วยอีก1 หมื่นล้านบาท และกระแสตอบรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่รัฐบาลและบีโอไอได้จัดทำแผนเชิญชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มียอดยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกแล้วกว่า 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 4.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีโครงการใหญ่ด้านสาธารณูปโภค อย่างโครงการก่อสร้างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จากอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ไปสิ้นสุดที่สถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติที่ 6 ในท้องที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 328 กิโลเมตร ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามา 1 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วง 5 เดือนแรกที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมมีมูลค่าเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท

โดยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไป คาดว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจะเข้ามาต่อเนื่อง และคงจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนยังคงมองประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ประกอบกับทางรัฐบาลได้มีการประชาสัมพันธ์ที่จะเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมา เพื่อต่อยอดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายของบีโอไอ ที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเดิมให้ 8 ปี เพิ่มเป็น 13 ปี ซึ่งรวมถึงมีเงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา จะมาสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนได้อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น จึงทำให้มั่นใจว่ายอดขอรับส่งเสริมทั้งปีน่าจะเกิดกว่าเป้าหมายหรือไปแตะที่ระดับ 5 แสนล้านบาทได้

"การไปโรดโชว์ 3 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการเข้าไปเจรจาเป็นรายบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่าทางญี่ปุ่นได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว 4 บริษัท เช่น ยา เครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทางเกาหลีใต้ 1 บริษัท ประเภทซอฟต์แวร์ ขณะที่จีน มีแนวโน้มที่จะตอบรับเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟเบอร์ออพติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แล้ว ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีเข้ามายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า"

นางหิรัญญา กล่าวอีกว่า ส่วนการตอบรับด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านอุตสาหกรรมประเภทนี้จากเนเธอร์แลนด์ ได้เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมไบโอพลาสติกของไทยเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ เข้ามาแล้ว และทางบีโอไอได้อนุมัติไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่ที่ยังไม่ตัดสินใจลงทุนจริง เนื่องจากทางบริษัท เนเจอร์เวอร์ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย ขอชะลอการลงทุนออกไปก่อนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังตกต่ำ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะลงทุนจริงได้เมื่อใด

สำหรับการแก้ไขกฎหมายบีโอไอ ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนั้น คาดว่าจะได้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ ขณะที่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน น่าจะจัดตั้งได้เสร็จในเวลาใกล้ๆกัน ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว จะทำให้สิทธิประโยชน์ของไทยสามารถแข่งขันกับทางมาเลเซียได้ดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559