‘การเมือง-เศรษฐกิจโลก’เสี่ยง จับตาครึ่งปีหลังผลโหวตรัฐธรรมนูญส.ค.นี้–เลือกตั้งสหรัฐฯ

08 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ตลาดจับตาการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผลโหวตรัฐธรรมนูญเดือนสิงหาคม-การเจรจาอียูและอังกฤษ ชี้หากโมเดลไม่ลงตัวเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกผันผวนต่อ หลัง2 เดือนแรก “เม.ย.-พ.ค.” สัญญาณบวก “บริโภคและผลิตดีขึ้น”/“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เชื่อทั้งปีศก.ไทยยังโต 3-3.5% ฝ่ายวิจัยแบงก์กรุงไทย มองจีดีพีไตรมาส 2 โตใกล้เคียง 3.1-3.2%

[caption id="attachment_68718" align="aligncenter" width="700"] ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง[/caption]

ท่ามกลางภาวะสุญญากาศทางการเมืองอังกฤษและสหภาพยุโรป(อียู) หลังผลBrexit คะแนนประชามติให้อังกฤษถอนตัวเป็นอิสระจากอียู แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาร่วม 2 ปี ดังนั้นระหว่างนี้หลายฝ่ายจึงจับตาถึงผลพวงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังล่าสุดธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์ )ปรับเพิ่มอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็น 2.5% จากประมาณการเมื่อต้นปี ที่ 2.0% ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จ่อทบทวนจีดีพีในเดือนนี้ จากปัจจุบันที่คาดไว้ 3.3%

ต่อประเด็นดังกล่าว ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วงครึ่งหลังยังมีปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมนี้เป็นความเสี่ยงที่สร้างความกังวลว่าการประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ส่วนผลกระทบ Brexit ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ประเทศ( อังกฤษกับอียู)ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันตลาดก็จับตาทิศทางการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ว่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงใด เพราะการเมืองในสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะสร้างความผันผวนตลาดอีกครั้ง รวมทั้งรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ว่าจะออกมาพลิกฟื้นให้ขยายตัวในกรอบ 3-3.5% หรือไม่

ทั้งนี้ธปท.รายงานดัชนีเศรษฐกิจหลายตัว ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปีนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากภาคการบริโภคเดือนเมษายนขยายตัว 4.2% เดือนพฤษภาคมขยายตัว 5.3% ซึ่งดีกว่าไตรมาสแรกที่การบริโภคขยาย 2.1% โดยรวมสะท้อนกำลังซื้อในประเทศขยายตัวดีขึ้นขณะเดียวกัน ภาคการผลิตเดือนเมษายนขยายตัว 0.9% พฤษภาคมขยายตัว 2.6% โดยภาคการผลิตจะเป็นเซ็กเมนต์ที่สำคัญ หลังจากไตรมาส1/2559 ติดลบ 9% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แม้ว่าภาคการส่งออกของไทยยังแผ่วลงต่อเนื่องรวมถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวน้อยลง

"ช่วงครึ่งหลังจากปีนี้ทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด เริ่มจากการประชามติรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเดือนหน้าว่าผลจะออกมาผ่านหรือไม่ผ่าน อย่างไรก็ดีถัดไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเฟดจะทบทวนทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการเลือกตั้งในสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ส่วนจีนนั้นแม้เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ไม่น่าจะกระทบไทยมากนัก และยังคงยืนยันกรอบจีดีพีที่ 3-3.5%" เขากล่าวและว่า

ทั้งนี้ ช่วงที่เหลือเศรษฐกิจจะมีแรงบวกต่อสู้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและชะลอตัว โดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐที่จะทยอยออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม แต่หัวใจของประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักความสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฐานราก

สอดคล้องกับนายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ธนาคารให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งใกล้ช่วงประชามติอาจจะมีกลุ่มเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวรบกวนการทำงานของรัฐบาลซึ่งลดทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาล แต่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้เชื่อว่าการออกมาเคลื่อนไหวไม่น่าจะขยายวงจนส่งผลกระทบต่อจีดีพีภายในประเทศ โดยคาดว่าไตรมาส 2 ปีนี้จีดีพีจะออกมาใกล้เคียง 3.1-3.2% ใกล้เคียงไตรมาสแรกที่ผ่านมา และทั้งปีจีดีพียังคงกรอบ 3.2%
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่ากระบวนการทำงานของโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี)ที่ทำงานมากขึ้น จะเป็นความหวังผลักดันเม็ดเงินการลงทุนให้เห็นภาพชัดขึ้น และจะเร่งตัวในปีหน้าชัดกว่าปีนี้ แต่ปีหน้าคาดการณ์จีดีพีอาจไม่ถึง 4%จากที่ประเมินไว้คงอยู่ในกรอบ 3.35% ( 3.3-3.5%)

สำหรับผล Brexit แนวโน้มเป็นภาพลบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา 2 ปี หากโมเดลเจรจา ระหว่างอียูและอังกฤษไม่ลงตัวอาจยืดเยื้อจากความไม่แน่นอน อาจกระทบตลาดโดยรวม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงิน ตลาดทุนให้ผันผวนต่อเนื่องและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราไม่มาก

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ผลกระทบจากBrexit นั้น น่าจะเป็นการกระทบอยู่ภายใน 2 ประเทศ ( อังกฤษและอียู) และกระทบเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางมากขึ้นและทำให้การฟื้นตัวช้า โดยธนาคารยังคงประมาณการเติบโตจีดีพีของไทยทั้งปีนี้ที่ 3.2% เพราะสินค้าของไทยที่ส่งออกกระจายตัวโดยไม่กระจุก เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ชาวอังกฤษนิยมท่องเที่ยวแบบกระจายพื้นที่โดยไม่กระจุกตัวเช่นนักท่องเที่ยวรัสเซีย หรือ จีน

ทั้งนี้ ธนาคารจับตาปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนโครงการลงทุนจากภาครัฐในครึ่งปีหลัง เพราะหากภาครัฐสามารถผลักดันโครงการลงทุนออกมาตามแผนจะผูกโยงให้ภาคเอกชนที่รอความชัดเจนอยู่สามารถเดินหน้าหรือตัดสินใจลงทุนตามการผลักดันของมาจาการลงทุนของรัฐ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก เห็นสัญญาณว่าหลายแห่งยังไม่เร่งหยุดผ่อนคลาย

ดร.จิติพล พฤกษาเมธารัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีกล่าวว่าทางศูนย์วิเคราะห์กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ในเร็วๆนี้ จากที่คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 2.8% โดยรวมผลยังมองเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาสเล็กน้อย หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรปภายหลัง Brexit ขณะเดียวกันทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนนั้น แนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลลบจาก Brexit มากนักและเฟดยังสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ ขณะที่ที่ช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งและอาจอ่อนตัวกลับลงบ้าง

สำหรับสกุลเงินยูโร ในช่วงสั้นค่าเงินยูโรจะมีความเสี่ยงจากการเมืองหลัง Brexit ที่จะส่งผลให้การลงทุนในยุโรปชะลอตัว แต่คาดว่าปัญหาจะเริ่มคลี่คลายและค่าเงินยูโรจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นในปลายปีได้ ส่วนค่าเงินเยน ในระยะสั้นอาจอ่อนค่ากลับบ้าง ถ้าธนาคารกลางญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาผ่อนคลายทางการเงินเพิ่ม อาทิการลดดอกเบี้ย /การเพิ่มปริมาณเงินในระบบหรือ QE แต่ในระยะยาว ค่าเงินเยนยังอาจทรงตัวในระดับสูงได้เนื่องจากยังเป็นสกุลเงินปลอดภัยได้เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559