สรุปมติครม.5กรกฎาคม2559

05 ก.ค. 2559 | 10:49 น.
-ไฟเขียว 4 มาตรการช่วยชาวสวนผลไม้

ที่ประชุม ครม.(5ก.ค.) อนุมัติการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้งปี 2559 แบ่งเป็น พื้นที่เสียหายสิ้นเชิง และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทำให้ต้นเหี่ยวเฉาหรือผลผลิตลดลง โดยเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้จ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 2,285.700 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ ธ.ก.ส. และเห็นชอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 38 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการฯ รวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เดิมของเกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี งบประมาณ 1,140 ล้านบาท
2.มาตรการการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรองและการบริหารจัดการน้ำ รายละไม่เกิน 130,000 บาท โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก โดยให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 ปี งบประมาณ 34.20 ล้านบาท
3.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกทดแทนไม้ผลชนิดเดิม หรือปรับเปลี่ยนเป็นไม้ผลชนิดอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อัตราไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดย ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปีระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแรก งบประมาณ 1,111.50 ล้านบาท
และ 4.มาตรการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตไม้ผลคุณภาพดี การบริหารจัดการการผลิต และการตลาด ตลอดจนถึงระบบลอจิสติกส์ให้ดำเนินการกับเกษตรกรเต็มจำนวนเป้าหมายทั้งหมด 95,000 ราย ทั้งประเภทเสียหายสิ้นเชิงและประเภทได้รับผลกระทบ งบประมาณ 38 ล้านบาท

-ช่วยสินเชื่อกลุ่ม Start-up & Innovation กว่าหมื่นล.
ที่ประชุม ครม.(5 ก.ค.) เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Start-up & Innovation) ที่มีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เพิ่มขึ้น วงเงินค้ำประกันโครงการ 10,000 ล้านบาทไม่เกิน 10 ปี แบ่งเป็น กรณีเอสเอ็มอี ประเภทบุคคลธรรมดา (รวมทุกสถาบันการเงิน) ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ประเภทนิติบุคคลธรรมดา (รวมทุกสถาบันการเงิน) โดยในส่วนของผู้ประกอบการใหม่ (Start-up) ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ประกอบการนวัตกรรม เ ทคโนโลยี (Innovation) ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย โดยค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรกรัฐบาลเป็นผู้รับภาระแทนผู้ประกอบการร้อยละ 1-2 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันโครงการ โดยธนาคารเป็นผู้พิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้า ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561
สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ อาทิ มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท มีสัญชาติไทย ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับผู้ให้กู้ ส่วนผู้ประกอบการนวัตกรรม เทคโนโลยี นั้น ต้องมีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี ผ่านการฝึกอบรมหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานอื่นๆที่ บสย.เห็นชอบ เป็นต้น โดยบสย.ขอรับเงินสมทบการจ่ายค่าประกันชดเชย และค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีแรกจากรัฐบาล จำนวน 1,700 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสมทบที่ขอรับการเบิกจ่ายจากรัฐบาลอัตราร้อยละ 15 ของวงเงินนอนุมัติค้ำประกัน จำนวน 1,500 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการในปีแรกจำนวน 200 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่า ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 5,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และปีต่อๆไปตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้บรรษัทหลักประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในรายละเอียดต่อไป

-ผ่านร่างก.ม.โรงงาน
ที่ประชุม ครม. (5 ก.ค.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับข้อสังเกตของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามกำหนดให้โรงงานมีการจัดทำการประกันภัย หลักประกันหรือกองทุนสำหรับเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก กำหนดให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนซึ่งสามารถตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรได้ กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานขนาดใหญ่ กำหนดให้การเริ่มประกอบกิจการของโรงงานต้องขออนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์การขยายโรงงาน กำหนดอายุใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรอง วิธีการออกใบแทนใบอนุญาตตรวจสอบและหรือรับรอง กำหนดการสิ้นอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กำหนดวิธีการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กำหนดระยะเวลาในการต่ออายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กำหนดหลักเกณฑ์การรับโอน กำหนดบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ และเพิ่มบทลงโทษ

-ปรับลดเงินลงทุนโครงการพัฒนาที่อยู่ฯ
ที่ประชุม ครม.(5 ก.ค.) เห็นชอบการปรับลดกรอบวงเงินลงทุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2557 จาก 9,577.752 ล้านบาท เป็น 8,579.907 ล้านบาท และปรับลดเป้าหมายหน่วยก่อสร้างจาก 16,146 หน่วย เป็น 15,676 หน่วย และเห็นชอบให้ กคช.ชะลอการดำเนินโครงการจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน หารายได้จังหวัดภูเก็ต 2 และโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน หารายได้จังหวัดเชียงใหม่ (ดอยสะเก็ด) และอนุมัติให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาการปรับโอนวงเงินลงทุนเหลือจ่ายระหว่างโครงการย่อยภายใต้กรอบการลงทุนโครงการดังกล่าว พร้อมรายงานการปรับโอนเงินเหลือจ่ายและผลกระทบให้กระทรวงต้นสังกัด กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินโครงการต่อไป

“พสุ” นั่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตฯ
ที่ประชุม ครม.(5 ก.ค.) อนุมัติแต่งตั้ง นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

โยก “มงคล” นั่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตฯ
ที่ประชุม ครม.(5 ก.ค.) อนุมัติแต่งตั้งนายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้ตรวจราชการ สำนักปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง