หนี้ครัวเรือน คลายกังวล แต่ครัวเรือนรายได้ต่ำยังน่าห่วง!

08 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/2559 อยู่ที่ระดับ 11.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 81.1% ต่อจีดีพี ลดลงจากสิ้นปี 2558ที่อยู่ระดับ 81.6 ต่อจีดีพี ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส หรือลดลงในรอบ 3 ปี

[caption id="attachment_68714" align="aligncenter" width="700"] ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพบริษัทจดทะเบียน ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพบริษัทจดทะเบียน[/caption]

หนี้ครัวเรือนโตชะลอสวนNPLโตเพิ่ม

การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัว โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส1/2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 3.86 หมื่นล้านบาทหรือเติบโตจากสิ้นปีที่แล้ว 0.35% และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ( Q1/2558 ) ขยาย 4.7 % ชะลอลงจากไตรมาส 4/2558 ที่ขยายตัว (YoY) 5.20% อย่างไรก็ดี ในรายงานนโยบายการเงินที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ธปท.ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

โดยรายได้ของครัวเรือนในภาคเกษตร ยังมีแนวโน้มลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและภาวะภัยแล้ง ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้รายได้ของครัวเรือนในภาพรวมชะลอลง ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวมากขึ้นในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลง สะท้อนจากอัตราการเพิ่มของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2559 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 2.58 % (เทียบไตรมาส 4/2558 ที่ 2.56%) โดยเฉพาะเป็นการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตที่ในไตรมาส 1/2559 ที่มีสัดส่วนเอ็นพีแอล 4.7% เพิ่มจากไตรมาส4/2558 ที่อยู่ระดับ 4.0% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนเอ็นพีแอล 2.6 % เพิ่มจากระดับ 2.44% ในไตรมาส 4/2558

ทั้งนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค คิดเป็นสัดส่วน 32% ของสินเชื่อรวม (11.63 ล้านล้านบาท ) ณ ไตรมาส 1/2559 ขยายตัว (YoY) 7.3 % เพิ่มจากสิ้นปี2558 ที่ขยายตัว 7.1 % ซึ่งมาจากสินเชื่อรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองที่ 1.7 %,สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่ม 9.6% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังทรงตัว ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 5.4% ชะลอต่อเนื่องจากสิ้นปีก่อนที่ขยาย 6.4 %

ครัวเรือนรายได้ต่ำเสี่ยงเบี้ยวหนี้

ข้อมูลธปท.อ้างอิงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุอีกว่าครัวเรือนในกลุ่มภาคเกษตร มีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอาชีพอื่นๆ สะท้อนจากสัดส่วนภาระในการชำระหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ( Debt Service Ratio : DSR )ที่อยู่ระดับสูง และเมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ทางการเงิน ( Debt to Financial Asset Ratio ) ที่สะท้อนระดับหนี้สินควบคู่กับสภาพคล่องของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ) เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหนี้อยู่ในระดับสูง ขณะที่มีสภาพคล่องต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ

อนึ่ง ณ สิ้นปี 2558 ครัวเรือนในภาพรวมมีภาระหนี้จ่ายต่อรายได้ ( DSR ) อยู่ในระดับ 28.4 % แต่หากแยกเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่าภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนกลุ่มนี้อยู่ระดับ 36.7 % ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรวัด ความเปราะบางในการชำระคืนหนี้ที่ระดับ 40 % ในขณะที่กลุ่มรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ภาระหนี้จ่ายต่อรายได้ อยู่ระดับ 25.8%

เชื่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนแค่60%หาก...

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เรื่องนี้ว่าภาพรวมหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับลดลงในรอบ 13 ไตรมาส ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมเชิงเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทย รักษาวินัยทางการเงินมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่กังวลว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังสูงเกินระดับ 80 % ตนกลับไม่ห่วง เพราะหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงถึง 81.1% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งเป็นการกู้เพื่อมาทำธุรกิจ และมีไม่น้อยที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งจริงๆแล้วหากทำธุรกิจก็ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และกู้ในนามนิติบุคคล ปัญหาคอขวดตรงนี้จะหายไป และแน่นอนว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงทันที 20% มาอยู่ระดับเพียง 61-65%

"มีไทยประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่ผู้ทำธุรกิจจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ดีผมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สศค.เก็บข้อมูลดูว่า การที่หนี้ครัวเรือนปรับลดลงเป็นการลดตามฤดูกาลหรือไม่ หรือในเซ็กเตอร์ไหนอย่างไร เพื่อที่จะสะท้อนทิศทางของหนี้ครัวเรือนในอนาคต แต่เบื้องต้นการที่หนี้ครัวเรือนลดลงก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีวินัยทางการเงินดีขึ้นและอาจส่งผลให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนมีโอกาสจะปรับลงได้อีก"

ดอกเบี้ยต่ำ/มาตรการรัฐหนุน

ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในระยะต่อไป ขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงผลผลิตการเกษตรหลังฝนกลับมาตกตามฤดูกาล ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ และการบริโภคของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2559 น่าจะอยู่ระดับ 81.5-82.5 % โดยทิศทางครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะขยับขึ้นเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยหนุนบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายการชำระคืนหนี้ของครัวเรือน อาจยังไม่ได้รับแรงกดดันมากนัก จากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวในระดับต่ำตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี

นอกจากนี้หากโครงการของรัฐ อาทิโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แผนจัดตั้งพิโคไฟแนนซ์ สามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะส่งผลดีต่อครัวเรือนไทย ทั้งในมิติการเข้าถึงสินเชื่อและการลดภาระหนี้จ่าย จากโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559