ธุรกิจอีเวนต์เร่งเกมสู้ศึก เดินหน้าขยายฐาน-บริการครบวงจรบุกตลาดต่างประเทศ

07 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ฮึดสู้! ชิงตลาดอีเวนต์ "อินเด็กซ์" รุกยึดบริการมิวเซียม & เอ็กซิบิชั่น โมเดลสร้างแบรนด์รูปแบบใหม่ หลังกระแสตอบรับดี ลูกค้ายาวถึงปีหน้า พร้อมขยายฐานต่างประเทศ ด้าน"ไอ-ไนน์" ดิ้นหนีตลาดซบ หันปักธง CLMV ไตรมาส 4 เผยซุ่มเจรจากลุ่มทุนลาว ขณะที่ "CMO" กวาดงานบิ๊กทั้งไทยไฟลท์ ,คอนเสิร์ตบีอีซี เทโร ก่อนเพิ่มช่องสร้างเม็ดเงินจากสวนสนุกและเอนเตอร์เทนเมนต์

[caption id="attachment_67954" align="aligncenter" width="700"] เปิดแผน 3 บิ๊กธุรกิจอีเว้นต์ เปิดแผน 3 บิ๊กธุรกิจอีเว้นต์[/caption]

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในครึ่งปีหลังธุรกิจอีเวนต์ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยพบว่า กลุ่มครีเอทีฟโซลูชัน เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตสูง โดยเฉพาะธุรกิจมิวเซียมแอนด์เอ็กซิบิชัน(Museum & Exhibition) ซึ่งสามารถสร้างแบรนด์ได้เข้าถึงผู้บริโภค เช่น การสร้างเอ็กซิบิชั่นถาวร ให้กับแบรนด์อเมซอน เป็นต้น โดยพบว่าขณะนี้การสร้างมิวเซียมและเอ็กซิบิชัน ถือเป็นการตลาดแนวใหม่ที่แบรนด์เอกชนให้ความสำคัญ เห็นได้จากปัจจุบันที่บริษัทรับงานยาวตลอดทั้งปีนี้จนถึงปีหน้า

ขณะที่ในครึ่งปีหลังบริษัทยังเน้นการบริหารงานใน4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ครีเอทีฟ โซลูชัน งานบริการด้านการตลาดภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ 2. มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส งานบริการส่งเสริมด้านการตลาด 3. ไลฟ์สไตล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ กลุ่มธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ใหม่ และตอบสนองไลฟสไตล์ของผู้บริโภคทั้งในด้านบันเทิง และในชีวิตประจำวัน และ 4. อาเซียน วิงส์ (ASEAN Wings) งานด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน กับการขยายธุรกิจออกสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน

" มิวเซียม แอนด์ เอ็กซิบิชันกลายเป็นการตลาดรูปแบบใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมเพราะดึงดูดผู้ชม และสร้างแบรนดิ้งให้กับสินค้าได้ โดยปัจจุบันอินเด็กซ์เองมีลูกค้าที่ใช้บริการด้านนี้จำนวน 5 แบรนด์ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"

ด้านตลาดต่างประเทศซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตกว่า 100% ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังคงรุกตลาดต่อเนื่องทั้งเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ล่าสุดได้ขยายฐานจากเมียนมาสู่กัมพูชา ด้วยการจัดงาน ‘แคมโบเดีย อาคิเทค แอนด์ เดคคอว์ 2016’ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม และบริการด้านการก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ออกแบบ ตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ สร้างโอกาสการเติบโต และขยายธุรกิจให้ผู้ประกอบการนักลงทุนทั้งไทยและเทศ อย่างไรก็ดีในปีนี้บริษัทยังเชื่อมั่นว่าจะมีรายได้รวม 1,800 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี

ด้านนางสาวนพัฐห์ ปูคะวนัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-ไนน์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมุ่งหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มทั้งในและต่างและต่างประเทศ โดยในไตรมาส 4 นี้บริษัทจะขยายธุรกิจเข้าไปให้บริการรับจัดอีเวนต์ในกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) โดยเริ่มต้นที่สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับบริษัทผู้ให้บริการอีเวนต์รายใหญ่ ทั้งนี้มองว่าสปป.ลาว เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับบน ประกอบกับมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้าไปเปิดตัวจำนวนมากส่งผลให้ตลาดอีเวนต์เป็นที่ต้องการของแบรนด์สินค้า

ขณะที่ตลาดอีเวนต์ในประเทศไทยบริษัทยังคงเน้นการมุ่งหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดอีเวนต์ค่อนข้างซบเซา หากจะรอให้ลูกค้าวิ่งเข้ามาอย่างเดียวคงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องออกไปหาลูกค้ารายใหม่ พร้อมกับรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอยู่ประมาณ 30 รายให้ยังใช้บริการงานของบริษัทอยู่ โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 20%

"ในครึ่งปีแรกตลาดอีเวนต์ไทยค่อนข้างซบเซา มองว่ามาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจหนี้ภาคครัวเรือนที่ผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากขึ้นแต่รายรับเท่าเดิม และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่เข้ามากระทบคือการที่ลูกค้าหรือแบรนด์แบ่งงบการจัดอีเวนต์ไปสู่สื่อดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น ซึ่งงบที่ลูกค้าส่วนใหญ่ย้ายไปราว 20% เช่นจากเดิมลูกค้าเคยใช้งบประมาณ 100 บาททำอีเวนต์แต่ปัจจุบันลูกค้าได้ลดงบลงเหลือ 80 บาทและที่เหลืออีก 20 บาทนำไปทำสื่อดิจิตอล ดังนั้นการใช้เงินของลูกค้าที่เปลี่ยนไปส่งผลให้บริษัทต้องเปลี่ยนการทำงาน และมุ่งเน้นการทำธุรกิจดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มเพื่อรองรับกับลูกค้าดังกล่าวให้ยังคงใช้บริการกับบริษัทอยู่เช่นเดิม"

อย่างไรก็ตามหากบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจและเพิ่มฐานลูกค้าได้ตามเป้าที่วางไว้ น่าจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 30%

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO และนายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงานอีเวนต์ กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจ 3 ปีนับจากนี้ (พศ.2559 -2561) ประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.รักษาความเป็นผู้นำด้านธุรกิจอีเวนต์ เอเจนซี่ ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพของบุคลากร ให้มีไอเดียสร้างสรรค์ ใหม่ๆ ตลอดจนนำเทคนิคที่ทันสมัยมาใช้ในธุรกิจ ทั้งในแง่ของการเป็นผู้บริหารการจัดงาน และในกลุ่มของงานด้านบริการระบบภาพ แสงและเสียง อาทิ ซัพพลายด้านระบบภาพแสงและเสียงในการแข่งขันมวยไทยนานาชาติ THAI FIGHT,การแข่งขันเทเบิลเทนนิส ชิงชนะเลิศแห่งทวีปเอเชีย และคอนเสิร์ตในกลุ่มของ บีอีซี เทโร (BEC TERO) ทั้งศิลปินไทย และต่างประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทยังได้เตรียมขยายธุรกิจอีเวนต์นี้ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มเติมเนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวยังมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง

กลยุทธ์ที่ 2. ดำเนินงานพัฒนาธุรกิจที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว (Tourist Attraction) เพื่อสร้างรายได้ประจำให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านธุรกิจสวนสนุก "อิเมจิเนีย เพลย์แลนด์" (Imaginia Playland) ซึ่งเปิดให้บริการ ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และกำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์ต่างชาติที่จะซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดให้บริการในต่างประเทศ ขณะเดียวกันปลายปีนี้บริษัทได้เตรียมสร้างหิมพานต์ อวตาร ซึ่งเป็นการแสดงวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ผสานเทคโนโลยีทันสมัย ในรูปแบบ 4 มิติ ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จเชื่อว่าจะเป็นสถานที่เที่ยวอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับความนิยม

"บริษัทมองว่าปัจจุบันประเทศไทยยังขาดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะกรุงเทพที่ยังขาดพิพิธภัณฑ์ และแหล่งที่เที่ยวเกี่ยวกับศึกษา อีกทั้งยังรวมถึงสถานที่โรงละคร ละครเวทีอีกจำนวนมากดังนั้นกลุ่มธุรกิจนี้ยังมีช่องว่างการเติบโตได้เพิ่มอีก ขณะเดียวกันไม่เพียงแต่แค่ในกรุงเทพเท่านั้นแต่ยังมีจังหวัดต่างๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยวยังขาดสถานที่ดังกล่าวอีกจำนวนมาก ซึ่งหลังจากปีนี้ไปบริษัทวางแผนจะขยายกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง"

กลยุทธ์ที่ 3. เน้นงานธุรกิจด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ (Entertainment) และไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) มากขึ้น เพื่อสอดรับกับ แนวโน้มของเทรนด์การจัดอีเวนต์ที่เริ่มจะนำเอาเรื่องของ Lifestyle ไม่ว่าจะเป็นความสนใจในเรื่องของศิลปะ,แฟชั่น,ปาร์ตี้ เข้ามามีบทบาทในการนำเสนองานมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ มีหน่วยงานที่ทำงานในด้านนี้ อยู่แล้ว ได้แก่ มิวส์ คอร์ปอร์เรชั่น และ โมเมนตัม เอส โดยงานที่ได้รับความนิยมที่ผ่านมา เช่น งานสปอร์ต อีเวนต์ และ Electronic Dance Music (EDM)

สำหรับงบลงทุน 3 ปีต่อจากนี้บริษัทคาดการณ์ไว้อยู่ที่ราว 450 ล้านบาท โดยจะมาจากงบลงทุนปกติทุกปีเฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนงบประมาณการลงทุนราว 60% ของ 300 ล้านบาทบริษัทจะใช้จ่ายเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และที่เหลือ 40% อื่นๆ ทั้งนี้ภายใน 3 ปีจากงบลงทุนทั้งหมดจะส่งผลให้บริษัทสามารถขยายงานได้มากขึ้นรวมถึงมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ในสิ้นปีนี้บริษัทคาดการณ์ไว้ประมาณ 1,400 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559